ประธานหอการค้าจันทบุรี ขอร้อง “บิ๊กตู่” เจียระไนจันทบุรีเป็น “อัญมณีภาคตะวันออก”

Journal ข่าวสาร

“จันทบุรี” จังหวัดที่มีตราประจำจังหวัดเป็นรูปกระต่ายในดวงจันทร์ ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ตึก รีสอร์ท เพิ่มมากขึ้น ผู้คนหนาตามากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว และยิ่งหน้าผลไม้ด้วยแล้ว ที่พักในตัวจังหวัดและชานเมืองแม้แต่ต่างอำเภอยังเต็มแน่นไม่ว่างเลยจริงๆ อาจเป็นเพราะความเจริญทางเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ไต่ระดับเพิ่มมากขึ้น จนเดี๋ยวนี้จันทบุรีกลายเป็นเมืองหลักด้านการท่องเที่ยวไปแล้ว

อีกไม่กี่วัน ราววันที่ 1 พฤษภาคมนี้ งานบุฟเฟต์เปิดสวนผลไม้ให้อิ่มกันไม่อั้นจะเริ่มขึ้นแล้ว ไม่ว่าทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง สละ ไปจนถึงผลไม้แปรรูปทั้งหลาย แต่ละสวนต่างเตรียมไว้รองรับนักท่องเที่ยวกันถ้วนหน้า นอกเหนือจากผลไม้ “ของดี” จันทบุรียังมี “อัญมณี” พลอยชั้นดีระดับโลก และธรรมชาติอันสวยงาม ทั้งป่าไม้ ภูเขา วัดวาอาราม รวมทั้งโบราณสถาน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบจังหวัดอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

“จอมศักดิ์ ภูติรัตน์” ประธานหอการค้าจันทบุรี ที่ยังครองเก้าอี้เป็นสมัยที่ 3 มาอัพเดตภาพรวมของผลไม้ที่จันทบุรีให้ฟัง โดยกล่าวว่า ต้องถือว่าจันทบุรีเป็นแหล่งผลิตผลไม้คุณภาพเยี่ยมระดับโลก ซึ่งที่ผ่านมาได้เสนอยุทธศาสตร์ “มหานครผลไม้” ให้กับรัฐบาลไปดำเนินการ และได้ทำมา 3-4 ปีแล้ว ปีนี้ก็ยังจะทำต่อไปอีก เพราะได้ผลเป็นอย่างดี ช่วยให้ราคาผลไม้สูงขึ้น เกษตรกรชาวสวนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 20-30 บาท แต่เดี๋ยวนี้ราคาบวกลบ 100 บาท ถือว่าเป็นที่น่าพอใจของชาวสวน และต้องบอกว่าสามารถสร้างความรับรู้และการนำเสนอยุทธศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับ ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง

“จอมศักดิ์” เล่าถึงภาพรวมของสวนผลไม้จันทบุรีขณะนี้ว่า พื้นที่ปลูกผลไม้ในจันทบุรีเพิ่มมากขึ้นจากเดิม เพราะได้ราคาดี คนจึงหันมาทำสวนมากขึ้น โดยพื้นที่การเกษตรทั้งจังหวัดขณะนี้มีประมาณ 4 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ประมาณ 2 ล้านไร่ พื้นที่สวนผลไม้ 1 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 7 แสนไร่ และพื้นที่อื่นๆ เช่น เลี้ยงกุ้งชายฝั่ง หอย ปลา

“สรุปสถานการณ์โดยรวมราคาผลไม้ถือว่าสูงขึ้นน่าพอใจ แต่ราคายางพาราไม่ดี ส่วนข้าวก็กระเตื้ยงขึ้นบ้าง แต่หอการค้าจังหวัดอยากให้ชาวสวนมีรายได้มากกว่านี้ เพราะยังมีศักยภาพที่เพิ่มได้เยอะ ยิ่งตัวเกษตรกรหรือชาวสวนเองก็ไม่ได้งอมืองอเท้า เร่งผลผลิตของตนให้ได้มาตรฐาน ได้คุณภาพ ให้ทันกับตลาดยุค 4.0 เป็นผลจากการส่งเสริมให้เปลี่ยนวิธีคิดในการปลูกใหม่ ว่าไม่เอาปริมาณ แต่เอาคุณภาพแทน”

“สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ คือเรื่องการขยายตลาด จะเห็นว่าเวลานี้มี ล้ง เข้ามาซื้อผลไม้ในจันทบุรีเพิ่มขึ้นถึง 30% จำนวนนี้เป็นล้งเจ้าใหม่ทั้งหมด ซึ่งมีผลต่อราคา แต่ก่อนมีไม่กี่เจ้าจึงทำให้เกิดการผูกขาด กดราคา แต่ตอนนี้เขามาซื้อของที่นี่เขารู้แล้วว่าจะได้สินค้าคุณภาพ สร้างกำไร ก็มากันใหญ่ ตลาดเลยขยายตัวมากขึ้น แต่ปีนี้ราคาผลไม้คาดว่าจากการแปรปรวนของธรรชาติ โดยเฉพาะมังคุด ผลผลิตลดลงไม่ต่ำกว่า 70% ลดลงมากจนน่าตกใจ น่าเสียดายด้วย เพราะความต้องการยังเยอะ ทุเรียนได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มากเท่ามังคุด ปีที่แล้วทุเรียนผลิตได้ประมาณ 4 แสนตัน แต่ปีนี้อาจไม่ถึง ได้น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ยังพอรองรับนักท่องเที่ยวและงานบุฟเฟต์ผลไม้ที่จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นไป ที่ผมกล้าพูดได้ว่าชาวสวนจันทบุรีแฮปปี้ เพราะมีตัวชี้วัด ที่เห็นชัดคือตอนนี้รถปิคอัพขายดีขึ้น และมีการปลดหนี้ ธกส. ได้มากขึ้น จนทางธนาคารออกปากว่าลดหนี้ชาวสวนลงไปได้เยอะเลย ไม่ค่อยเป็นหนี้แล้ว และยังมีการสร้างบ้านใหม่กันมากขึ้นด้วย”

หากมองอย่างประธานหอการค้าจันทบุรีกล่าวแล้ว ราคาผลไม้ปีนี้และปีหน้าไม่น่าห่วงแต่อย่างใด อย่างน้อยคาดว่าปีหน้าราคายังโตต่อเนื่อง ชาวสวนยังแฮปปี้กันต่อได้อีกปี ตรงกันข้ามกับชาวสวนยางพารา อาจหน้าตาไม่สดใส เพราะขณะที่ราคาผลไม้ไปได้สวย แต่ราคายางพารายังต่ำไม่ขยับไปไหน

“อย่างไรก็ดี หอการค้าเราอยากวิงวอนให้ชาวสวนผลไม้อย่าทุบหม้อข้าวตัวเอง ต้องพยายามรักษาคุณภาพของผลผลิตให้ผลไม้ได้คุณภาพ ได้มาตรฐาน”

สิ่งที่ประธานหอการค้าจันทบุรีกล่าวถึงว่าเป็นแนวทางในการส่งเสริมผลไม้ของจังหวัด ก็คือในงานไทยเฟ็กซ์ที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2561 ทางพาณิชย์จังหวัดร่วมกับหอการค้าจันทบุรีจะจัดพาวิลเลียน “มหานครผลไม้” ขึ้นในงานดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้คนรู้จักผลไม้ของจันทบุรีและภาคตะวันออกมากขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังได้ร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลผลิตจากภาคตะวันออกกระจายไปตามจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยจัดเป็นแหล่งซื้อพิเศษขึ้นในสนามบิน เช่น เชียงใหม่ อุดรธานี หาดใหญ่ ฯลฯ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย

“คุณกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังจะร่วมมือกับสวนนงนุช จ.ระยอง จัดพาวิลเลียนผลไม้ในสวนนงนุชด้วย เพราะมีนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวสวนนงนุชเยอะมาก เวลานี้กำลังประสานงานกันอยู่ ถือเป็นการโปรโมตเพื่อเพิ่มช่องทางการขายผลไม้อีกช่องทาง”

ขั้นต่อไป แผนงานระยะกลางไปจนถึงปลายทาง จะทำอย่างไรให้เกษตรกรชาวสวนได้ราคาดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่มองเห็นระยะกลาง คือการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หรือสินค้า ส่วนระยะปลายทางเป็นการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำ และคนที่จะดำเนินการได้ก็คือภาครัฐ เช่น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น เพราะมีทั้งคนและงบประมาณ ส่วนภาคเอกชนเป็นคนเสนอให้รัฐเห็นว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง และทำอย่างไร

จอมศักดิ์ ภูติรัตน์

“ในโลกดิจิทัล คิดและทำแบบเดิมมันไม่พอ แต่ต้องมีนวัตกรรมใหม่ที่สามารถเพิ่มรายได้ เพิ่มมูลค่าของผลไม้หรือพืชเกษตรได้อีก เช่น ทำเป็นอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมอาหารเสริม เครื่องสำอางบำรุงความงาม เป็นต้น โดยใช้วัตถุดิบจากผลไม้ จะเพิ่มมูลค่าได้อย่างมหาศาล เพราะราคาจะแตกต่างกันมาก ตรงนี้รัฐต้องเข้ามาส่งเสริม เราเพียงแต่ชี้เป้าให้เห็นว่ามันมีศักยภาพตรงไหนบ้าง ลำพังหอการค้าเราไม่มีคน ไม่มีงบเพียงพอ แค่ทำเรื่อง R&D ก็ใช้คนใช้งบมหาศาลแล้ว เพราะฉะนั้นกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หรือ สวทช. สสว. สำนักงานวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัย ต้องเข้ามามีบทบาท มันเกินกำลังของเราจริงๆ และการเข้ามาก็ต้องดูด้วยว่ามีพืชเกษตรกี่ตัวที่คุ้มกับการลงทุนลงแรง ถ้ารัฐไม่ขยับตรงนี้ ชาวสวนในระยะยาวก็อยู่ไม่ได้ เพราะประเทศเรารากเหง้าเป็นประเทศเกษตรกรรม”

สำหรับการท่องเที่ยวของจังหวัดจันทบุรีนั้น จอมศักดิ์กล่าวว่า โตมาตลอดไม่ต่ำกว่า 10 % ในแต่ละปี คาดว่าปีหน้า (2562) ก็เช่นเดียวกัน โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวมีทั้งคนไทยที่มากินอาหารทะเล กินผลไม้ เพราะราคาไม่แพง และอาหารทะเลสดใหม่ ส่วนอัญมณีก็เป็นของแท้ ไว้ใจได้

“แต่ก็น่ากังวลว่าอัญมณีค่อนข้างมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ กำลังเสนอแนวทางแก้ไขกันอยู่ ซึ่งปัญหาเบื้องต้นคือเราขาดวัตถุดิบ พลอยก้อน ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมหรือหาช่องทางนำพลอยก้อนมาสู่ตลาดที่เมืองจันท์ให้สะดวกขึ้น”

ปัญหาที่พบ คือปัจจุบันคนไทยต้องเดินทางไปซื้อวัตถุดิบถึงแอฟริกา ไม่ว่าที่ประเทศโมซัมบิก แทนซาเนีย และศรีลังกา ทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงและเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น ทั้งที่จริงแล้วสมัยก่อนจันทบุรีเป็นแหล่งขุดและผลิตพลอย ทั้งเผาทั้งเจียระไน แล้วส่งไปขายให้แก่ร้านโบรกเกอร์ย่านสีลม กรุงเทพฯ เพื่อส่งไปขายต่อในต่างประเทศ แต่ปัจจุบันต่างประเทศบินตรงมาซื้อพลอยที่จันทบุรี ทำให้ย่านสีลมต้องเงียบและยุติบทบาทไป

“ผลที่ตามมา คือผู้ค้าต่างประเทศที่มาจันท์เป็นคนอินเดียเป็นส่วนใหญ่ กลายเป็นว่ามาซื้อแล้วเลยคุมตลาดเสียเอง มีอำนาจทางการตลาดสูง กดราคา พ่อค้าคนกลางที่เป็นคนไทยก็จบวงจรลงไป จากเมื่อก่อนที่วัตถุดิบมาจากจันท์และประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้น้อยมาก แม้แต่แอฟริกาก็เริ่มลดลงแล้ว ดังนั้นทำอย่างไรให้ได้วัตถุดิบมาสะดวกขึ้น เช่น ถ้ามีการประมูลพลอยก้อน ควรจะให้มาประมูลที่จันทบุรีโดยตรงจะดีกว่า ซึ่งการให้ไปประมูลที่สิงคโปร์หรือจีน อินเดีย มาเลเซีย ระยะทางไกลไป เพราะประมาณ 80% ไปจากจันทบุรีทั้งนั้น อีกอย่างความสามารถในการเผา การเจียระไนเรามีความสามารถ เป็นจุดแข็งของเรา ถ้านำมาทำที่นี่ได้จะสร้างมูลค่าเพิ่มและตลาดแรงงานก็จะดีขึ้น จะช่วยส่งเสริมได้มาก เพราะตลาดอัญมณีปีที่แล้วมูลค่า 4 แสนล้านบาทเลยทีเดียว ถ้านำมาทำที่จันทบุรีได้สัก 10% ของ 4 แสนล้าน ไม่ใช่น้อยเลย ตรงนี้อยากให้รัฐบาลใส่ใจมองเป็นยุทธศาสตร์ว่าต้องรักษาไว้สมกับที่จะทำให้จันทบุรีเป็น นครอัญมณี”

ฟังประธานหอการค้าอัพเดตสถานการณ์แล้ว จะเห็นว่าจันทบุรีที่กล่าวมาเป็นเมืองสำคัญอย่างมาก เป็นทั้งเมืองท่องเที่ยวและเมืองที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ


Content Team Matichon Academy
[email protected]
0-2954-3971 ต่อ 2111
ติดตามอ่านข่าวสารได้ที่ www.matichonacademy.com

ไม่พลาดข่าวสารอาหาร ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ เกร็ดความรู้
คอร์สเรียนสนุกๆได้ประโยชน์-เสริมอาชีพ
คลิกติดตามเพจเฟซบุ๊ค MatichonAcademy