ความเสื่อมของร่างกายเพิ่มมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยใน ผู้สูงอายุ ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นก็ต้องระวังเรื่องข้อเข่าเสื่อมจากไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตด้วยเช่นกัน
นพ.ปิยวัฒน์ จิรัปปภา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี เกี่ยวกับโรคข้อเข่าเสื่อม ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ซึ่งจากสถิติแล้วพบว่า เป็น 1 ใน 5 ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุไทยเลยทีเดียว โรคข้อเข่าเสื่อมนั้น เกิดจากการที่กระดูกอ่อน ผิวข้อมีการสึกหรอ หลุดล่อน ทำให้กระดูกมีการเสียดสีกัน และร่างกายพยายามที่จะซ่อมแซม ตัวเอง โดยการสร้างกระดูกขึ้นมาใหม่ แต่จะเป็นการสร้างในตำแหน่งที่ไม่ควรจะสร้าง ทำให้เกิดอาการอักเสบของข้อ ปวดเรื้อรัง บวม กดเจ็บ เคลื่อนไหวลำบาก และข้อผิดรูป
สาเหตุของข้อเข่าเสื่อม อายุที่มากขึ้น, น้ำหนักตัวที่มากเกินไป, พฤติกรรมการใช้ข้อผิดวิธี เช่น การนั่งยอง นั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิเป็นเวลานาน, เคยได้รับบาดเจ็บบริเวณเข่า เช่น กระดูกหัก เข่าแตก เอ็นฉีก เป็นต้น, โรคที่เคยเป็น เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์, การไม่ออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าไม่แข็งแรง, การใช้ยา โดยมีการใช้ยาสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
นพ.ปิยวัฒน์กล่าวต่อว่า สำหรับอาการที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นข้อเข่าเสื่อม สามารถสังเกตอาการเบื้องได้จากอาการปวด ว่าปวดแบบไหน โดยโรคข้อเข่าเสื่อม ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีอาการดังนี้ ปวดหรือเจ็บข้อเข่าเวลาเดิน นั่ง หรือขึ้นลงบันได, ปวดเรื้อรังหลายปี, เข่าโตขึ้น ข้อเข่าบวม, ขาโก่ง
สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน, ผู้ที่ปวดเข่าเรื้อรังหลายปี, อายุมากกว่า 40 ปี, เคยป่วยด้วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคพุ่มพวง (SLE) โรคเกาต์, เคยเกิดอุบัติเหตุทำให้มีกระดูกหักบริเวณข้อเข่า
นพ.ปิยวัฒน์กล่าวอีกว่า แนวทางการรักษา จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
1. การรักษาแบบไม่ผ่าตัด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและช่วยให้เข่าเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น โดยมีหลากหลายวิธี ดังนี้ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ได้แก่ รับประทานอาหารที่เหมาะสมเพื่อควบคุมน้ำหนักตัว, ออกกำลังกายชนิดส่งแรงกระแทกข้อเข่าน้อยเป็นประจำ เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดิน เพื่อส่งเสริมให้ข้อเข่าแข็งแรงขึ้น, ลดน้ำหนักหากมีน้ำหนักตัวมากเกินไป เพื่อลดแรงกดบนข้อเข่า, รักษาด้วยยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ และยากลุ่มสารอาหารเสริมสร้างกระดูก, ฉีดสารน้ำเลี้ยงไขข้อ ในกรณีที่มีอาการปวดไม่มาก และการทำลายของกระดูกอ่อนยังไม่รุนแรง, ฉีดยาสเตียรอยด์ ในกรณีที่มีอาการปวดเฉียบพลันที่รุนแรงและเป็นครั้งคราว, ทำกายภาพบำบัด เช่น บริหารกล้ามเนื้อ รอบเข่า
2. การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จำเป็นในกรณี รักษาด้วยยาและปรับวิธีดำเนินชีวิตแล้วไม่ได้ผล
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็ว
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอื่นๆ สามารถขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์ โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ทั้ง 10 แห่ง และสามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่ เฟซบุ๊ก : Principal Healthcare Company
ที่มา : ข่าวสด