หลังจากที่เปิดตัวโครงการ “สืบสานงานเงิน” ไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทางสยามเจมส์ กรุ๊ป จึงได้จัดแสดง 12 ผลงานเครื่องเงินจากผู้ประกอบการและช่างฝีมือที่ผ่านการคัดเลือกและพัฒนาทักษะฝีมือในโครงการ โดยดึงอัตลักษณ์เครื่องเงินไทยในวิถีต่าง ๆ มาสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบ ที่เน้นการตอบโจทย์ตลาดท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมยกระดับเครื่องเงินไทยสู่สายตาชาวโลก โดยจัดแสดงขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา
นางสาวปนัสยา ทองจินดาวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเจมส์ กรุ๊ป กล่าวว่า โครงการสืบสานงานเงินนั้น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการและช่างฝีมือทั่วประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมเสนอผลงานกับโครงการถึง 33 ราย และมีผู้ผ่านการคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 12 ราย และได้สร้างสรรค์ผลงานจนกลายเป็นเครื่องเงินไทยแบบร่วมสมัยมีอัตลักษณ์โดดเด่น ทางสยามเจมส์ กรุ๊ป รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนช่วยสังคมในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยของชุมชนท้องถิ่น ช่วยต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ และสามารถกระจายรายได้สู่ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน Local to Global
นายฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด สยามเจมส์ กรุ๊ป กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดแสดงผลงานของโครงการสืบสานงานเงินทั้ง 12 ผลงาน สะท้อนถึงอัตลักษณ์เครื่องเงินในวิถีพื้นเมืองแต่ละภาคได้อย่างชัดเจน ซึ่งสามารถแสดงถึงศักยภาพของผู้ประกอบการและช่างฝีมือ ในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ จนได้ชิ้นงานที่สวยงามร่วมสมัย และสามารถจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยทั้ง 12 ผลงาน แบ่งออกเป็นเครื่องประดับ 8 ผลงาน และสินค้าไลฟ์สไตล์ 4 ผลงาน ได้แก่ ชุดอุปกรณ์โต๊ะอาหาร กระดิ่งประดับบ้าน กระเป๋า และกล่องเก็บเครื่องประดับ
“ตอนนี้มาถึงจุดสุดท้ายของโครงการแล้ว เพราะเราเริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ช่วงกลางปี ถือว่าประสบความสำเร็จ เราได้ผลงานชิ้นสุดท้ายหลังจากที่ผู้ประกอบการได้มาเรียนออกแบบ มาอบรมความรู้ทางด้านการตลาดกับเรา ซึ่งได้นำผลงานออกมาโชว์ให้เห็นกันในวันนี้ ซึ่งก็เป็นที่น่าพอใจ ตอนแรกค่อนข้างกังวลใจว่าจะไม่มีคนเข้าร่วม แต่พอเห็นแบบนี้ก็ค่อนข้างชื่นใจว่าโครงการนี้สามารถช่วยเหลือชุมชนในด้านการพัฒนาตัวเองให้ไปสู่ระดับสากล เป็นไปตามแผน 100% ชุมชนเองก็ตื่นตัวให้ความร่วมมือค่อนข้างดีด้วย” นายฐวัฒน์กล่าว
ด้านนางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้น เครื่องประดับเงินถือเป็นกลุ่มสินค้าที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ ปีละประมาณ 1,790 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 58,530 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ โดยประเทศที่เป็นอันดับต้นๆ ที่ไทยส่งออกเครื่องเงินไปนั้น ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี ประเทศจีน
“กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายการส่งเสริมการค้าในด้านต่างๆ ทั้งงานแสดงสินค้า บางกอกเจมส์ แอนด์จิวเวอร์รี่ มีการจัดการเจรจาธุรกิจ Business Matching โดยนำผู้ประกอบการของไทยไปต่างประเทศ เพื่อไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของทั่วโลก โดยที่เรามีโครงการ SMEs Pro-active และในส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการ เรามีหน่วยงานที่ดูแลสินค้า นวัตกรรม และดูแลพัฒนาผู้ประกอบการด้านธุรกิจโดยเฉพาะ”
นายมนตรี นนทธิ จากร้านมนตรีเครื่องเงินสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย หนึ่งในผู้ประกอบการโครงการ “สืบสานงานเงิน” กล่าวว่า ตนนั้นทำเครื่องเงินมาประมาณ 20 กว่าปีแล้ว ก่อนที่จะมาเป็นช่างทำเครื่องเงินเคยทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงกลับไปอยู่บ้าน มีญาติมาสอนให้ทำเครื่องเงิน และคิดได้ว่าของดีมีอยู่บ้าน ทำไมไม่ทำ จึงหันมาทำเครื่องเงินเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้สร้างเอาไว้
“หลังจากเข้าโครงการกับบริษัทสยามเจมส์ กรุ๊ป แล้วมีคนรู้จักมากขึ้น ได้ไอเดียใหม่ ๆ แนวคิดที่จะพัฒนาไปสู่สากล อย่างเมื่อก่อนทำสร้อยคอ กำไล ยังไม่เกิดแนวคิดที่จะสร้างผลงานชิ้นใหม่ที่เป็นของใช้ในบ้าน แต่หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ จึงได้คำแนะนำให้ลองมาทำเป็นของใช้ดูบ้าง โดยการนำลวดลายเครื่องเงินที่เป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัยมาติดบนชิ้นงาน” นายมนตรีกล่าว
ขณะที่นายดรณ์ สุทธิภิบาล จากร้านเครื่องเงินวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ อีกหนึ่งผู้ประกอบการโครงการ “สืบสานงานเงิน” กล่าวว่า ร้านเครื่องเงินวัวลายที่จังหวัดเชียงใหม่นั้นเปิดมาได้ 20 ปี โดยที่ร้านแบ่งผลิตภัณฑ์เป็น 3 ประเภท คือ เครื่องประดับ เครื่องใช้ และของตกแต่ง นอกจากงานเครื่องเงินแล้วที่ร้านยังมีงานเครื่องโลหะ งานทองและงานเพชรพลอยอีกด้วย
“หลังจากที่เข้าร่วมโครงการสืบสานงานเงินจากการที่ทางสยามเจมส์ กรุ๊ป และผ่านการคัดเลือกเข้ามาสู่รอบจัดแสดงที่สยามพารากอน ในส่วนผลการตอบรับนั้นคิดว่ายังไม่สามารถชี้วัดทางด้านยอดขายได้ แต่การได้เข้าร่วมโครงการทำให้ได้รับการพัฒนาในเรื่องของกระบวนการต่าง ๆ ทั้งเรื่อง แนวคิดการนำอัตลักษณ์มาใช้ในการออกแบบการผลิต และแนวคิดเรื่องทางด้านการตลาด ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะนำไปสู่ของการชี้วัดยอดขายแน่นอน” นายดรณ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการ “สืบสานงานเงิน” จะเดินมาถึงจุดสุดท้ายแล้ว แต่สำหรับในปีหน้า ทางสยามเจมส์ กรุ๊ป มีแผนที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการในปีนี้ไปต่อยอดในระดับอุดมศึกษา คือการนำความรู้ในเรื่องของการออกแบบ อัตลักษณ์ชุมชน ไปถ่ายทอดต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาได้ต่อยอดในชิ้นงานของตนเองต่อไป