บางคนชอบกินกล้วยที่กำลังห่ามๆ เปลือกเหลืองๆ เขียว แต่บางคนชอบกินกล้วยสุกงอมมากๆ จนเปลือกเป็นสีน้ำตาล นอกจากรสชาติและเนื้อสัมผัสแล้ว กล้วย 2 แบบนี้ต่างกันจริงหรือ ก็คงต้องบอกว่าใช่ ที่กล้วยทั้ง 2 แบบมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพแตกต่างกัน
โดยการเปิดเผยคุณประโยชน์ของกล้วยที่แตกต่างกันนี้เริ่มจากภาพหนึ่งบนอินสตาแกรมที่แชร์มาโดย @fitness_meals ซึ่งเป็นรูปกล้วย 15 ลูกที่มีความสุกไม่เท่ากัน พร้อมตั้งคำถามว่ากล้วยลูกไหนที่เหมาะแก่การกินมากที่สุด โดยมีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นถกเถียงกันเป็นจำนวนมาก
https://www.instagram.com/p/Bkp_a_2H9eS/?taken-by=fitness_meals
สำนักข่าวเดลี่ เมล์ จึงได้สอบถามไปยังนักโภชนาการในสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับประเด็นนี้ เพื่อหาคำตอบว่ากล้วยสุกแค่ไหนถึงจะดีที่สุด
ทั้งนี้ กล้วยนั้นเป็นแหล่งโพแทสเซียมและสารอาหารอื่นๆ ชั้นดี แต่ก็มีประโยชน์ที่แตกต่างกันหากเรากินกล้วยที่สุกไม่เท่ากัน โดยขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละคนด้วย ซึ่งความแตกต่างนั้น มีดังนี้
กล้วยห่ามมีน้ำตาลน้อยกว่า
หากคุณเป็นโรคเบาหวาน คุณควรเลือกกินกล้วยห่ามๆ มากกว่ากล้วยที่สุกเกินไป เพราะในกล้วยสุกนั้น แป้งจะเริ่มเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาล
นักวิจัยระบุว่า กล้วยห้ามนั้นมีปริมาณแป้งประมาณ 80-90% ของปริมาณคาร์โบไฮเดรตทั้งหมด ซึ่งหากกล้วยสุกก็จะเปลี่ยนแป้งนี้ไปเป็นน้ำตาลอิสระ จึงแนะนำว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานควรกินกล้วยที่ไม่สุกเกินไป เพื่อจะได้ไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดนั่นเอง
กล้วยสุกนั้นย่อยง่ายกว่า
สำหรับคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหารนั้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่ากินกล้วยสุกจะดีกว่า ทั้งนี้ กล้วยที่ห่ามมากกว่าจะมีแป้งทนการย่อย หรือ “resistant starch” มากกว่ากล้วยสุก ซึ่งเป็นแป้งที่มนุษย์ย่อยไม่ได้ด้วยเอนไซม์ แต่ถูกย่อยได้ด้วยจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ และเมื่อแป้งชนิดนี้เปลี่ยนเป็นน้ำตาลอิสระ กล้วยสุก ก็จะทำให้ง่ายต่อการย่อยนั่นเอง
กล้วยสุกงอมจนเปลือกเป็นสีน้ำตาล เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Spoon ระบุว่า เมื่อกล้วยสุกจนเปลือกกลายเป็นสีน้ำตาลหรือเกือบน้ำตาลทั้งหมด โดยทั่วไปคือแป้งทั้งหมดจะถูกย่อยเป็นน้ำตาลแล้ว ซึ่งทำให้กล้วยประเภทนี้หวานกว่า โดยนอกจากแป้งแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนด้วยก็คือคลอโรฟิลล์ ที่จะกลายสภาพเป็นรูปแบบใหม่ และทำให้ระดับสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ดังนั้น กล้วยที่สุกจนเปลือกน้ำตาลหรือเปลือกดำทั้งหมดนั้นจะเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระนั่นเอง
สุดท้ายแล้วนักโภชนาการไม่ได้บอกว่ากินกล้วยสุกขนาดไหนถึงจะดีที่สุด แต่อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของแป้และน้ำตาลในกล้วย ซึ่งการสุกแต่ละแบบก็เหมาะกับแต่ละคน แตกต่างกันไปนั่นเอง