“เพชรสังฆาต” ยาริดสีดวงชาวบ้าน โรงพยาบาลยอมรับ

Health สุขภาพดีๆ
เพชรสังฆาต พิฆาตริดสีดวง ไม่ต้องห่วงกระดูก

เพชรสังฆาตเป็นสมุนไพรที่คนรู้จักกันดีว่าใช้รักษาริดสีดวงทวาร หมอยาพื้นบ้านเรียกชื่อต่างกันไป เช่น ตำลึงทอง ย่าพลู ร้อยข้อ สามร้อยข้อ ขันข้อ ต่อกระดูก เพชรสังฆาตมีสรรพคุณเด่นๆ อยู่ 2 อย่าง คือ รักษากระดูกหัก กระดูกแตก กับริดสีดวงทวาร นอกจากนี้ยังใช้แก้หวัด บำรุงร่างกาย และรักษามะเร็ง

คนสมัยก่อนชอบปลูกเพชรสังฆาตไว้ตามบ้าน เพราะเป็นสมุนไพรที่ไม่ต้องดูแลมาก ในหมู่บ้านต่างๆ อย่างน้อยต้องมีสักสามสี่บ้านที่ปลูกต้นนี้ไว้ใช้รักษาริดสีดวงทวาร ที่ต้องมีติดบ้านเพราะโรคนี้มักเป็นๆ หายๆ อยู่เสมอ

ถ้าจัดประกวดสมุนไพรที่กินยุ่งยากที่สุด เพชรสังฆาตคงได้ขึ้นแท่นรับรางวัล เพราะถ้าเอามาเคี้ยวกินหรือสัมผัสเถาโดยตรงจะระคายคัน เนื่องจากมีผลึกแคลเซียมอ๊อกซาเลทสูง ทั้งหมอยาและชาวบ้านจะคิดหาวิธีกินเพชรสังฆาตกันหลายแบบ แต่โดยทั่วไปจะแนะนำให้ใช้เถาสด 2-3 องคุลี หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่แตงกวาหรือกล้วย กลืนลงไป หรือนำผงแห้งมาคลุกกับมะขามเปียก (มะขามมีฤทธิ์เป็นกรดจะฆ่าพิษผลึกแคลซียมอ๊อกซาเลท) ปั้นเป็นลูกกลอน แต่ตอนบดเป็นผงก็ต้องสวมถุงมือป้องกัน อย่าสัมผัสโดยตรงเพราะคันมาก

ส่วนตำรับของพ่อหมอประกาศ ใจทัศน์ ที่ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร จะนำไปใส่กล้วยตีบเอาไปนึ่ง แล้วนำไปตากแดด จึงค่อยเอามากิน ฟังดูยุ่งยากกว่าวิธีอื่น แต่ถึงแม้จะกินยากกินเย็นก็ยังอุตส่าห์ทำกินกัน แสดงว่าเพชรสังฆาตต้องดีจริงๆ คนสมัยก่อนถึงได้ลงทุนกันขนาดนั้น โดยส่วนตัวเคยแนะนำให้คนที่เป็นริดสีดวงทวารหลายคนลองใช้เพชรสังฆาต ส่วนใหญ่จะบอกว่าได้ผลดี

เพชรสังฆาต จากรั้วบ้านผ่านห้องยา

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หันมาใช้เพชรสังฆาตแทนยาปัจจุบันในการรักษาโรคริดสีดวงทวาร คือ ในปี 2543 นายแพทย์เปรม ชินวันทนานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในขณะนั้น เสนอว่าให้ลองหายาสมุนไพรมาใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน ทำให้นึกถึงเพชรสังฆาตทันที เนื่องจากในการประชุมทางวิชาการของกองวิจัยการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีรายงานว่า โรงพยาบาลโคกสำโรงนำเพชรสังฆาตมาบดเป็นผงผสมมะขามเปียกมาทอดลองทางคลินิกในคนไข้ ในปี 2530-2532 พบว่าได้ผลดี และที่โรงพยาบาลบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ก็มีการนำเพชรสังฆาตมาใช้ในการรักษาริดสีดวงทวารด้วย นอกจากนี้มีการทดสอบความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังของสมุนไพรชนิดนี้ก็พบว่าปลอดภัย บวกกับประสบการณ์ที่เห็นเพชรสังฆาตเป็นยาในดวงใจของหมอยาทั้งหลายในการรักษาริดสีดวงทวาร ซึ่งในทางการแพทย์แผนปัจจุบันจะเรียกว่า drug of choice หรือยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับโรคนั้นๆ คือ ยาที่เป็นตัวเลือกแรก เพราะมีประสิทธิภาพมากที่สุด และผลข้างเคียงน้อย

นอกจากนี้ ยอดอ่อนเพชรสังฆาตยังเอามาแกงกินได้เหมือนแกงบอน เพราะมีวิธีทำกินที่แก้เอาความคันออกไป อาหารเมนูนี้กินได้ทั้งคนเป็นริดสีดวงและคนทั่วไป แถวราชบุรียังมีการทำน้ำเพชรสังฆาตขายคู่กับน้ำเก๊กฮวย คล้ายกับที่คุณแม่ซิ่ว จันทร์สูรย์ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี ปลูกเพชรสังฆาตไว้ต้มน้ำกินแก้หวัด บำรุงร่างกาย บำรุงกระดูก การที่เพชรสังฆาตสามารถนำมาทำเป็นอาหารและเครื่องดื่มได้ ก็ช่วยให้มั่นใจขึ้นว่าน่าจะนำมาทำเป็นยาได้อย่างปลอดภัย

แม้ว่าในขณะนั้นจะยังไม่มีการส่งเสริมการปลูก แต่วัตถุดิบเพชรสังฆาตก็หาได้ไม่ยาก เพราะมีหมู่บ้านต่างๆ ส่งวัตถุดิบมาสนับสนุน ดังนั้นคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงมีมติให้ใช้ยาแคปซูลเพชรสังฆาตทดแทนยาแผนปัจจุบันรักษาริดสีดวงทวารที่มีราคาแพงกว่า โดยตัดยาแผนปัจจุบันดังกล่าวออกจากบัญชีไปเลยจนกระทั่งปัจจุบัน

ยาบำรุงกระดูก สมุนไพรยอดฮิตตัวใหม่

เพชรสังฆาตจะขึ้นกระจายในเขตร้อนของทวีปเอเชียและแอฟริกา ตามบริเวณชายป่าหรือที่ชื้น ที่ระดับความสูงไม่เกิน 600 เมตร ดังนั้นคนพื้นเมืองในเอเชียและแอฟริกาจึงมีประสบการณ์ช่ำชองในการใช้ประโยชน์จากต้นเพชรสังฆาตนี้

ในอินเดียจะเรียกชื่อเพชรสังฆาตว่า Asthi sringhala ซึ่งแปลว่า สมานกระดูก (Asthi หรือ อัฐิ ในภาษาไทย) คนอินเดียใช้สมุนไพรชนิดนี้ในการรักษาเกี่ยวกับกระดูก โดยนำไปผสมกับแป้งและสมุนไพรบางชนิดทำเป็นยาพอกรักษากระดูกหัก หรือกระดูกแตก มีบางตำรับทำเป็นยากิน รักษาอาการปวดหลัง

สำหรับสรรพคุณด้านนี้ของเพชรสังฆาต ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยพบว่า สารสกัดจากเพชรสังฆาตที่ใช้รักษาโดยการกินและทามีฤทธิ์ทำให้การรักษากระดูกหักได้ผลดีขึ้นจริง ทำให้เกิดกระแสการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพชรสังฆาตในตลาดโลก โดยใช้เป็นยาเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก เอ็น และข้อต่อ สมกับชื่อเรียกอื่นๆ ของเพชรสังฆาต เช่น ขันข้อ ร้อยข้อ ต่อกระดูก จริงๆ

นอกจากการรักษากระดูกแล้ว คนอินเดียยังดื่มน้ำคั้นจากต้นสดของเพชรสังฆาต ในการรักษาประจำเดือนผิดปกติ การใช้ในสรรพคุณนี้ยังพบในปากีสถาน ฟิลิปปินส์ มีข้อสังเกตว่าสมุนไพรที่ใช้รักษาประจำเดือนผิดปกติจะใช้กับหญิงมีครรภ์ได้หรือเปล่า จากการค้นคว้าตำราพบว่า เพชรสังฆาตไม่มีข้อห้ามใช้ในคนท้อง และมีการทดลองว่าเพชรสังฆาตทำให้แท้งในหนูหรือไม่ ก็พบว่าไม่มีฤทธิ์ทำให้แท้งหรือฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อนแม้แต่อย่างใด ในประเทศกลุ่มอาหรับใช้ต้นแห้งทั้งต้นต้มน้ำดื่มรักษาทุกโรค ถือเป็นยาครอบจักรวาล ทั้งยังคั้นเอาน้ำจากต้นนี้รักษาแผลให้อูฐด้วย

ปัจจุบันการศึกษาวิจัยของเพชรสังฆาตมุ่งไปที่การบำรุงกระดูกเสียมากกว่า รวมทั้งใช้เป็นสมุนไพรควบคุมน้ำหนัก เพราะทำการตลาดได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่าเพชรสังฆาตมีฤทธิ์แก้ปวด แก้อักเสบ พบสารฟลาโวนอยด์ที่อาจช่วยทำให้เส้นเลือดแข็งแรงขึ้น ข้อมูลนี้สนับสนุนสรรพคุณการรักษาริดสีดวงของเพชรสังฆาต นอกจากนี้เพชรสังฆาตยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยย่อยอาหาร ขับลมในลำไส้ เป็นสมุนไพรที่ให้พลังกับชีวิต จนได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าตำลึงทอง เพราะมีใบคล้ายตำลึง แต่มีค่าดั่งทองคำนั่นเอง

ตำรับยา

ยาริดสีดวงทวาร ขนานที่ 1

เพชรสังฆาตหั่นตากแห้งบดให้เป็นผงละเอียด มาคลุกกับน้ำมะขามเปียก ทำเป็นยาลูกกลอน ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย รับประทานประมาณครั้งละ 5 เม็ด วันละ 3 ครั้ง ประมาณ 10-15 วัน จึงจะเห็นผล (ต้องระวังอย่าสัมผัสเนื้อเพชรสังฆาตโดยตรง)
ยาริดสีดวงทวาร ขนานที่ 2

ใช้เพชรสังฆาตครั้งละ 2-3 องคุลี (หนึ่งข้อนิ้วกลาง) เป็นเวลา 14 วัน ติดต่อกัน โดยหั่นบางๆ ใช้เนื้อมะขามเปียก หรือเนื้อกล้วยสุกหุ้ม กลืนทั้งหมด

ยารักษาริดสีดวงทวาร ตำรับพ่อประกาศ ใจทัศน์

พ่อประกาศเรียกเพชรสังฆาตว่า ย่าพลู แต่ก่อนจะปลูกอยู่บนค้างพลู เอากล้วยตีบมาตัดหัวท้ายเอาไม้เจาะกล้วย เอาเพชรสังฆาตผ่า 4 ซีก เอา 1 ซีก และเอาว่านชักมดลูก 1 เสี้ยวลงไปด้วย เอาไปนึ่งและแกะเปลือกออก นำกล้วยไปตากแดดจนแห้ง เอาเชือกร้อยเก็บไว้ เวลาร้อยให้ลูกกล้วยห่างกัน ถ้าชิดกันจะอับชื้นขึ้นราได้ วิธีกินคือ กินทั้งลูก ครั้งละ 2 ลูก วันละ 2 ครั้ง กินทั้งหมด 3 หวี พ่อบอกหายทุกคน

ตำรับอาหาร

แกงเพชรสังฆาต

ส่วนประกอบ

เพชรสังฆาต น้ำมะขามเปียก น้ำปลาร้า น้ำตาลปี๊บ ใบมะกรูด เครื่องแกง ข่า ตะไคร้ กระชาย พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ปลาย่าง เกลือ
วิธีทำ

เลือกเอาเพชรสังฆาตเฉพาะปล้องที่อ่อนๆ นำมาปลอกเปลือกออก เคี่ยวในน้ำเดือดจนนิ่ม ใส่กระชอนพักไว้ ทำพริกแกงโดยโขลกข่า ตะไคร้ กระชาย พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กับเกลือให้ละเอียด แล้วใส่ปลาย่างลงไปโขลกรวมกับน้ำพริกแกง ตั้งน้ำให้เดือดใส่พริกแกงลงไปละลาย ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก น้ำปลา น้ำปลาร้า น้ำตาล เกลือ จากนั้นใส่เพชรสังฆาตที่สะเด็ดน้ำแล้วลงไป เคี่ยวไฟอ่อนไปเรื่อยๆ จะเพชรสังฆาตเปื่อยนิ่ม จากนั้นใส่ใบมะกรูดฉีกลงไป ปิดไฟแล้วยกลง

น้ำสมุนไพรเพชรสังฆาต

ส่วนประกอบ

เพชรสังฆาตสดยาว 1 วา น้ำ 3 ลิตร น้ำตาลกรวด

วิธีทำ

นำเพชรสังฆาตสดมาล้างให้สะอาด ขดเป็นวงใส่ลงในหม้อ เติมน้ำ ต้มน้ำจาก 3 ลิตร ให้เหลือ 1 ลิตร น้ำจะออกสีเหลือง ให้ตักเพชรสังฆาตออก กรองให้น้ำสะอาด นำตั้งไฟ ใส่น้ำตาลกรวด ชิมรสตามชอบ


ที่มา หนังสือบันทึกของแผ่นดิน ๖ สมุนไพรท้องไส้…ในวิถี ASEAN โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร