อันตรายจากการใช้ “ยาแก้ปวด” เป็นประจำ-กินทั้งๆ ที่ไม่มีอาการปวด

Health สุขภาพดีๆ

“ยาแก้ปวด” เป็นยาสามัญประจำบ้านของใครหลายๆ คน ปวดศีรษะก็หยิบยาแก้ปวดมารับประทาน แม้ว่าจะเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง ผลข้างเคียงต่ำ แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถหยิบมารับประทานได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องระมัดระวัง เพราะหากรับประทานพร่ำเพรื่อ อาจอันตรายต่อร่างกายจนถึงชีวิตได้เลยทีเดียว

นายแพทย์พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ระบุว่า ไม่ควรยาแก้ปวดพร่ำเพรื่อ เพราะหากใช้ไม่ถูกต้องจะทำให้ไม่สามารถบรรเทา หรือรักษาอาการปวดได้เลย อาจได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยา พร้อมแนะวิธีเลือกใช้ยาแก้ปวดอย่างถูกต้องหากไม่เข้าใจปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ เพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยา

อันตรายจากการรับประทานยาแก้ปวดบ่อยเกินไป

กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้สำหรับอาการปวดไม่รุนแรง เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่  สเตียรอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ โดยเฉพาะยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ เนื่องจากจะมีผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ได้แก่

  • ระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ ปวดท้อง เป็นแผลบริเวณทางเดินอาหาร
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อาจรุนแรงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองอุดตัน
  • ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ง่วงซึม มึนงง ซึมเศร้า  
  • ระบบเลือดจะขัดขวางการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด มีผลต่อการทำงานของไตโดยทำให้ไตบวม ระดับโปแตสเซียมและโซเดียมในเลือดสูงและไตวาย 
  • ผิวหนัง ทำให้มีอาการผื่นคันผิวหนังพอง บางรายอาจมีการแพ้แสงแดด 
  • ยาพาราเซตามอลหากใช้ยาเกินปริมาณที่แนะนำอาจจะนำไปสู่การเกิดพิษต่อตับ จนนำไปสู่ภาวะตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด

วิธีใช้ยาแก้ปวดที่ถูกต้อง ไม่เสี่ยงอันตราย

  1. ใช้ยาเฉพาะที่จำเป็น ไม่รับประทานยาแก้ปวด เพื่อป้องกันอาการปวดล่วงหน้า เพราะเป็นความเข้าใจที่ผิดที่ว่าจะช่วยป้องกันอาการปวดที่ยังไม่เกิดขึ้นล่วงหน้าได้
  2. ไม่ควรเกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยถ้าเป็นยาแก้ปวดขนาด 325-500 มิลลิกรัม ควรเว้นระยะห่าง 4-6 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นยาแก้ปวดขนาด 1,000 มิลลิกรัม ควรเว้นระยะห่าง 6-8 ชั่วโมง และไม่ควรกินติดต่อกันนานเกิน 7 วัน
  3. ใช้ยารักษาอาการปวดอย่างถูกต้องโดยใช้ยาตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด
  4. ห้ามใช้ยาเกินขนาด ใช้บ่อยกว่า หรือใช้เป็นระยะเวลานานกว่าที่ระบุไว้บนฉลาก หรือเอกสารกำกับยา หรือแพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย หรือเสียชีวิตได้
  5. ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการใช้ยาแก้ปวด เพราะอาจเพิ่มอาการข้างเคียงของยามากขึ้น

ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

ที่มา : Sanook.com