เรื่อง : กมลชนก ครุฑเมือง, ภาพ : สหชาติ สุวรรณราช
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิด Innogineer Studio ศูนย์เมคเกอร์สเปซอัจฉริยะที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีความมุ่งหวังว่าประเทศไทยจะสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม พัฒนาผู้ประกอบการจาก SME สู่ Startup ปลูกฝัง Entrepreneurial Mindset ให้กับนักศึกษารุ่นใหม่รวมถึงศิษย์เก่า
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โลกของทุกวันนี้และอนาคตเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล ท่ามกลางการแข่งขันที่ร้อนแรง นวัตกรรมต่างๆ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของภาครัฐเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องร่วมด้วยช่วยเหลือกัน ทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษา อุตสาหกรรม และทุกภาคส่วนที่จะต้องช่วยกันสนับสนุนคิดค้นเทคโนโลยีและต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ ให้มีการพัฒนาขึ้นไปให้สูงที่สุด และเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้เปิด Innogineer Studio ศูนย์เมคเกอร์สเปซอัจฉริยะที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นรูปธรรม โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง พร้อมเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษา ทั้งให้ความสำคัญของการส่งเสริมผลักดันเมคเกอร์และผู้ประกอบการสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ให้มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นฟันเฟืองสำคัญที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้ และสร้างนวัตกรรมออกมาได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาแก่สังคมและภาค อุตสาหกรรมได้
“Innogineer Studio แห่งนี้นับว่าเป็นศูนย์เมคเกอร์สเปซที่ครบครันทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีพัฒนาต้นแบบประสิทธิภาพสูง โดยระบบนิเวศแห่งนี้จะบ่มเพาะนักศึกษาและเมคเกอร์รุ่นใหม่ให้มีพื้นที่ในการแสดงออก ฝึกฝนความรู้ความสามารถให้พัฒนายิ่งขึ้น เข้าถึงและก้าวทันเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสามารถนำองค์ความรู้มาพัฒนาเพิ่มศักยภาพต่อยอดนวัตกรรม รวมถึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและมนุษยชาติสืบเนื่องต่อไป”นายแพทย์อุดม กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในวาระครบรอบ 131 ปี ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยที่สร้างคุณูปโภคแก่สังคมไทยและนานาชาติมาอย่างยาวนาน ด้วยวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งจะเป็น “World Class University” มหาวิทยาลัยระดับโลก และคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็มีความมุ่งมั่นสู่เป้าหมายที่จะเป็น “World Class Engineering”เช่นกัน จึงเปิดศูนย์ Innogineer Studio ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดที่มุ่งหวังสร้างสังคมนวัตกรรมและผู้ประกอบการ ให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม บ่มเพาะความรู้และปลูกฝังการเป็นผู้ประกอบการ และทักษะด้านเทคนิคชั้นสูง ให้กับนักศึกษา เมคเกอร์ สตาร์ตอัพ วิศวกรและนักวิจัยสาขาต่างๆ เป็นพื้นที่อิสระทางความคิด ปลดปล่อยจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวว่า ศูนย์ Innogineer Studio จะเชื่อมต่อกับระบบสนับสนุนของมหาวิทยาลัยมหิดล (Entrepreneurial Ecosystem) ในหลายๆส่วน อาทิ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ที่สนับสนุนการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์สำหรับนักศึกษาที่มีแนวคิดในการทำธุรกิจอีกด้วย และหวังจะดึงดูดเมคเกอร์และสตาร์ตอัพเข้ามาใช้บริการ โดยศูนย์ Innogineer Studio มีพื้นที่รวมกว่า 800 ตารางเมตร ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีระดับโลกที่ประกอบไปด้วย Mechanical Studio, Milling Machine, CNC Machine Electric Studio เต็มไปด้วยความก้าวหน้าของอุปกรณ์ เช่น Electronic Supplier, Microcontroller, Oscilloscope, Power Supply และ Funtion Generator Assembly Studio มีอุปกรณ์ต่างๆ เช่น 3D Scanner ความละเอียดสูงแบบหัวเข็มพร้อมเลเซอร์สแกนเนอร์ (3D Laser Scanning Arm CMM System) Prototyping Studio เช่น 3D Printer, อุปกรณ์ขึ้นรูปพลาสติกแบบ 3D Machine Studio ประกอบไปด้วย เครื่องตัดโลหะ และเครื่องกลึง
Gallery Room เป็นพื้นที่ที่แสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมต่างๆ
นอกจากนี้ยังมี Co-Working Space เป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้และสร้างนวัตกรรม รองรับคนได้ 30-40 คน Meeting Studio พื้นที่ห้องประชุมที่รองรับผู้คนได้ 20-30 คน พร้อมทั้งมีเครื่องเสียงและจอแอลซีดีโปรเจ็คเตอร์ให้บริการ Innogineer Studio Shop ที่สำหรับจัดโชว์เคสแสดงผลงานนวัตกรรมต่างๆ ที่ได้ยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งสามารถใช้งานจริงได้
“สำหรับแผนงานในอนาคตของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็น Innovation Hub ที่ใหญ่ที่สุดของทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ โดยร่วมมือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการพัฒนาระบบรางและผังเมืองน่าอยู่ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง ในด้านศูนย์ศึกษาวิจัยและนวัตกรรมครบวงจร” ผศ.ดร.จักรกฤษณ์กล่าว
ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานนวัตกรรม ซึ่งมีตัวอย่างผลงานที่ได้ยื่นจดทะเบียนแล้ว 9 ผลงาน คือ 1.จับใจ (Jubjai) แชทบอทเฝ้าระวังผู้มีภาวะซึมเศร้ายนโลกออนไลน์ 2.”ฝึกฝน” นวัตกรรมบำบัดสมองและแขน 3.เดินดี (Dearndee) เครื่องกระตุ้นเท้าแบบพกพาด้วยไฟฟ้า ตามจังหวะก้าวเดิน 4. Alertz อุปกรณ์ช่วยเตือนหลับในขณะขับรถด้วยสัญญาณสมอง 5.แม่พิมพ์หล่อซีเมนต์กระดูกแบบปรับเปลี่ยนตามกายภาพของผู้ป่วย 6.รถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสัญญาณสมอง 7.อุปกรณ์ขนาดพกพาเพื่อการตรวจวัดแร่ธาตุในพลาสมา 8.อุปกรณ์ตรวจวัดสารเบนซีนในอากาศแบบพกพา 9.การแข่งขันยานยนต์ Formula Student