วันที่ 13 มีนาคม 2562 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือกับ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED), สถาบันอาหารแห่งชาติ (NFI) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัว 3 โครงการ เพื่อยกระดับความสามารถผู้ประกอบการ ให้ได้มาตรฐานไทยด้วยการจัดการและการตลาดแบบมืออาชีพ นำไปสู่มาตรฐานโลก
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า โครงการเพื่อยกระดับความสามารถผู้ประกอบการท้ง 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการประชารัฐเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และ SMEs ก้าวสู่ตลาด 4.0 (OTOP SMEs TRANFORMER 4.0) 2.โครงการยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และ 3.โครงการยกระดับผู้ประกอบการชุมชนต้นแบบที่มีศักยภาพก้าวสู่ SME (Micro to be SMEs) ทั้ง 3 โครงการมีเป้าหมายเพื่อต้องการยกระดับการทำงานเชิงลึกของภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยจะเน้นในเรื่องเครื่องมือหรือวิธีการที่จะพาผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจชุมชน SMEs หรือแม้ OTOP ให้ได้มาตรฐานไทย เพื่อนำสู่มาตรฐานโลกต่อไปในอนาคต
“โดยโครงการประชารัฐเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ก้าวสู่ตลาด 4.0 (OTOP SMEs TRANFORMER 4.0) เป็นโครงการที่ สสว.ดำเนินการร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เน้นการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจและการตลาดให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและ SMEs ไทย ก้าวสู่มาตรฐานไทย ก่อนต่อยอดสู่มาตรฐานโลก ตามแนวคิด SME Standardization มาตรฐานไทย สู่มาตรฐานโลก” นายสุวรรณชัยกล่าว
นายธนนนท์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ แก้ปัญหาหลักซึ่งเป็นอุปสรรคการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะเรื่องการขาดความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจที่แข่งขันได้โดยคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยจะอาศัยโมเดล OTOP SMEs Transformer 4.0 ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้แข่งขันด้วยปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ สามารถตอบสนองและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าแม่นยำด้วยระบบข้อมูลเชิงลึก และสร้างเครือข่ายได้รวดเร็วและกว้างไกลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
“โครงการนี้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 1,200 คน จากทั่วประเทศ ให้เหลือเพียง 100 คน เข้ารับการพัฒนาเชิงลึกและสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจ ก่อนนำสู่การทดสอบตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับนำไปต่อยอด ขยายผล สร้างเครือข่ายต้นแบบระดับจังหวัด และสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าชุมชนทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ใหม่ๆ สนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) โดยผู้ที่มีแนวคิดโดดเด่นที่สุดจะได้รับการสนับสนุนในการช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนาเครือข่าย โดยผู้เชี่ยวชาญ ภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตรหรือโล่รางวัลจาก สสว.” นายธนนนท์กล่าว
สำหรับ โครงการยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เป็นโครงการที่ดำเนินการร่วมกับสถาบันอาหารแห่งชาติ (NFI) ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในท้องถิ่น ให้เกิดการสร้างอาชีพ ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหารแห่งชาติ (NFI) กล่าวว่า จุดประสงค์ของโครงการนี้คือเพื่อส่งเสริม ให้ความรู้ในการออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในท้องถิ่น ด้วยการนำเครื่องมือด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต พร้อมการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ด้วยการให้คำปรึกษาในเชิงลึกด้วยกิจกรรมโฟกัสกรุ๊ป ซึ่งเป็นการระดมความคิดเห็นร่วมกับภาคธุรกิจเอกชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเชิงธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ ในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์สินค้าอาหารและเครื่องดื่มในท้องถิ่นให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในเชิงพาณิชย์
“ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือ พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มให้มีมาตรฐานสากล เพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ หลังจากที่อาหารไทยได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย โดยมีการรับสมัครผู้ประกอบการในกลุ่มอาหารและเครื่อมดื่มระดับ 3-5 ดาว จำนวน 500 รายทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม โฟกัสกรุ๊ป ระดมความคิดกับภาคเอกชนอีก 50 ราย โดยคาดว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับโครงการนี้ จะสามารถเพิ่มโอกาส ช่องทางการจำหน่าย และการขยายตัวทางธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท” นายยงยุทธกล่าว
สำหรับโครงการยกระดับชุมชนต้นแบบที่มีศักยภาพก้าวสู่ SMEs (Micro to be SMEs) เป็นโครงการที่ สสว.ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการคัดเลือกชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านสินค้าอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ แต่ยังขาดการบริหารจัดการที่เหมาะสม รวมถึงการต่อยอดและยกระดับความรู้ที่มีอัตลักษณ์เดิมที่กำลังจะหายไป ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
ดร.เฉลิมพล คงจิตต์ รองผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการจัดความรู้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินกิจกรรมเพื่อยกระดับผู้ประกอบการในโครงการนี้ จะยังเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองรอง ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการ ศักยภาพความพร้อม และความโดดเด่นเชิงอัตลักษณ์ พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว เพียงแต่ขาดการจัดการที่เหมาะสม โดยโครงการจะเน้นส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มสมาชิกและผู้เชี่ยวชาญ ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมและการทำงานร่วมกัน ผ่านมุมมองการวิเคราะห์และประเมินแบบ CIPP model (Context Input Process Product Model) ที่จะช่วยให้เข้าใจเข้าถึงบริบทชุมชน และทำให้ชุมชนมีความพร้อมที่จะยกระดับตนเอง ร่วมพัฒนาไปกับผู้เชี่ยวชาญ จนนำไปสู่การเกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน