ได้ยินแล้วคงทำให้หญิงที่อยากมีลูกต้องปรับเปลี่ยนอาหารการกินกันไม่มากก็น้อย เมื่องานวิจัยใหม่เปิดเผยว่า ผู้หญิงที่กินผลไม้น้อย และกินอาหารฟาสต์ฟู้ดมาก มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์น้อยลง และมีแนวโน้มที่จะมีภาวะมีบุตรยาก
งานวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ในวารสารการแพทย์อย่าง Human Reproduction ซึ่งทำการวิเคราะห์อาหารการกินของผู้หญิง 5,598 คนในออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์
ทีมวิจัยดังกล่าวนำโดยศาสตราจารย์แคลร์ โรเบิร์ต จาก University Adelaide’s Robinson Research Institute ในออสเตรเลีย ซึ่งพบว่าผู้หญิงที่กินฟาสต์ฟู้ด 4 ครั้งขึ้นไป/สัปดาห์ ใช้เวลานานกว่าปกติเกือบเดือนถึงจะตั้งครรภ์
ทั้งนี้ ฟาสต์ฟู้ดที่กำหนดในการทดลองเป็นฟาสต์ฟู้ดที่มาจากร้านฟาสต์ฟู้ดเท่านั้น แต่ไม่รวมฟาสต์ฟู้ดที่มาจากแหล่งอื่นอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงยังขาดข้อมูลฟาสต์ฟู้ดบางส่วนไป
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่กินผลไม้ 3 ครั้งขึ้นไป/วัน มีแนวโน้มว่าจะมีโอกาสตั้งครรภ์เร็วกว่า ส่วนผู้หญิงที่กินผลไม้น้อยกว่า 1-3 ครั้ง/เดือน โอกาสในการตั้งครรภ์จะยาวนานออกไปอีกครึ่งเดือน
นักวิจัยระบุอีกว่า ผู้หญิงที่กินผลไม้น้อยที่สุด มีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะมีบุตรยากเพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 12% และผู้หญิงที่กินฟาสต์ฟู้ด 4 ครั้งขึ้นไป/สัปดาห์ จะเพิ่มความเสี่ยงจาก 8% เป็น 16%
“แนะนำว่าผู้หญิงที่อยากตั้งครรภ์ควรกินอาหารให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนตามที่มีคำแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งข้อมูลของเราแสดงให้เห็นว่าความถี่ของการกินอาหารฟาสต์ฟู้ดน้นส่งผลให้การตั้งครรภ์ล่าช้าออกไปอีก” เจสสิก้า เกรเจอร์ หนึ่งในทีมนักวิจัย ระบุ
ขณะที่การกินผักใบเขียวและปลาดูเหมือนจะไม่ส่งผลต่อระยะเวลาในการตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากงานวิจัยนี้รวบรวมย้อนหลังระหว่างการเข้าพบผู้ทดสอบก่อนคลอดท้องแรก รวมไปถึงไม่มีข้อมูลอาหารการกินของพ่อเด็กด้วย ซึ่งทั้งสองส่วนนี้เป็นปัจัยที่มีผลกระทบ ซึ่งทีมวิจัยวางแผนว่าศึกษารูปแบบความเชื่อมโยงของอาหารกับแนวคิดนี้ต่อไป