เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายท่านน่าจะต้องเคยประสบกับปัญหาเหงือกบวมกันมาไม่น้อย แต่ อาการเหงือกบวม เกิดขึ้นจากอะไรได้บ้าง เมื่อเป็นแล้วจะมีวิธีดูแลและบรรเทาอาการด้วยตนเองได้ยังไงบ้าง ไปหาคำตอบกันเลย
เหงือกบวม เกิดจากอะไร
หลายคนอาจเข้าใจว่า อาการเหงือกบวม นั้นมักจะเกิดจากการแปรงฟันแรงเกินไป หรือการที่เหงือกถูกกระทบกระเทือน แต่แท้จริงแล้วเหงือกบวมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น
อาการเหงือกอักเสบ
อาการเหงือกอักเสบคืออาการที่เหงือกได้รับการระคายเคืองและบวม ซึ่งมักเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพเหงือกยอดนิยมที่เกิดขึ้นจากการที่สุขอนามัยในช่องปากไม่ดี เต็มไปด้วยคราบจุลินทรีย์และแบคทีเรียต่างๆ แต่เนื่องจากเหงือกอักเสบนั้นไม่ได้มีอาการที่รุนแรงมากนัก หลายคนจึงไม่ได้สนใจหรือไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่ามีอาการเหงือกอักเสบ ซึ่งหากปล่อยเอาไว้นานๆ ก็จะมีปัญหาเหงือกบวมขั้นรุนแรง หรืออาจอันตรายจนนำไปสู่การเป็นโรคปริทันต์และสูญเสียฟันได้
สาเหตุของอาการเหงือกบวม
การตั้งครรภ์ แม้จะฟังดูไม่น่าเกี่ยวข้องกันได้ แต่การตั้งครรภ์ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดอาการเหงือกบวมได้จริงๆ เนื่องจากในขณะตั้งครรภ์นั้นเป็นช่วงที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว ทำให้ไปเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่บริเวณเหงือก ส่งผลให้เหงือกเกิดการระคายเคืองได้ง่ายขึ้นจนทำให้เกิดอาการบวมขึ้นมา
การขาดวิตามิน ปัญหาการขาดวิตามินก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เหงือกบวม โดยเฉพาะการขาดวิตามินบีและวิตามินซี เนื่องจากเป็นวิตามินสำคัญที่มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมและบำรุงส่วนที่สึกหรอของฟันและเหงือก หากร่างกายขาดวิตามินบีหรือวิตามินซีก็อาจจะมีผลทำให้เกิดปัญหาเลือดออกตามไรฟัน และโรคเหงือกตามมา
การติดเชื้อ การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากจะเป็นการป้องกันและช่วยลดแบคทีเรีย เชื้อรา และสิ่งสกปรกต่างๆ ภายในช่องปากที่อาจมีผลให้เกิดการติดเชื้อภายในปาก ซึ่งแบคทีเรียและเชื้อราเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดปัญหาทั้งฟันผุ เหงือกบวม เหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์ได้
การแปรงฟันที่ผิดสุขลักษณะ การแปรงฟันแบบผิดๆ ไม่ได้อยู่ที่วิธีการแปรงฟันเท่านั้น แต่เริ่มตั้งแต่การเลือกแปรงสีฟันและยาสีฟันด้วย แปรงสีฟันที่เหมาะสมไม่ควรจะแข็งจนเกินไป หรือนุ่มจนไม่สามารถจะทำความสะอาดได้อย่างล้ำลึก ควรเลือกขนแปรงที่นุ่มกำลังดี จะให้ดีควรมีฟังก์ชันสำหรับแปรงหรือทำความสะอาดลิ้นด้วย
เวลาแปรงฟันควรออกแรงแต่พอดี ไม่ควรรีบแปรง และไม่ควรใช้แรงในการแปรงฟันที่มากจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองซึ่งจะมีผลทำให้เกิดอาการเหงือกบวมหรือมีการระคายเคืองในช่องปาก
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อมีอาการเหงือกบวม
อาการเหงือกบวม แม้จะไม่ใช่สัญญาณที่ดีของสุขภาพ แต่ก็เป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ อย่างไรก็ตาม อาการเหงือกบวมสามารถที่จะดูแลและบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ง่ายๆ โดยยังไม่ต้องไปพบคุณหมอ ดังนี้
ใช้น้ำเกลือ การอมน้ำเกลือหรือกลั้วปากด้วยน้ำเกลือจะช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการเหงือกบวมลงได้ โดย
- ผสมน้ำเกลือ 1 ช้อนชา กับน้ำอุ่น 8 ออนซ์
- กลั้วปากไว้ประมาณ 30 วินาที
- ทำประมาณ 2-3 ครั้งต่อวัน
การประคบอุ่นและประคบเย็น การประคบอุ่นและประคบเย็นก็มีส่วนช่วยลดอาการปวดและอาการบวมของเหงือกได้ โดย
- แช่ผ้าสะอาดหรือผ้าขนหนูในน้ำอุ่น แล้วบิดเอาน้ำออก
- แนบผ้าชุบน้ำอุ่นไว้ที่บริเวณแก้มที่ตรงกับเหงือก แนบไว้ประมาณ 5 นาที
- จากนั้นห่อน้ำแข็งก้อนด้วยผ้าขนหนูหรือผ้าสะอาด แล้วนำไปแนบที่แก้มหรือที่ตรงกับเหงือก
- ทำสลับกันไป 2-3 ครั้ง ทำติดต่อกัน 2-3วัน หรือจนกว่าอาการเหงือกบวมจะค่อยๆ ดีขึ้น
ใช้น้ำมันหอมระเหย น้ำมันหอมระเหยที่สกัดมาจากพืช เช่น น้ำมันสาระแหน่ ทีทรีออยล์ น้ำมันโหระพา นอกจากจะมีส่วนช่วยในการผ่อนคลายความเมื่อยล้า และความเครียดแล้ว ก็สามารถช่วยบรรเทา อาการเหงือกบวม ได้เหมือนกัน เนื่องจากช่วยลดจุลินทรีย์ในช่องปากอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเหงือกบวม โดย
- ผสมน้ำมันหอมระเหยที่สกัดมาจากพืช เช่น น้ำมันสาระแหน่ ทีทรีออยล์ น้ำมันโหระพา สามหยดกับน้ำอุ่น 8 ออนซ์
- จากนั้นนำไปกลั้วปากเป็นเวลา 30 วินาทีแล้วบ้วนทิ้ง
- ทำซ้ำ 2 ครั้งต่อวัน จนกว่าอาการเหงือกบวมจะดีขึ้น
ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) คุณสามารถใช้ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ในการบรรเทาอาการบวม แดง และระคายเคืองจาก อาการเหงือกบวม ได้ ดังนี้
- ผสมไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ 3 ช้อนโต๊ะกับน้ำสะอาด 3 ช้อนโต๊ะ
- จากนั้นนำไปกลั้วปาก 30 วินาทีแล้วแล้วบ้วนทิ้ง
- ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์
เราจะสามารถป้องกันอาการเหงือกบวมได้อย่างไร
การป้องกันไม่ให้เกิด อาการเหงือกบวม นั้นสามารถทำได้ง่ายๆ คือ หมั่นรักษาความสะอาดภายในช่องปากให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของแบคทีเรีย เชื้อรา และจุลินทรีย์ภายในช่องปาก ซึ่งจะมีผลทำให้สุขภาพช่องปากย่ำแย่ลง โดยใช้วิธีง่ายๆ เช่น
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง หรือทุกครั้งหลังอาหาร
- แปรงฟันให้ถูกวิธี เลือกแปรงให้เหมาะสมไม่แข็งหรืออ่อนจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทชาหรือกาแฟบ่อยๆ เนื่องจากจะก่อให้เกิดคราบหินปูน
- ใช้น้ำยาบ้วนปากหรือไหมขัดฟันเพื่อช่วยขจัดสิ่งสกปรกหลังการแปรงฟัน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หากเป็นไปได้ควรงดการรับประทานน้ำตาลทั้งในอาหารและเครื่องดื่ม
- ไปพบทันตแพทย์อย่างน้อย 6 เดือนครั้ง
ที่มา : Sanook.com