รายงานโดย ณัฐกานต์ สอนโยหา, ภัทรสุดา พิบูลย์
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “อุตสาหกรรม” เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตและก้าวหน้าได้ แต่ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมก็มีผลกระทบต่อระบบนิเวศมากเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้ประกอบการ ภาครัฐ และเอกชนเองก็ได้ตระหนักถึงผลเสีย จึงต้องเร่งเข้ามาแก้ไข ปรับตัว และพัฒนาระบบอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นให้โรงงานและอุตสาหกรรมให้มีระบบการจัดการที่ดี สอดคล้องกับสังคมในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
ดังเช่น “สมาคมเพื่อนชุมชน” ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในมาบตาพุดและชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน โดยปีนี้ได้เข้าสู่ปีที่ 9 ซึ่งผู้ประกอบการตั้งเป้าว่าจะต้องยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาให้นิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดระยองกลายเป็น “อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อันดับ 3” ให้ได้
แล้วจะพัฒนาจังหวัดระยองให้เป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้อย่างไรนั้น? ลองไปดูแนวคิดจากภาคส่วนต่างๆ ในวงเสวนาเรื่อง “การขับเคลื่อนเมืองระยองสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” ในงานก้าวสู่ปีที่ 9 ของสมาคมเพื่อนชุมชน ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
สู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศอันดับ 3 ด้วยการวางยุทธศาสตร์
“ธีรวัฒน์ สุขสุด” รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนระยองสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อันดับ 3 ว่า มุมมองที่จะประสบความสำเร็จ เป็นเรื่องของการวางยุทธศาสตร์ในจังหวัดระยอง ซึ่งได้กำหนดไว้ 6 ด้าน ในด้านแรกต้องย้อนไปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ได้กำหนดไว้ยุทธศาสตร์ของจัวหวัดไว้ 3 ขา คือ การพัฒนาทางด้านเกษตร ด้านการท่องเที่ยว และด้านอุตสาหกรรม ซึ่งยกให้อุตสาหกรรมเป็นปัจจัยหลักที่สร้างรายได้กับจังหวัดระยองอย่างมหาศาล โดยภายหลังได้ปรับกลยุทธ์เพื่อพัฒนาจังหวัดระยองขึ้นมาใหม่ โดยเพิ่มอีก 3 ขา รวมเป็น 6 ขา ซึ่งได้แก่ การพัฒนาด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และที่สำคัญคือด้านบริการ ชุมชน ซึ่งปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดคือการร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมไปถึงองค์กรในชุมชน
“จังหวัดระยองโชคดีที่มีภาคเอกชนและอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม หอการค้า ตลอดจนผู้บริหารทุกท่านที่ให้ความใส่ใจและคำนึงถึงตลอด เมื่ออยู่ที่ไหนแล้ว ต้องทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรที่ดีต่อกันทั้งด้านอุตสาหกรรม ด้านท่องเที่ยว ด้านเกษตร นี่จะเป็นปัจจัยสำคัญด้านบูรณาการทุกภาคส่วน” รองผู้ว่าฯระยองกล่าว
นายธีรวัฒน์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสมาคมเพื่อนชุมชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว ที่ผ่านมาเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ทางรัฐได้ให้การสนับสนุนในหลากหลายกิจกรรม ทั้งในด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ และเรื่องของสาธารณสุขพื้นฐาน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาลที่มีมากถึง 440 อัตรา และมีทุนให้กว่า 6 หมื่นบาทต่อปี ที่สำคัญที่สุด เพื่อนชุมชนทำให้ระบบการจัดการภายในที่ดีขึ้น และคุณภาพชีวิตของประชาชนมีความสุข
ปี’64 ทุกนิคมต้องได้รางวัล Eco Champion
“ประทีป เฉ่งอ้วน” ผู้ช่วยผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงทิศทางของอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในยุค 4.0 ว่า การนิคมฯได้ขับเคลื่อนเรื่องของนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมานานกว่า 10 ปีแล้ว ด้วยแนวทาง 5 มิติ ซึ่งได้แก่ มิติกายภาพ มิติด้านสังคม มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสิ่งแวดล้อม และมิติด้านการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ในช่วงปีที่ผ่านมามีนิคมทั้งหมด 32 นิคมได้รางวัล Eco Champion มาแล้วกว่า 23 นิคม และ Eco Excellence อีก 4 นิคม โดยใน 5 มิตินั้นมีความสำคัญมาก ต้องดูแลและจัดการเพื่อให้เกิดความสมดุลและเติบโตไปข้างหน้าให้ได้ ซึ่งในมิติของการบริหารจัดการคือ นิคมมาบตาพุดเป็นนิคมนำร่องในเรื่องการนำหลักธรรมาภิบาลเข้ามาใช้ เน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน เน้นการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการทำงาน ประกอบไปด้วย ภาคเอกชน ท้องถิ่น และภาคจังหวัด เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบและประเมินโรงงาน โดยจะมีตัวชี้วัดเป็นเกณฑ์ กำหนดขึ้นมาโดยให้ความสำคัญจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
“ในเรื่องการผลักดันไปสู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ทางการนิคมฯได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 โดยมีนิคมนำร่องในการขับเคลื่อน ทำให้ปัจจุบันมีนิคมที่ได้รับรางวัล Eco Champion ถึง 23 นิคม และเป้าหมายปี 2564 ทุกนิคมที่พัฒนาแล้วจะต้องได้รับ Eco Champion ส่วนในปี 2562 ต้องมีนิคม Eco Excellence ประมาณ 4 นิคม และ Eco World Class อีก 2 นิคมอุตสาหกรรม เราต้องยกระดับและพัฒนาไปเรื่อยๆ และตั้งใจว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับพัฒนา รวมถึงช่วยขับเคลื่อนให้จังหวัดระยองกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับ 3 ตามที่กำหนดให้ได้” นายประทีปกล่าว
ชู “เพื่อนช่วยเพื่อน” ให้โรงงานช่วยเหลือกัน
“วริทธิ์ นามวงษ์” อุปนายกสมาคมเพื่อนชุมชน กล่าวว่า สมาคมเพื่อนชุมชน จัดตั้งขึ้นเพื่อคอยประสานงานและช่วยขับเคลื่อนให้เมืองระยองไม่หยุดอยู่แค่การเป็นโรงงานเชิงนิเวศ แต่จะกลายเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
“วิธีการคือต้องให้เพื่อนช่วยเพื่อน เป็นการให้โรงงานที่เข้มแข็งกว่า ไปช่วยโรงงานที่ยังไม่เข้มแข็ง โดยการเข้าไปสอนและช่วยดูแล เราต้องการให้กลายเป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งต้องพึ่งพาทั้งทั้งภาครัฐ ภาคชุมชน เพราะเป้าหมายคือการมีเศรษฐกิจที่ดี ทำให้ส่งผลดีต่อชุมชนในด้านการสร้างอาชีพและรายได้ ตามมาด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดี น้ำดี อากาศดี ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่จะผลักดันให้ระยองกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ”
อุปนายกสมาคมเพื่อนชุมชนกล่าวอีกว่า ชุมชนที่ประสบความสำเร็จจากการช่วยเหลือของทางสมาคมก็คือ ชุมชนเป่ากบ ปัจจุบันเป็นชุมชนต้นแบบที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง มีผลิตภัณฑ์ที่ทำโดยคนในชุมชน ถือเป็นการสร้างอาชีพ นอกจากนี้ยังมีการออกกำลังกายกันในชุมชน ทำให้สุขภาพดี
วอนจัดหาสถานที่ออกกำลังกาย-หนุนทุนการศึกษา
ด้าน “ชูเดช จันทร์ศิริ” ประธานชุมชนซอยประปา จ.ระยอง มีความเห็นว่า การออกกำลังกายมีทุกชุมชนอยู่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันคนเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น แต่ปัญหาหลักจะอยู่ที่ในชุมชนไม่มีสถานที่ที่จะใช้ออกกำลังกาย ซึ่งทางตนได้เสนอต่อที่ประชุมไปแล้วหลายครั้งว่าต้องการหาสถานที่ให้แก่ชาวบ้าน เนื่องจากอยากได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ ให้ช่วยจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อให้คนในชุมชนได้ใช้ออกกำลังกายและทำกิจกรรมร่วมกันได้มากขึ้น
“อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณสมาคมเพื่อนชุมชน ที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน ซึ่งไม่ใช่แค่ชุมชนซอยประปา แต่รวมไปถึงทุกชุมชนที่ได้รับการสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องของทุนการศึกษา เพราะในชุมชนเองก็ได้จัดหางบเพื่อมอบเป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่มีผลการเรียนดี ให้เขาไปได้ไกลมากขึ้น เพราะมองว่าประชาชนเป็นภาคที่อ่อนแอที่สุด จึงอยากให้ผู้ประกอบการหันมาช่วยเหลือในส่วนนี้ให้มากขึ้น” ชูเดชกล่าว
เป็นอีกความหนึ่งโครงการที่ได้เห็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในการช่วยกันผลักดันและพัฒนาให้จังหวัดระยองกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และพร้อมที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม