เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงกรณี นายอำเภอเมือง และปศุสัตว์ จ.ลพบุรี มีนโยบายให้ประชาชนจับนกพิราบมาประกอบอาหาร ว่า จริงๆ แล้วการจะเอานกหรือสัตว์ปีกมากินนั้นหากปรุงสุกคงไม่เป็นอะไร แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ช่วงระหว่างการฆ่า ชำแหละ และการปรุง ซึ่งคนที่ทำส่วนนี้มีโอกาสได้รับเชื้อโรคเข้าไปได้ ซึ่งในนกพิราบมีเชื้อโรคเยอะ ทั้งเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส จำนวนมาก ขึ้นอยู่กับคนที่สัมผัส ถ้าเป็นคนที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ทางหลอดลม โรคปอด พวกสูบบุหรี่ เบาหวาน หรืออยู่ในภาวะที่ภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่องจากสาเหตุต่างๆ อาทิ ติดเชื้อเอชไอวี การรับสารสเตียรอยด์ หรือการรับยาเคมีบำบัด เป็นต้น ก็จะมีความเสี่ยง
“คนที่ได้รับเชื้อเข้าไปจะมี 3 แบบ คือ เชื้อเข้าไปแล้วหลบอยู่หลังโพรงจมูกโดยไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือเข้าไปแล้วทำให้เกิดการติดโรคแต่ไม่แสดงอาการ และหรือติดเชื้อก่อโรคแล้วแสดงอาการ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัวก็ได้ อย่างไรก็ตาม อาการจะรุนแรงหรือไม่ ก็อยู่ที่ตัวเชื้อว่าเป็นเชื้อร้ายแรงแค่ไหน ปริมาณที่เข้าสู่ร่างกายเยอะหรือไม่ และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอนนั้นเป็นอย่างไร คือถ้าระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเชื้อก็เก่งขึ้น ถ้าระบบภูมิคุ้มกันร่างกายแข้งแรงมากก็จะเกิดการต่อสู้กับตัวเชื้ออย่างรุนแรงจนทำให้เกิดการอักเสบ คือไม่มีอะไรดี อย่างไรก็ตาม เรื่องโรคในสัตว์ปีก ตอนนี้ที่อันตรายคือเรื่องของไข้หวัดนก ซึ่งในต่างประเทศก็เคยมีรายงานเจอในบรรดาสัตว์ปีกทั้งหลายแหล่ รวมถึงนกพิราบด้วย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
เมื่อถามว่าโดยสรุปแล้วคนเราควรรับประทานนกพิราบหรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า คนไทยเรากินทุกอย่าง แต่การจะกินอะไรควรเป็นสิ่งที่มีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย ถ้าเรามีอาหารที่จำเป็น ที่เพียงพอและไม่เป็นอันตรายอยู่แล้ว จะไปแสวงกินของที่ไม่จำเป็นทำไม โดยเฉพาะสัตว์ปีกที่นอกเหนือจากเป็ด ไก่ เพราะเราไม่รู้ว่าสัตว์ปีก นกพิราบตัวนั้นๆ อมโรคอะไรอยู่หรือไม่ เพราะการที่มันอมโรคอยู่บางครั้งก็ไม่ได้แสดงอาการอะไร