ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาตาเนีย ในประเทศอิตาลี ร่วมกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยไคโร ในประเทศอียิปต์ เปิดเผยถึงการค้นพบชีสที่เก่าแก่ที่สุดในโลกจากสุสานของพทาห์เมส อดีตผู้ปกครองนครเมมฟิส และเป็นข้าราชสำนักระดับสูงในรัชสมัยของฟาโรห์ เซติ ที่ 1 เรื่อยมาจนถึงฟาโรห์ ราเมเซส ที่ 2 ในอียิปต์ยุคโบราณ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเมืองซัคคารา ของประเทศอียิปต์
ทีมนักวิจัยค้นพบ “มัมมีชีส” ดังกล่าวโดยบังเอิญ ขณะตรวจสอบสิ่งของที่ได้จากการขุดค้นก่อนหน้านี้ซึ่งมีขึ้นระหว่างปี 2013-2014 แล้วพบว่าในคนโทแตกใบหนึ่งมีผงสีขาวจับเป็นก้อนแข็งอยู่ภายใน บริเวณใกล้ๆ กันพบผืนผ้าซึ่งเชื่อว่าใช้คลุมหรือห่อเพื่อถนอมอาหารภายในคนโทดินดังกล่าว ลักษณะของผ้าส่อให้เห็นว่า อาหารที่ถูกห่อหุ้มนั้นมีสภาพเป็นก้อนแข็งเมื่อถูกนำเข้ามาใส่ไว้ในสุสานเมื่อนานมาแล้ว
สุสานดังกล่าวสร้างเมื่อ 13,000 ปีก่อนคริสตศักราช ทำให้ทั้งตัวสุสานและชีสที่พบมีอายุ 3,300 ปี เป็นอย่างน้อย
เพื่อให้แน่ใจทีมวิจัยตัดส่วนหนึ่งของชีส ออกมาเพื่อนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการด้วยการละลายตัวอย่างลงในของเหลวพิเศษสำหรับจำแนกโปรตีน พบว่าชีสดังกล่าวมีโปรตีนจากสัตว์ที่แตกต่างกันอยู่ 5 ชนิด 2 ใน 5 ชนิด เป็นโปรตีนที่พบเฉพาะในนมวัว ทำให้ทีมวิจัยสรุปว่าชีสดังกล่าวทำจากนมวัวเป็นหลักและมีส่วนผสมของนมสัตว์อื่น อาทิ แพะ หรือแกะ รวมอยู่ด้วย
การตรวจสอบในห้องแล็บ ทำให้พบด้วยว่าในเนื้อชีสมีโปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับเชื้อ บรูเซลลา เมลิเทนซิส เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคบรูเซลโลซิส ซึ่งแพร่ระบาดจากสัตว์กีบสู่คนได้ และเป็นโรคติดต่อระหว่างคนกับคนได้กว้างขวางมากอีกด้วย
ซึ่งทำให้นอกจากจะเป็นการค้นพบชีสที่เก่าแก่ที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นการค้นพบหลักฐานโรคระบาดในยุคอียิปต์โบราณเป็นครั้งแรกอีกด้วย
ที่มา มติชนออนไลน์