เรื่อง : กมลชนก ครุฑเมือง
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการสำรวจสถานภาพผู้ประกอบรถจักรยานยนต์รับจ้าง เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปสู่แนวทางการช่วยเหลือพัฒนา ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์สามารถผ่อนได้โดยที่ไม่มีปัญหาทางการเงิน พร้อมยกระดับอาชีพขนส่งสาธารณะให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมในเรื่องของเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถสร้างรายได้เข้าสู่สังคม ลดต้นทุนการเดินทางได้
ผศ.ดร.ธนวรรธณ์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จำนวนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่ได้รับใบอนุญาตในเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล 73.57% จากทั่วประเทศ มีรูปแบบการให้บริการที่มีหลายแบบโดยเฉลี่ยแล้ว แบบรับ-ส่งทั้งผู้โดยสารและสิ่งของ 48.99% แบบรับส่งผู้โดยสารเพียงอย่างเดียว 36.60% และแบบรับ-ส่งเอกสารและสิ่งของเพียงอย่างเดียว 14.40% ซึ่งจะมีทั้งทำเป็นอาชีพหลักและทำเป็นอาชีพเสริม แต่ก็ยังผู้ขับขี่ที่ไม่มีการจดเบียนรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะอีก 29.94% เหตุผลที่ไม่จดคือไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก ค้าเช่าเสื้อวินแพง ไม่มีวินสังกัด ใช้สำหรับขนของเท่านั้น และอื่น ๆ จึงทำให้เกิดปัญหารถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะขึ้นตามด้วย ดังนี้
1. การทะเลาะวิวาท การแย่งลูกค้าระหว่างวินรถจักรยานยนต์รับจ้างและ Grab bike
2. ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของลูกค้า
3. บอกค่าโดยสารเกินราคาที่กำหนดให้กับลูกค้า
4. วินรถจักรยานรับจ้างเถื่อน ไม่มีใบอนุญาต
5. มารยาทในการขับขี่ บริการไม่สุภาพ
6. จอดรถทางเท้าไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย กีดขวางทางจราจร
โดยผู้ขับขี่จะอยู่ในช่วงวัยทำงานที่จะต้องดูแลครอบครัว คือช่วงอายุ 31-50 ปี จะมีระยะเวลาขับขี่ รถจักรยานยนต์รับจ้างหารายได้เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 4-6 ปี เป็นส่วนใหญ่ และปริมาณการขับรถจักรยานยนต์เฉลี่ยต่อวันแล้วได้ 41 เที่ยว/วัน และ 25 วัน/เดือน รายได้รายได้ทั้งหมดเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 1,500-2,000 บาทต่อวัน โดยที่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบในครอบครัว
จากผลสำรวจจะพบว่าผู้ขับขี่ที่มีบ้านเป็นของตัวเองจะมีอยู่ 22.42% เช่าอาศัย 44.76% และอยู่กับครอบครัวญาติพี่น้อง 32.82% จะเห็นได้ว่าเปอร์เซ็นต์ของผู้ขับขี่ที่เช่าอาศัยอยู่นั้นจะมีมากกว่าที่จะมีบ้านเป็นของตัวเอง ทำให้เห็นว่าอาชีพนี้ยังมีความมั่นคงไม่เพียงพอ และโดยส่วนใหญ่ของผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ยังคงมีหนี้สิน 69.40% ซึ่งมีทั้งหนี้ในระบบ 46.58% ที่สามารถกู้ได้ และ 53.02% ที่ไม่สามารถกู้ได้ นอกจากนี้ยังมีหนี้นอกระบบ 74.22% อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 7.29/เดือน 11.18% อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 4.53/สัปดาห์ และ 14.60% อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.52 /วัน
โดยการผ่อนชำระหนี้สิ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา 57.64% จะผิดนัดชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนบ้าน ผ่อนรถจักรยานยนต์ เนื่องจากการเงินขัดคล่อง หมุนเงินไม่ทัน ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และเศรษฐกิจตกต่ำคนใช้บริการลดลง
รายได้ที่ได้จากการขับขี่จักรยานยนต์เฉลี่ยอยู่ที่ 24,370.25 บาทต่อเดือน ต้นทุนโดยเฉลี่ยรวมการขับขี่รถจักรยานยนต์อยู่ที่ 11,633.64 บาทต่อเดือน กำไรจากการขับขี่จักรยานยนต์ 12,736.61 บาทต่อเดือน
ภาระในการดูแลสมาชิกในครอบครัวจากรายได้ในการขับขี่ 4 คน โดยเฉลี่ยต่อเดือนรายได้ต่อสมาชิกครัวเรือนคือ 3,184.15 บาทต่อเดือน และผลจากการสำรวจผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างมีความเห็นว่าอัตราค่าโดยสารควรเริ่มต้นที่ 33.02 บาท
ผศ.ดร.ธนวรรธณ์ กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มการให้บริการรับส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชั่นร้อยละ 35.80 ทั้ง Line Man , Grab (bike), UberMOTO, Gobike, BananaBike, SendRanger, LaLamove และ Skootar ส่วนกลุ่มที่ไม่มีการให้บริการรับส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชั่นร้อยละ 64.20
ทั้งนี้ การที่มีกลุ่มการให้บริการรับส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชั่น ทำให้เกิดผลกระทบต่อกลุ่มที่ไม่มีการให้บริการรับส่งผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชั่น เนื่องจากลูกค้าส่วนมากไม่เดินมาขึ้นที่วิน ทำให้จำนวนลูกค้าลดน้อยลงจากเดิม
นายประเสริฐ ชัยชาญอุดมสุข ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม กล่าวว่า อาชีพขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างนั้นเป็นผู้ประกอบการขนาดย่อม การเข้าถึงระบบจังเป็นเรื่องยากในการไม่มีประวัติชำระหนี้สิน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมจึงได้ร่วมมือกับ SMEs bank ปล่อยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าสู่ระบบในจำนวนเงินที่เหมาะสม สามารถผ่อนคืนได้ตามที่กำหนด ได้เริ่มต้นสร้างประวัติการชำระหนี้ที่ดีกับสถาบันทางการเงิน และนำเงินไปผ่อนรถจักรยานยนต์เพื่อนำไปประกอบอาชีพ หรือนำไปหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ พร้อมช่วยเหลือค่าบำรุงรักษา ค่าประกันภัย ไว้ในราคารถที่จะขอสินเชื่อ และส่งเสริมโครงการช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันของรัฐ
ด้านความต้องการของผู้ประกอบการขับรถจักรยานยนต์เพื่อหารายได้ เงินทุนเฉลี่ยที่ต้องใช้สำหรับการมีจักรยานยนต์ใหม่ คือ 61,817.03 บาท โดยมี 27.49% ที่สนใจเข้าร่วมโครงการค้ำประกันเงินกู้โดยการทำการกู้กับ SMEs bank เพื่อซื้อรถจักรยานยนต์เป็นของตัวเอง
สำหรับผลสำรวจสิ่งที่ผู้ประกอบการขับรถจักรยานยนต์ต้องการได้รับจากภาครัฐ คือ ควบคุมราคาสินค้า เช่น ราคาน้ำมัน ราคาเช่าเสื้อวิน ราคาสินค้าทั่วไป เป็นต้น
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องการได้รับจากภาครัฐอีกคือ ปรับราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากเดิม จัดระเบียบและบทลงโทษให้เคร่งครัด สนับสนุนให้มีโครงการสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำและเข้าถึงง่าย ในส่วนสิ่งที่ต้องการได้รับจากธนาคารของรัฐ คือ ปล่อยเงินกู้โดยไม่เสียดอกเบี้ย หรือลดอัตราดอกเบี้ย เพิ่มสินเชื่อ โดยไม่ต้องมีหลักประกัน อำนวยความสะดวกในด้านขั้นตอนการดำเนินการให้ง่ายขึ้น