เรื่อง : ณัฐกานต์ สอนโยหา
ปัจจุบันเทคโนโลยีเรื่องของพลังงานได้เข้ามามีบทบาทต่อผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากพลังงานน้ำมันที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งนับวันเริ่มแผ่ขยาย ทำให้ส่งผลเสียไปถึงสุขภาพและการเป็นอยู่ของคนในประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เห็นได้จากปริมาณรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มีจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
จากสภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ทำให้หลายองค์กรเริ่มตื่นตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ และผู้ประกอบการในหลายภาคส่วน ที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงาน และผลักดันให้เกิดเทคโนโลยียานยนต์ (EV – Electronic Vehicle) ให้เข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้บริโภคได้รับประโยชน์ร่วมกัน พร้อมทั้งลดมลพิษทางอากาศในระยะยาว
การนำนวัตกรรมยานยนต์ (EV) เข้ามาใช้นั้น จะก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียอย่างไร ลองไปดูแนวคิดที่ได้จากวงสนทนาเรื่อง “การเสวนานวัตกรรมยานยนต์ (EV) เพื่อลดมลภาวะ” ในงานแถลงข่าวผลสำรวจทัศนะสถานภาพผู้ประกอบการจักรยานยนต์รับจ้าง และการเสวนานวัตกรรมยานยนต์ (EV) เพื่อลดมลภาวะ ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยาบาลเศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวถึง ข้อมูลและสถานภาพของผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้าง ว่า จากการสำรวจในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และในเขตปริมณฑลพบว่า มีผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนตามกฎหมายมากที่สุด ซึ่งดูจากสถิติแล้วมีมากถึง 1 แสนคัน เฉลี่ยแล้วจะมีผู้ที่ใช้บริการจักรยานยนต์รับจ้างมากถึง 1-5 ล้านคนต่อวัน
“ปัญหาที่พบส่วนใหญเป็นปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่ขัดแย้งกันทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ โดยผู้ใช้บริการจะให้ความเห็นว่าราคาแพงเกินไป แต่ผู้ให้บริการจะมีความเห็นว่าตนนั้นได้ค่าจ้างน้อยเกินไป ซึ่งปัญหาด้านการเงินที่ไม่มั่นคงเช่นนี้ ทำให้เข้าถึงปัจจัย 4 ได้ยาก และส่งผลโดยตรงไปถึงบุคคลในครอบครัว เพราะถ้าหากค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ ก็อาจจะส่งผลให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือไม่เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลระยะยาวไปถึงอนาคต ทำให้บุคคลเหล่านี้แก้ปัญหาด้วยการกู้เงินนอกระบบ ที่มีดอกเบี้ยสูง ทำให้ผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้างต้องการเข้าถึงสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อไปปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิต และใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน” ผศ.ดร.ธนวรรธน์กล่าว
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ยังได้กล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับรายได้ของผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้าง และข้อดีของการนำนวัตกรรมยานยนต์ (EV) หรือรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ว่า “วินมอเตอร์ไซค์เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการขับเคลื่อนประเทศ เนื่องจากเป็นยานพาหนะที่ไปมาสะดวก แต่ก็เป็นอาชีพที่ใช้น้ำมันเยอะ มีส่วนที่ทำให้เกิดฝุ่นจิ๋วขึ้น ถ้าเราส่งเสริมตามมาตรฐานยุโรปที่ใช้ไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมัน อย่างเช่นการใช้รถมอเตอร์ไซค์ที่เป็นไฟฟ้า น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะทำให้ประหยัดต้นทุนและทำให้ลดค่าใช้จ่ายค่าพลังงาน เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับวินมอเตอร์ไซค์ และยังส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับบทบาทตามมาตรฐานโลก ส่งสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย และทำให้ต้นทุนของการดำเนินธุรกิจของวินมอเตอร์ไซค์มีกำไรมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น” ผศ.ดร.ธนวรรธน์กล่าว
ชี้ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ประสิทธิภาพสูง-ลดการเกิดมลพิษ
ดร.อดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรม EV ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมว่า เทรนด์ของยานยนต์ในอนาคต หรือที่เรียกว่า ACES มีโอกาสที่จะขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ เห็นได้จากการที่เราสามารถเปิดแผนที่ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้สามารถเชื่อมโยงได้ทุกที่ที่จะไป เหตุผลที่บ่งชี้ว่า EV เป็นสิ่งสำคัญมี 2 ประเด็นหลักๆ คือ 1.มีประสิทธิภาพสูงสุด 2.ลดการเกิดมลพิษ และในอนาคตคาดว่ารถยนต์อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ถ้าหากว่ารถไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่ให้บริการอย่างทั่วถึง ส่วนเรื่องการชาร์จก็ไม่มีปัญหา เนื่องจากมีสถานีชาร์จพลังงาน โดยข้อมูลล่าสุดมีถึง 250 สถานี จึงคาดว่ารถจักรยานยนต์น่าจะมีศักยภาพที่ดีเพียงพอที่จะเปลี่ยนเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากต้นทุนพลังงานไฟฟ้าถูกกว่าพลังงานน้ำมันมากกว่าถึง 10 เท่า ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามาก
สถาบันยานยนต์พร้อมปรับตัว เตรียมพร้อมทดสอบแบตเตอรี่
นายธนวัฒน์ คุ้มสิน รองผู้อำนวยการ สถาบันยานยนต์ กล่าวถึงแนวทางสนับสนุนเกี่ยวกับนวัตกรรม EV ว่า อุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมชั้นนำ บทบาทของสถาบันยานยนต์ก็คือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการในเมืองไทย ดังนั้นทางสถาบันยานยนต์จึงต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวให้เท่าทันตลาดโลก ซึ่งนอกจากการผลิตแล้ว ทางองค์กรยังได้พัฒนาและเตรียมพร้อมเรื่องการทดสอบแบตเตอรี่ เพราะแบตเตอรี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า และใช้เกณฑ์การทดสอบตามมาตรฐานระดับโลก เพื่อให้ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ส่งออกระดับต้นๆ ของโลก
ดัน “ตุ๊กตุ๊ก” สู่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อคนไทย
ผศ.ดร.ชนะ เยี่ยงกมลสิงห์ อุปนายกสมาคม ฝ่ายวิชาการ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวถึงที่มาของสมาคมยานยนต์ว่า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าเลือกส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ เริ่มต้นโดยการมองเห็นว่ายานยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมและความประหยัด จึงต้องการเผยแพร่และต้องการให้ทุกคนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงกันมากขึ้น ส่วนโครงการแรกที่สมาคมทำคือการจัดตั้งสถานีหัวจ่ายไฟฟ้า กระจายออกไปกว่า 220 หัวจ่ายทั่วประเทศ ต่อไปคือการรวบรวมผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดวัตถุประสงค์เดียวกัน เพื่อต่อยอดให้ผู้ที่ใช้รถไฟฟ้าสามารถใช้สมาร์ทการ์ด กิจกรรมต่อมาคือการสร้างต้นแบบรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย และยังใช้กันอยู่ในประเทศ จึงอยากที่จะเข้ามาผลักดันและสร้างมาตรฐานให้รถตุ๊กตุ๊กของคนไทย และอยากที่จะผลักดันให้มีการจดทะเบียนป้ายขาวนิติส่วนบุคคล และจะเป็นรถคันเดียวที่เป็น Made in Thailand 100 เปอเซ็นต์ นอกจากนี้ สมาคมยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันเกี่ยวกับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้าด้วย
ด้านนายมงคล สีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเสริมเกี่ยวกับเรื่องบทสรุปของผู้ประกอบการรถรับจ้างและนวัตกรรม EV ว่า รถจักรยานยนต์รับจ้าง มีผลต่อชีวิตคนเมืองสูงมาก ที่เห็นได้ชัดเลยคือที่ประเทศจีนมีการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และคาดว่ามีมากถึงร้อยล้านคัน และได้มีการพัฒนาความสามารถขึ้นไปเรื่อยๆ
“ผมคิดว่าประเทศไทยมาถึงจุดจุดหนึ่งที่ต้องหันกลับมาทบทวนการนำนวัตกรรมไฟฟ้าเข้ามาใช้ เพราะสามารถลดทอนปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ โดยจุดเด่นของนวัตดรรมไฟฟ้า คือความเสถียรของระบบไฟฟ้าที่เทียบเท่าระดับโลก และค่าไฟฟ้าที่ถูกมาก ถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้หันมาใช้ยานยนต์ EV ก็จะช่วยเรื่องการลดต้นทุน และลดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ถึงเวลาแล้วที่ทางภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงคนที่อยู่ในชุมชนเมือง จะต้องร่วมมือในการเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมและสิ่งต่างๆ จะดีขึ้น” นายมงคลกล่าวทิ้งท้าย
ถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ผู้ประกอบการช่วยกันผลักดันให้นวัตกรรมยานยนต์เข้ามามีบทบาทในสังคม รวมถึงความการต้องการที่จะเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้าง และความต้องการในการนำนวัตกรรม EV เข้ามาใช้เพื่อลดมลพิษในอนาคต