หลายคนอาจคิดว่า ไขมันในเลือดสูง เกิดจากการรับประทานอาหารไขมันสูงเยอะๆ เช่น อาหารทอดต่างๆ แต่อันที่จริงแล้ว นอกจากอาหารมันๆ เยิ้มๆ ที่เราทราบกันดีแล้ว ยังมีอาหารอีกหลายประเภทที่ทำให้เราเสี่ยงมีไขมันในเลือดสูงได้เช่นกัน แม้ว่าอาหารเหล่านั้นจะไม่มันเลยก็ตาม
นพ.นันทพล พงศ์รัตนามาน อาจารย์ที่ปรึกษา แผนกศัลยศาสตร์หลอดเลือด ร.พ.พระมงกุฎเกล้า หรือ หมอท็อป ให้ข้อมูลว่า ทุกครั้งที่เราตรวจไขมันในเลือด เราจะได้ค่าไขมันมาทั้งหมด 4 ค่า นั่นคือ
- คอเลสเตอรอล
- HDL (ไขมันดี)
- LDL (ไขมันเลว)
- ไตรกลีเซอไรด์
คอเลสเตอรอล แบ่งย่อยออกมาเป็น HDL (ไขมันดี) และ LDL (ไขมันเลว) ไขมันดีจะทำหน้านี้จับเอาไขมันเลวออกไปจากร่างกาย แต่ถ้ามีไขมันเลวมากกว่า ไขมันเลวจะเข้าไปเกาะตามผนังหลอดเลือด จนเป็นสาเหตุของไขมันอุดตันเส้นเลือดได้ นอกจากนี้ ไตรกลีเซอไรด์ ก็เป็นสาเหตุของหลอดเลือดตีบตันตามมาได้เช่นกัน
ตามปกติแล้ว LDL และไตรกลีเซอไรด์ ควรมีไม่เกินอย่างละ 200 mg/dl และหากค่า LDL หาร HDL ได้น้อยกว่า 3 เท่าถือว่าปกติ ส่วนไตรกลีเซอไรด์ ให้มีค่าน้อยกว่า 2 เท่าของ HDL
อาหารไม่มัน ทำไมยังเสี่ยงไขมันในเลือดสูง
เพราะอาหารบางชนิดทำให้ค่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง แม้ว่าอาหารเหล่านั้นจะไม่มัน หรือมันน้อยมาก ซึ่งอาหารเหล่านั้น ได้แก่ กลุ่มอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล เป็นต้น
5 อาหารไม่มัน แต่ยังเสี่ยงไขมันในเลือดสูง
1. ข้าว และเส้นต่างๆ เช่น ข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว ราเมง อุด้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป บะหมี่ รวมไปถึงวุ้นเส้นด้วย หากรับประทานมากเกินไปก็ยังทำให้อ้วนได้ ใครที่ชอบอาหารประเภทเส้น แนะนำเส้นบุก จะดีกว่า หรือแม้กระทั่งคาร์บอนไฮเดรตเชิงซ้อนที่ดีต่อร่างกายอย่าง ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ หากรับประทานมากเกินความต้องการของร่างกาย ก็ยังเสี่ยงอ้วนได้เช่นกัน แนะนำ 1-1½ ทัพพีต่อมื้อ ก็เพียงพอ หากไม่อิ่ม สามารถรับประทานผัก และโปรตีนไขมันต่ำเพิ่มเติมได้
2. ขนมปัง และคุกกี้ บิสกิตต่างๆ เป็นคาร์โบไฮเดรต หากรับประทานมากๆ อาจทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูงมากขึ้น แม้กระทั่งขนมปังเพื่อสุขภาพ หากรับประทานมากเกินไปก็ยังอันตรายต่อร่างกายอยู่ดี
3. ผลไม้ที่มีรสหวาน เช่น ทุเรียน มะม่วง มังคุด ละมุด ลำไย เปลี่ยนมารับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง แต่น้ำตาลไม่สูงแทนจะดีกว่า เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล ชมพู่ เฉลี่ยรับประทานไม่เกิน ๅ กำมือต่อหนึ่งมื้อ รวมไปถึงน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงเช่นเดียวกัน ควรหลีกเลี่ยง หรือลดเหลือแค่ดื่มครั้งละไม่เกิน 200 cc. และไม่แนะนำให้ดื่มทุกวัน
4. เครื่องดื่มที่มีรสหวาน เช่น ชาไข่มุก น้ำอัดลม กาแฟรสหวาน กาแฟปั่น ฯลฯ ควรระมัดระวังปริมาณในการดื่ม
5. ขนมขบเคี้ยวต่างๆ โดยเฉพาะขนมหวานเคลือบน้ำตาล หรืออาจใช้ไฮฟลุกโตสคอร์นไซรัปในการปรุงแต่งรสหวาน อาจทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายแย่ลงได้
ไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุเริ่มต้นของโรคไม่ติดต่อร้ายแรงหลายโรค เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจขาดเลือด ไตวายเรื้อรัง และคนที่มีไขมันในเลือดสูงอาจไม่จำเป็นต้องเป็นคนอ้วนที่มองเห็นจากรูปร่างภายนอกได้เสมอไป คนผอมๆ ก็มีไขมันในเลือดสูงเกินไปได้ ดังนั้นจึงควรควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดปริมาณไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติให้เร็วที่สุด
ที่มา : Sanook