เรียกว่าการ “ดื่มนม” นั้น ได้รับการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีการกำหนดให้ ทุกๆ วันที่ 1 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันดื่มนมโลก” ซึ่งกรมอนามัย ก็เชิญชวนผู้ปกครองร่วมกันส่งเสริมให้ลูกดื่มนม เสริมจากที่โรงเรียนอีกหนึ่งกล่อง กล่าวคือ ดื่มนมวันละ 2 กล่อง/แก้ว ต่อวัน
ซึ่ง แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยไว้ในการนำเสนอข่าว “กรมอนามัยส่งเสริมเด็กไทย ชวนดื่ม ‘นมจืด’ ยืดความสูง” ว่า “นม” เป็นอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดีและมีปริมาณแคลเซียมสูง โดยเฉพาะนมโคสด 100 เปอร์เซ็นต์ มีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมที่มีการปรุงแต่งรสและกลิ่น เนื่องจากมีแคลเซียมในปริมาณมาก และช่วยสร้างกระดูกที่มีผลต่อพัฒนาการด้านความสูง
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า ควรส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน และดื่มนมรสจืด วันละ 2 แก้วและเพิ่มเติมด้วยการกินไข่วันละ 1 ฟองทุกวันร่วมกับการกระโดดโลดเต้น 60 นาทีทุกวัน และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 9-11 ชั่วโมง จะทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพและเพิ่มความสูงได้
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาทอง (Golden period) ของเด็กในการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว (Growth spurt) เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงจะแตกต่างกัน โดยเด็กผู้หญิงจะเริ่มในช่วงอายุ 9-10 ปี ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงอายุประมาณ 12 ปี จากนั้นอัตราการเพิ่มของความสูงจะลดลงจนกระทั่งถึงอายุประมาณ 16-18 ปี ความสูงจะค่อนข้างคงที่ ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่มในช่วงอายุ 10-12 ปี ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงอายุประมาณ 14 ปี จากนั้นอัตราการเพิ่มของความสูงจะลดลงจนกระทั่งถึงอายุประมาณ 18-20 ปี ความสูงจะค่อนข้างคงที่
สอดคล้องกับเอกสารเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมอนามัยที่นำเสนอเรื่อง “อยากสูงต้องทำ 3 อย่าง” ประกอบด้วย
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลากหลาย เน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง ดื่มนมจืด 2 แก้วทุกวัน
- ออกกำลังกายทุกวัน วันละ 60 นาที เน้นกระโดดโลดเต้น ช่วยกระตุ้นข้อต่อกระดูก
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 9-11 ชั่วโมง ช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต
ที่มา : มติชนออนไลน์