“ไข่” มักมีความสัมพันธ์กับอาหารเช้าและให้โปรตีนแก่ร่างกาย ไข่ขนาดใหญ่หนึ่งฟอง มีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น 13 ชนิดและโปรตีนคุณภาพสูงทั้งหมด 70 แคลอรี่ นอกจากนี้การวิจัยทางโภชนาการชี้ให้เห็นว่า “ไข่” มีบทบาทในการควบคุมน้ำหนัก ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ การทำงานของสมอง สุขภาพของดวงตาและอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งไข่ลวก ไข่คน ไข่ตุ๋น รวมไปถึงไข่ที่ต้มสุก ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ส่งผลดีต่อร่างกาย แต่ก็ควรกินให้ถูกจึงจะได้ประโยชน์จากไข่อย่างเต็มที่
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับไข่
พญ. กัญจณี ธนะแพสย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน อายุรศาสตร์ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า “ไข่” นั้นมีสารอาหาร 2 ชนิดที่สำคัญสำหรับสุขภาพสมอง ประกอบไปด้วย โคลีน และ ลูทีน โคลีนมีบทบาทในการพัฒนาสมองของทารกในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในสมองที่ใช้สำหรับเป็นหน่วยความจำและสำหรับเรียนรู้ ในขณะเดียวกัน ลูทีนก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของดวงตาและมีบทบาทต่อการรับรู้ด้วยเช่นกัน อ้างอิงจากนักวิจัยของ University of Illinois แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างลูทีนในสมองโดยวัดจากการทดสอบสายตาที่ เรียกว่า Macular Pigment Optical Density (MPOD) และการรับรู้ในเด็ก นักวิจัยพบว่า MPOD มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลการเรียน
ประโยชน์ของไข่ คนเรากินไข่ได้วันละกี่ฟอง
ไข่อาจมีปริมาณคลอเรสเตอรอลค่อนข้างสูง แต่ไม่มีผลกระทบต่อระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย
ไข่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มากมายรวมไปถึง วิตามินเอ วิตามิน B และ B-12 วิตามินดี ไอโอดีน โฟเลต โอเมก้า 3 อีกทั้ง “ไข่” ยังมีราคาไม่แพง หาซื้อง่าย และวิธีที่ดีที่สุดในการกินไข่คือการต้ม การรับประทานไข่วันละหนึ่งถึงสามฟอง มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่าง แต่จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
การกินไข่ กับโรคเบาหวานชนิดที่ 2
จากการศึกษาแบบสุ่มในผู้ที่มีภาวะ metabolic syndrome แสดงให้เห็นว่าผู้ที่บริโภคไข่ 3 ฟองต่อวัน ส่งผลให้มีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี ในเรื่องของ HDL-cholesterol, insulin sensitivity และอีกกรณีศึกษาเกี่ยวกับการลดน้ำหนักแบบควบคุมในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้รับการวินิจฉัยพบว่า ไขมันและกลูโคสดีขึ้นหลังจากบริโภคไข่วันละ 2 ฟองเป็นเวลา 12 สัปดาห์ อาหารเช้าที่ทำจากไข่อุดมไปด้วยโปรตีน (พลังงาน 35%; โปรตีนไข่ 26.1 กรัม) จะช่วยส่งเสริมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
การกินไข่ กับโรคอ้วน
โรคอ้วนถือเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดได้จากหลายปัจจัยและซับซ้อน คำแนะนำในปัจจุบันสำหรับการควบคุมน้ำหนักคือการส่งเสริมการออกกำลังกายพร้อมกับการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยรวมถึงธัญพืช ผลไม้ ผัก โปรตีน และ ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำหรือปราศจากไขมัน อีกทั้งบริโภคโปรตีนคุณภาพสูงจากไข่ที่ส่งผลต่อความอิ่ม ในขณะเดียวกันก็มีผลต่อการลดน้ำหนักด้วย ในวัยผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกิน เปรียบเทียบระหว่างผู้ที่นิยมรับประทานเบเกิล และไข่เป็นอาหารเช้า แสดงให้เห็นว่าผู้ที่บริโภคไข่รู้สึกกระปรี้กระเปร่า มีดัชนีมวลกายลดลง 61% และน้ำหนักลดลง 65% จากการทดลองเป็นระยะเวลา 3 เดือนในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ที่บริโภคไข่ 2 ฟองต่อวันเป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์นั้นมีรายงานว่าความหิวนั้นลดลงและรู้สึกอิ่มเร็วมากขึ้นกว่าผู้ที่บริโภคไข่ น้อยกว่า 2 ฟองต่อสัปดาห์
กลุ่มคนที่ต้องระวังการบริโภคไข่
คนที่ต้องระวังเรื่องการบริโภคไข่เป็นพิเศษ และควรบริโภคไข่ 3-4 ฟองต่อสัปดาห์หรือบริโภคแค่ไข่ขาวเท่านั้น ได้แก่
- ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ป่วยไขมันในเลือด
ไข่ มีประโยชน์ แต่ก็ควรเลือกกินให้ถูกโดยเฉพาะกรรมวิธีในการประกอบอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงการทอดด้วยน้ำมันเพราะอาจทำให้ระดับคอเลสตอรอลสูงได้ แทนที่จะได้ประโยชน์ กลับกลายเป็นเกิดโทษ จากการบริโภคไข่แทน
ที่มา : Sanook.com