ทำไมน้ำมันส่งออก จึงถูกกว่าราคาขายในประเทศ?

Journal ข่าวสาร

คอลัมน์ แตกประเด็น
โดย อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล สภาปฏิรูปแห่งชาติ


นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

 

ขอเล่าถึงประสบการณ์ในฐานะผู้ที่อยู่ในธุรกิจโรงกลั่นมาก่อนกว่า 30 ปีว่า อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันในประเทศมีที่มาที่ไป

อย่างไรตามข้อเท็จจริง… โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยเกิดขึ้นมารองรับความต้องการใช้ในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ไม่ได้สร้างมาเพื่อการส่งออกน้ำมันไปต่างประเทศ เพราะถ้าสร้างมาเพื่อการส่งออกเหมือนกับโรงกลั่นในประเทศสิงคโปร์ “ไม่คุ้มค่า” ลงทุนแน่นอน และคงไม่มีนักลงทุนที่ไหนจะใส่เงินกว่า 100,000 ล้านบาท เมื่อรู้ปลายทางว่าจะขาดทุนแน่นอน รัฐบาลในอดีตได้เห็น “ความจำเป็น” ที่จะต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในขณะนั้น จึงประกาศเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ

ภาครัฐได้จูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนสร้างโรงกลั่น ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการลดภาษีเงินได้ จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI แต่สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นถ้าราคาน้ำมันที่ผลิตจากโรงกลั่น ไม่ใช้ราคาเทียบเท่าการนำเข้าจากตลาดสิงคโปร์ (ราคาอ้างอิงซื้อขายที่สิงคโปร์+ค่าปรับคุณภาพตามมาตรฐานไทย คือ ยูโร 4+ค่าขนส่ง+ค่าประกัน+ค่าสูญเสีย) ก็ “ยาก” ที่จะมีโรงกลั่นเกิดขึ้นในประเทศไทย และหากไม่มีการลงทุนสร้างโรงกลั่นให้เกิดขึ้นในประเทศก็เท่ากับว่าประเทศจะต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมหาศาล เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานที่ขยายตัวต่อเนื่อง

ในปัจจุบันที่เริ่มเห็นว่ามีการส่งออกน้ำมันบ้างนั้น จะพบว่ามีปริมาณส่งออก “น้อยมาก” ถ้าเปรียบเทียบจากปริมาณการผลิตทั้งหมด เหตุผลที่ต้องมีการส่งออกน้ำมันบางส่วน เพราะโรงกลั่นไม่สามารถเลือกน้ำมันดิบที่จะป้อนเข้าโรงกลั่นได้ ส่งผลให้ผลิตน้ำมันไม่พอดีกับความต้องการในประเทศ รวมไปถึงการใช้กำลังการกลั่นให้เต็มที่เพื่อลดค่าใช้จ่าย จึงทำให้มีน้ำมันสำเร็จรูปบางชนิดผลิตออกมาเกินความต้องการจึงต้องส่งออก

อย่างไรก็ตาม การส่งออกก็ต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ด้วย เช่น โรงกลั่นสิงคโปร์ ราคาส่งออกจึงถูกกว่าราคาในประเทศ แต่ปริมาณและรายได้ส่วนนี้น้อยมาก และบางโรงกลั่นในประเทศก็ไม่ได้ส่งออก เพราะผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดตัวเอง ต้องนำเข้าบางส่วนมาขาย และนำมาผสมให้ได้มาตรฐานไทย และราคานำเข้าก็ต้องรวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ข้างต้นเข้าไปด้วย

ถามว่าแล้วทำไมโรงกลั่นสิงคโปร์จึงอยู่ได้ จากการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก คำตอบคือโรงกลั่นน้ำมันในไทยถ้าสร้างเพื่อส่งออกไม่สามารถแข่งขันได้ ด้วยเรื่อง logistics ที่ด้อยกว่า รวมถึงต้นทุนทางการเงิน และภาษีที่สูงกว่า อีกทั้งสิงคโปร์ยังใช้โรงกลั่นน้ำมันเป็นฐานในการพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้ สำหรับโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่น ที่สมาชิกสภาปฏิรูปด้านพลังงาน ขอให้มีการทบทวน เพราะตัวสูตรราคาที่ใช้ในปัจจุบันถือว่าใช้มานานมากแล้ว การลงทุนบางส่วนคุ้มค่าไปแล้ว หน่วยงานภาครัฐก็ควรพิจารณาปรับปรุงบางส่วนได้