สับปะรด ผลไม้ไม่ธรรมดา มาจากแดนไกล
ตอนเป็นเด็กประถมปลายมักจะถูกคุณครูตำหนิว่า ทำอะไรไม่เป็นสับปะรด ก็ทำให้สงสัยมาตลอดว่าทำไมต้องเป็นสับปะรด จนหมอยาท่านหนึ่งเฉลยในวงสนทนาว่า สมัยที่ชาวต่างชาติเอาสับปะรดเข้ามาในเมืองไทยครั้งแรก พระราชาก็ให้เสนาอำมาตย์ชิมก่อนว่าเป็นพิษไหม รสชาติเป็นอย่างไร เสนาชิมแล้วก็ทูลว่าสรรพรสพระเจ้าข้า เพราะมีหลากหลายรสชาติ แล้วเลยเพี้ยนมาเป็นสับปะรด เท็จจริงแค่ไหนไม่รับประกัน แต่ก็ได้เข้าใจความหมายของคุณครูว่า เรานี่คงไม่ได้สักรส คือ ไม่ได้เรื่องสักอย่าง ซึ่งก็คงจะจริง เพราแม้แต่จะสนเข็มซึ่งเพื่อนๆ เค้าทำได้สบาย แต่กลับยากเย็นเหลือเกินสำหรับเรา
สับปะรดเป็นพืชพื้นเมืองของบราซิล ถูกค้นพบโดยโคลัมบัสเมื่อปี ค.ศ.1493 ก่อนที่นักเดินเรือจะนำไปเผยแพร่ทั่วโลก และสันนิษฐานว่าเข้ามาในเมืองไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สับปะรดใช้ในการป้องกันเลือดออกตามไรฟันได้ เพราะในปริมาณที่เท่ากัน สับปะรดมีปริมาณวิตามินซีน้อยกว่ามะนาวเพียงเล็กน้อย แต่สับปะรดได้เปรียบที่ลูกโตกว่ามะนาวหลายเท่า ปลูกก็ง่ายกว่า ให้ผลผลิตมากกว่า แม้ว่าสับปะรดจะมีการนำมาปลูกในเมืองไทยได้ไม่นาน แต่ในตำรายาไทยก็มีหลายตำรับที่เข้าสับปะรด โดยเฉพาะยาแก้นิ่ว จะต้องมีแกนสับปะรดอยู่เสมอ
สับปะรด ผลไม้ช่วยย่อย ช่วยระบาย
สับปะรดเป็นผลไม้ที่มีคุณสมบัติช่วยย่อย คล้ายๆ มะละกอ เพราะอุดมไปด้วยเอนไซม์โบรมีเลน (Bromelain) ช่วยย่อยโปรตีนให้กลายเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ เอนไซม์ชนิดนี้สามารถย่อยอาหารได้ทั้งในสภาวะเป็นกรดและด่างเช่นเดียวกับเอนไซม์ปาเปนในมะละกอ จึงช่วยกำจัดสิ่งตกค้างในลำไส้ไม่ให้หมักหมมจนเป็นสารพิษ ซึ่งจะทำให้ตับไตต้องทำงานหนัก
คุณสมบัติในการช่วยย่อย แก้ท้องอืดท้องเฟ้อนี้ ทำให้ในสำรับข้าวของคนไทยสมัยก่อนมักจะมีสับปะรดเป็นผักเคียงอยู่ด้วย นอกจากนี้ คนสมัยก่อนถ้าขับถ่ายไม่ค่อยดี นิยมเอาสับปะรดดิบๆ มาแกงกับอาหารพวกโปรตีน เช่น เนื้อ ก็จะช่วยระบายท้อง ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น คงเป็นเพราะฤทธิ์ความเป็นกรดของสับปะรดจะช่วยดึงน้ำให้เข้าสู่ทางเดินอาหารมากขึ้นและกระตุ้นการขับถ่าย
สับปะรด ยาแก้นิ่ว แก้ปัสสาวะขัด
หมอยาพื้นบ้านนิยมใช้สับปะรดเป็นยาขับปัสสาวะ รักษาอาการบวมน้ำโดยกินเนื้อสับปะรดประมาณ 2 ขีดครึ่ง ทั้งยังเชื่อว่าการกินสับปะรดเป็นประจำจะช่วยป้องกันโรคนิ่วในไต ช่วยลดความดันได้อีกด้วย วิธีทำน้ำสับปะรดโดยทั่วไปใช้น้ำสับปะรด 1 ส่วน ผสมน้ำเปล่า 1 ส่วน (ควรเป็นน้ำต้มสุกที่ทิ้งไว้ให้เย็นแล้ว ไม่ใช่น้ำร้อนเพราะเอนไซม์จะถูกทำลาย) นอกจากนี้เหง้าสับปะรดทั้งสดและแห้งยังเป็นยาแก้โรคทางเดินปัสสาวะชั้นยอด ถ้าสดใช้ประมาณ 200-250 กรัม แห้งใช้ประมาณ 90-100 กรัม ต้มกับน้ำรับประทานวันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร 1 ถ้วยชา เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยลดความดันโลหิต
ยาแก้อักเสบและอาหารเสริมในรูปของผลไม้
ในเยอรมันนิยมใช้เอนไซม์โบรมีเลนซึ่งมีมากในสับปะรดช่วยลดอาการบวม การเจ็บปวด และช่วยให้แผลจากการผ่าตัดหรือการกระแทกหายเร็วขึ้น นอกจากนี้ สับปะรดยังใช้ลดอาการบวมจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย การบวมการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก ไซนัสอักเสบ และเชื่อว่าสับปะรดช่วยลดการอักเสบในผู้ป่วยที่เป็นข้ออักเสบ รูมาตอยด์ เก๊าท์ รวมทั้งการอักเสบจากการเล่นกีฬา เนื่องจากสับปะรดมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการสร้างไคนิน (kinin) ที่เป็นสารก่อให้เกิดการอักเสบนั่นเอง
ปัจจุบันมีการค้นพบประโยชน์ของสับปะรดต่อสุขภาพมากมาย ที่สำคัญคือ บำรุงกระดูก ทำให้กระดูกแข็งแรง อาจจะเนื่องจากในสับปะรดมีแมงกานีสอยู่มาก แมงกานีสเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูกและเอ็นของร่างกาย น้ำสับปะรดจึงเหมาะสำหรับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต คนแก่ที่เป็นโรคกระดูกพรุน สับปะรดยังเหมาะกับคนที่เป็นโรคหวัดและไอ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เพราะไม่เพียงมีวิตามินซีสูง แต่เอนไซม์โบรมีเลนยังมีฤทธิ์ลดการไอและทำให้เสมหะน้อยลง และยังมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคหัวใจบางประเภท และผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอด หลอดเลือดดำอักเสบ เพราะช่วยย่อยลิ่มเลือด
เครื่องสำอางทำความสะอาดผิวหน้าระดับลึก
นอกจากมีเอนไซม์โบรมีเลนซึ่งช่วยย่อยเซลล์ที่ตายแล้ว ระงับอาการอักเสบ อาการบวม และช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนที่เสื่อมโทรมแล้ว สับปะรดยังมีกราดอะมิโน กรดอัลฟาไฮดรอกซี (AHA) และน้ำตาลช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น มีวิตามินเอ วิตามินซี ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความชราของเซลล์ผิวหนัง และลบรอยเหี่ยวย่น จึงมีการใช้สับปะรดเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางเพื่อทำความสะอาดรูขุมขนบนผิวหนัง อีกทั้งช่วยกำจัดเซลล์ที่ตายแล้วออกไป ทำให้ผิวหน้าสดใส ซึ่งเราสามารถทำใช้ได้เอง เพียงคั้นน้ำสับปะรดมาทาหน้าก่อนนอน หรือทาเช้า-เย็นก็ได้ ทาทิ้งไว้ 10 นาที จึงล้างออก
ตำรับยา
ยาแก้ท้องอืดในเด็กอ่อน
นำใบสับปะรดไปย่างไฟ คั้นเอาแต่น้ำ ใช้เป็นน้ำกระสายยาฝนกับรากเตพังคีพอขุ่น ทาท้องเด็กอ่อน ถ้าเด็กโตหน่อยก็ให้กินน้ำคั้นได้เลย
ที่มา หนังสือบันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้…ในวิถี ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร