องค์การอนามัยโลก (ฮู) ระบุเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมาในการปรับปรุงบัญชีจำแนกโรคสากล หรือ ไอซีดี-11 ว่า การเล่นเกมอาจส่งผลให้เกิดอาการเสพติดได้ในลักษณะเดียวกับการเสพติด “โคเคน” หรือการเสพติด “การพนัน”
“หลังจากปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก และทบทวนหลักฐานอย่างละเอียดถี่ถ้วน เราตัดสินใจว่าอาการดังกล่าวควรที่จะเพิ่มเติมเข้าไป” เชคการ์ ซาเซนา ผู้อำนวยการฝ่ายโรคทางจิตและการใช้สารเสพติด ระบุ
รายงานระบุว่า “ความผิดปกติจากการเล่นเกม” ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ อาหารผิดปกติจากการใช้สารเสพติด หรือพฤติกรรมเสพติด ในไอซีดี-11 ซึ่งนับเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งแรกในรอบ 3 ปี
การกำหนดจำแนกโรคใหม่ดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันมาแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากฮูประกาศให้ปัญหาการติดเกมเป็นอาการทางพยาธิวิทยา โดยอาการหลักๆ รวมไปถึงปัญหา “การควบคุมบกพร่อง” เช่นการไม่สามารถหยุดเล่นได้ รวมไปถึงการสนใจแต่เกมโดยไม่สนสิ่งอื่นรอบตัวเช่นการนอน หรือการกิน โดยพฤติกรรมดังกล่าวต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี จึงจะได้รับการพิจารณาว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ซาเซนา ระบุว่า มีคนจำนวน 2,500 ล้านคน หรือนับเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลกที่เล่นเกมจากหน้าจอ โดยเฉพาะจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตาม อาการผิดปกติดังกล่าวมีผลกระทบกับคนส่วนน้อยเท่านั้น
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเกมส์น้้นมีมูลค่าสูงถึง 108,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2017 มากกว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์บ็อกซ์ออฟฟิส โดยเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์เป็นยอดขายที่อยู่ในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะจีน และเกาหลีใต้ โดยตลาดสำคัญอื่นๆ รวมไปถึง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และบราซิล
ที่มา มติชนออนไลน์