อาหารไทยนอกจากจะมีความอร่อยจนได้รับความนิยมไปทั่วโลกแล้ว ยังเป็นอาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพ เพราะมีความหลากหลายของชนิดอาหาร และมีครบถ้วนแทบทุกหมู่ จึงให้สารอาหารค่อนข้างครบถ้วน
โดยส่วนประกอบของอาหารไทยจะมี “พริก” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งถือว่ามีความโดดเด่นในด้านประโยชน์เชิงสุขภาพ นอกจากนี้ ตำรับแกงและผัด หรือ พริกแกง แต่ละชนิดของไทยจะมีส่วนประกอบหลักที่เหมือนกัน คือ พริก หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ ข่า และผิวมะกรูด (kaffir lime peels) นำมาตำให้ละเอียดจนได้พริกแกงแล้วยังให้คุณสมบัติในการป้องกันโรคต่างๆ
หากจะกล่าวถึงคุณสมบัติของ “เครื่องแกงไทย” แล้ว พอจะแยกแยะได้ดังนี้
“พริก” เครื่องเทศที่ให้รสเผ็ดร้อน มีคุณสมบัติช่วยระบบไหลเวียนของเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นช้า ป้องกันการเกิดมะเร็ง ในพริกมีสารแคปไซซิน (Capsicin) ที่เป็นสารที่ให้ความเผ็ดร้อน สารชนิดนี้จะกระจายอยู่ในทุกส่วนของพริก แต่ส่วนที่พบมากที่สุดหรือเผ็ดมากที่สุด คือ รกหรือไส้ของพริกนั่นเอง พริกมีวิตามินเอและวิตามินซีสูงมาก ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันและช่วยป้องกันโรคไข้หวัดได้ ในพริกยังมีสารเบต้าแคโรทีน และสารต้านอนุมูลอิสระ สารแคปไซซินยังยับยั้งการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ได้ดี อีกทั้งช่วยเสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรงขึ้น ลดอาการหลอดเลือดอุดตันและหลอดเลือดตีบได้
“กระเทียม” มีฤทธิ์ในการลดระดับคอลเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด ในตำรับยาสมุนไพรไทยบอกไว้ว่ากระเทียมยังช่วยบรรเทาอาการหวัด เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยในกระเทียมมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส อีกทั้งยังช่วยขยายทางเดินหายใจ ทำให้หายใจสะดวกขึ้น ช่วยบรรเทาอาการไอแบบมีเสมหะได้ด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไอมากขึ้น แนะนำให้ใช้กระเทียมและขิงสดอย่างละเท่ากันตำละเอียดแล้วละลายกับน้ำอ้อยสด คั้นจนได้น้ำมาจิบแก้ไอ ขับเสมหะ หรือจะคั้นกระเทียมกับน้ำมะนาว แล้วเติมเกลือใช้จิบหรือกวาดคอก็ได้
“ตะไคร้” เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ลดความดันโลหิต ตลอดจนป้องกันการเกิดมะเร็ง น้ำมันหอมระเหยของตะไคร้มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ ช่วยลดอาการแน่นจุกเสียดและช่วยขับลมได้ ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น ช่วยขับปัสสาวะ ขับสารพิษและกรดยูริกที่มีอยู่ในปัสสาวะให้ออกมาจากร่างกาย ตะไคร้สามารถนำมาใช้ในการรักษาระดับคอเลสเตอรอล ช่วยป้องกันการสะสมไขมันในเส้นเลือด และทำให้เลือดสามารถไหลเวียนได้สะดวกขึ้น และยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการช่วยรักษาเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตาม การรับประทานตะไคร้ก็มีข้อควรระวัง โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์
“หอมแดง” เป็นสมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อน จึงมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มอุณหภูมิภายในร่างกาย ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ในหอมแดงอุดมด้วยวิตามินและคุณค่าทางอาหารครบถ้วน แถมยังช่วยบำรุงสมองเพราะเต็มไปด้วยธาตุฟอสฟอรัส ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี ที่สำคัญมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ สำหรับผู้ที่รู้สึกเบื่ออาหาร ให้ลองนำหอมแดงมาใช้ปรุงอาหาร ไม่ว่าไข่เจียวใส่หอมแดงหรือซุปหัวหอม กลิ่นหอมแดงจะช่วยกระตุ้นร่างกายให้รู้สึกอยากอาหารมากยิ่งขึ้น แต่การรับประทานหอมแดงมากเกินไป อาจทำให้ผมหงอก มีกลิ่นตัว และมีอาการหลงลืมง่าย
“ข่า” ส่วนของข่าที่นำมากินนั้นมีรสเผ็ดปร่า และมีน้ำมันหอมระเหย จึงนิยมใช้ประกอบอาหารหลากหลายเมนู ไม่ว่าต้มยำ ต้มแซ่บ น้ำพริก รวมทั้งนำมาทำเป็นส่วนประกอบของเครื่องแกงต่างๆ คนไทยยังนิยมนำหน่อและดอกของข่ามาทำเป็นผักจิ้มน้ำพริกอีกด้วย ข่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อรา แบคทีเรีย และยีสต์ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกมะเร็ง เนื่องจากมีสารออกฤทธิ์อย่างซิเนออล การบูร และยูจีนอล ที่ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าข่าก็ช่วยขับลมได้ดี และยังมีสารบางชนิดช่วยยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ด้วย
“ผิวมะกรูด” มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดความดันโลหิต ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับก็ได้ สารเคมีสำคัญที่พบในมะกรูดคือน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีทั้งในส่วนเปลือก ผล หรือผิวมะกรูด และในใบ จึงนิยมใช้ประโยชน์น้ำมันมะกรูดทั้งจากใบและเปลือกผลมะกรูด ใบมะกรูดยังมีสารเบต้าแคโรทีนซึ่งช่วยชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง และช่วยต่อต้านมะเร็ง ช่วยฟอกโลหิต แก้อาการปวดท้อง ผลมะกรูดยังสามารถนำมาดองทำเป็นยาดองเปรี้ยวไว้รับประทาน ยาฟอกเลือดสตรี ขับระดู ยาบำรุงประจำเดือน หรือยาแก้ผอมแห้งแรงน้อย นอกจากนี้น้ำจากผลมะกรูดยังใช้แก้อาการเลือดออกตามไรฟันได้ โดยใช้น้ำมะกรูดถูบางๆ บริเวณเหงือกหลังแปรงฟันเสร็จ จะช่วยบรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟัน
นอกจากนี้ การนำเครื่องเทศสมุนไพรดังกล่าวมาบดตำด้วยกันทำให้สารพฤกษเคมี หรือสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ ออกมาผสมรวมกันและออกฤทธ์ทั้งเสริมหรือต้านกันจนก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพด้วย จากผลการศึกษาวิจัยพบว่าอาหารไทยหลากชนิดล้วนเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ มีผลดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะเมนูที่มีพริกแกงและน้ำพริกซึ่งล้วนใช้พริกเป็นวัตถุดิบ จึงเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
การเลือกรับประทานอาหารไทยที่มีส่วนประกอบของเครื่องแกงเหล่านี้ ถือเป็นอีกวิธีที่จะช่วยสร้างสุขภาพได้ ซึ่งต้องควบคู่ไปกับการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่าง เหมาะสมด้วย
ที่มา : เรียบเรียงจากหมอชาวบ้าน