เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2561 นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้หารือร่วมกับนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เกี่ยวกับนโยบายการผลิตบุคลากรสายการแพทย์และสายวิทยาศาสตร์สุขภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของระบบสุขภาพในอนาคต เนื่องจากที่ผ่านมาการผลิตบุคลากรสายการแพทย์และสายวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยไม่เคยสอบถามความต้องการของสธ.ซึ่งเป็นผู้ใช้บัณฑิต แต่จะพิจารณาจากจำนวนประชากรต่อจำนวนแพทย์ ซึ่งการกำหนดจำนวนผลิตวิธีนี้ไม่ถูกต้อง ควรต้องขอความเห็นจากทางสธ.ซึ่งเป็นผู้ใช้โดยตรงรวมถึงพิจารณาองค์ประกอบด้านอื่น ๆ เช่น กำลังคนต่อจำนวนประชากร การเข้าถึงของประชากรต่อระบบสุขภาพ คุณภาพชีวิตประชากร เป็นต้น ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นว่าต่อไปการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพจะต้องสอบถามความต้องการของสธ.ซึ่งเป็นผู้ใช้หลัก ซึ่งทางสธ.จะดูภาพรวมและประสานกับทางศธ.ซึ่งเป็นฝ่ายผลิตเพื่อกำหนดจำนวนการผลิตแพทย์แต่ละด้านอย่างเหมาะสม
“อนาคตการผลิตบุคลากรด้านการแพทย์และสายวิทยาศาสตร์ ต้องผลิตตามที่สธ. กำหนดซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดเรื่องเวชศาสตร์ครอบครัว มีเรื่องจำนวนประชากรต่อจำนวนบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อทางสธ.ได้ตัวเลขบุคลากรทางการแพทย์ที่เหมาะสมแล้ว ศธ.จะไปกำหนดให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผลิตตามความต้องการ ไม่ใช่จบออกมาแล้วไม่มีงานทำ เช่น ขณะนี้พบว่าสาขาที่ผลิตเกินความต้องการ คือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ที่ผลิตล้นจนไม่มีที่บรรจุ ในปีต่อไปมหาวิทยาลัยต้องลดจำนวนรับในสาขาดังกล่าวลง ส่วนสาขาที่ขาด คือ สาขาเวชศาสตร์ครอบครัวที่จะเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคเป็นหลัก เพราะการรักษาเป็นปลายทางซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง ดังนั้นถ้าเราสามารถส่งเสริมให้คนดูแลสุขภาพไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย ไม่ให้เป็นโรคร้าย หรือโรคที่มีภาวะแทรกซ้อน การเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลก็จะน้อยลง”นพ.อุดมกล่าว
รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. กล่าวต่อว่า ภาพรวมบุคลากรด้านการแพทย์ยังขาดเพียงแต่ต้องวางแผนไปข้างหน้า โดยปรับตามความต้องการที่แท้จริงทั้งนี้อาจต้องใช้กลไกทางด้านงบประมาณมาเป็นตัวกำหนด เช่นการให้ทุน อาจจะเน้นในสาขาที่ขาดแคลนและเป็นความต้องการอย่างแท้จริง ในส่วนแพทย์เฉพาะทางยังมีความจำเป็น แต่แพทย์เฉพาะทางบางสาขาอาจจะต้องลดลง ส่วนจะเป็นสาขาใดบ้างยังไม่สามารถบอกได้ต้องรอแนวทางจากทางสธ.คาดว่าอีกประมาณ 2 เดือน จะได้เห็นตัวเลขความต้องการที่ชัดเจน
ที่มา มติชนออนไลน์