“ชะพลู” เป็นพืชพื้นบ้านที่แพร่หลาย พบในทุกจังหวัดของประเทศไทย เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุสืบต่อได้หลายปี ชอบพื้นที่ลุ่มต่ำ ชื้นแฉะ ที่ที่มีน้ำดี ดินดี จะเจริญเติบโตได้ดีมาก ใบจะโต ยอดจะอวบอ้วน เป็นพรรณไม้ที่มีต้นตั้ง บางครั้งจะพบต้นแบบเถาเลื้อย ระบบรากหากินผิวดิน ถ้าเถาเลื้อยไปพบที่เหมาะ ก็จะออกรากตามข้อ และแตกต้นขึ้นใหม่ แพร่ขยายต้นไปเรื่อยๆ เมื่อต้องการจะย้ายที่ปลูก ก็สามารถถอนดึงต้นติดรากไปปลูกได้เลย
ชะพลู เป็นพืชในวงศ์ ไปเปอราซีอี (PIPERACEAE) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไปเปอร์ ซาเมนโตซัม (Piper sarmentosum Roxb.ex Hunter) มีชื่อเรียกหลายอย่าง ภาคเหนือ เรียก ผักปูนก ผักฟูนก ผักแค ช้าพลู พลูลิง พลูลิงนก พลูนก ภาคอีสานเรียก ผักปูลิง ผักนางเลิด ผักอีเลิด ภาคใต้เรียก นมวา แต่ละถิ่นอาจมีเรียกคล้ายกัน หรือต่างกันบ้าง ตามสำเนียงการออกเสียงของท้องถิ่น และมันก็คือ ชะพลู นั่นแหละ
ใบมีลักษณะรูปหัวใจ เหมือนใบพลูกินหมาก แต่จะเป็นใบบางๆ มีใบหลายขนาด ใบเล็กขนาดกว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร ใบใหญ่จะกว้างถึง 15 เซนติเมตร ยาว 17 เซนติเมตร มีก้านใบยาว 1-5 เซนติเมตร
ใบมีรสเผ็ด ชะพลูมีดอกเป็นช่อ รูปทรงกระบอก สีขาว และจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียว มีผลออกเป็นกลุ่ม ขยายพันธุ์โดยการปักชำ แยกต้นปลูก
ประโยชน์ทางอาหาร ชะพลูใช้ยอดอ่อน ใบอ่อน เป็นผัก กินได้ทั้งใบสดและลวกให้สุกก็ได้ ภาคเหนือภาคอีสาน นิยมใส่ปรุงแกงแค แกงขนุน แกงหัวปลี แกงเผ็ด แกงอ่อม แกงเอาะ แกงหอยขม ลวกกินกับตำมะม่วง น้ำพริกต่างๆ หั่นฝอยใส่ไข่เจียว ชุบแป้งทอด ภาคกลาง ใช้ห่อเมี่ยงคำ ภาคใต้ นิยมใช้ใบอ่อนมาแกงกะทิกุ้ง ปลา หอยบางชนิด เช่น หอยโข่ง หอยแครง ปรุงข้าวยำ เชื่อกันว่าใบชะพลูมีคุณค่าทางอาหาร และยังเป็นยาบำรุงร่างกาย
ข้อมูลจาก “อภัยภูเบศร” ระบุสรรพคุณทางยาของชะพลูว่ามีฤทธิ์ต้านอักเสบ ขับลม คลายกล้ามเนื้อ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการก่อกลายพันธุ์ และต้านเชื้อมาลาเรีย โดยทดลองนำใบชะพลูสกัดด้วยเมทานอล (Methanol) แล้วนำไปทดสอบการต้านเชื้อพบว่าสามารถต้านเชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (S. aureus) ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลลิน เชื้อซูโดโมแนส แอรูจีโนซา (P. aeruginosa) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคให้กับมนุษย์ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ในการทดลองในสัตว์พบว่า สารสกัดทั้งต้นมีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้และคลายกล้ามเนื้อ ในประเทศไทยมีตำรับยาพื้นบ้านที่ใช้การต้ม “ชะพลูทั้งห้า” แก้เบาหวาน
วิธีใช้ให้เอาต้นช้าพลูทั้งห้า หมายถึงใช้ทั้งต้นรวมรากด้วย นำมา 1 กำมือ ให้พับเถาช้าพลูเป็น 3 ทบ ให้ตอกไม้ไผ่มัดเป็น 3 เปลาะ นำไปใส่หม้อต้มกับน้ำ 3 ขัน ต้มเคี่ยวให้เหลือน้ำ 1 ขัน ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว ก่อนอาหาร วันละ 3 เวลา
ทั้งนี้ พืชผักชนิดนี้มีงานวิจัยมากมาย ทั้งในไทยและต่างประเทศ มีงานวิจัยในหนูทดลอง โดยทำให้หนูเป็นเบาหวานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยให้สารสกัดใบชะพลูด้วยน้ำขนาด 0.125 และ 0.25 g/kg และอีกกลุ่มให้ยาแผนปัจจุบัน ไกลเบนคลาไมด์ (glibenclamide) เป็นยาเทียบ พบว่าสารสกัดขนาด 0.25 g/kg ลดน้ำตาลในกระแสเลือดได้ตั้งแต่ครั้งแรก ส่วนสารสกัดขนาด 0.125 g/kg ให้หนูติดต่อ 7 วันพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดลงได้
ชะพลูเป็นสมุนไพรแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเนื่องจากมีฤทธิ์แอนตี้ออกซิแดนซ์สูงมาก นอกจากนี้ชะพลูยังไม่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในคนปกติ จึงเหมาะที่จะนำมาชงเป็นชา หรือรับประทานเป็นผัก สำหรับคนทั่วไปและผู้ป่วยเบาหวาน
ทั้งนี้ การกินช้าพลู ถ้ากินเป็นผักหรือเป็นอาหารก็มีความปลอดภัย แต่ถ้ากินเป็นยาเพื่อหวังผลในการลดน้ำตาล แนะนำว่าจะต้องสังเกตอาการน้ำตาล เช่น มีอาการหน้ามืด ใจสั่น เหงื่อออกมือ มีอาการหวิวๆ เหมือนจะเป็นลมหรือไม่ เพราะแสดงว่าน้ำตาลในเลือดของคุณกำลังต่ำเกินไป จึงไม่ควรทานช้าพลูนั่นเอง
ด้านโภชนาการ ใบชะพลูมีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก ใน 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 101 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใย หรือไฟเบอร์ 4.6 กรัม แคลเซียม 601 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม เหล็ก 7.6 มิลลิกรัม วิตามินเอ 21255 iu วิตามินบีหนึ่ง 0.13 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.11 มิลลิกรัม วิตามินซี 10 มิลลิกรัม
อย่างไรก็ตาม “แคลเซียม” ที่มีอยู่ในใบชะพลูจะเปลี่ยนเป็นแคลเซียมออกซาเลต (Oxalate) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนิ่วในไตได้ ดังนั้นจึงควรดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อสารออกซาเลตจะได้จางลง และผู้ที่เป็นโรคไตควรระวัง เพราะจะไปสะสมที่ไต และทำให้ไตทำงานหนักขึ้น
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน