แนวความคิดที่ว่า เมื่อหน้าร้อนมาถึง การแพร่ระบาดของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ก็จะเริ่มสร่างซาลง และค่อยๆ หมดไปในที่สุด เกิดขึ้นเพราะนักวิชาการบางคนนำเอา “ซาร์ส-โคฟ-2” นี้ไปเทียบเคียงกับไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลทั่วไป ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศตามฤดูกาลอยู่ไม่น้อย
คนที่ทำให้แนวคิดนี้ดังจนเป็นที่มาของการสืบค้นและหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่หลายคนเชื่อว่า “หลับหูหลับตาพูด” เพราะเข้าใจผิดว่า “โควิด-19” ก็ “แค่ไวรัสไข้หวัดตัวใหม่เท่านั้นเอง”
ทรัมป์พูดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในทำนองที่ว่า เดี่ยวก็ถึงเดือนเมษาฯ ใบไม้ผลิและซัมเมอร์ก็จะมาถึงอยู่แล้ว ตอนนั้นไวรัสนี้ก็จะหมดไป เพราะ “ความร้อน” ของ “หน้าร้อน” คือตัวการสังหารไวรัส
คำกล่าวของทรัมป์ ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตามที ส่งผลให้มีนักวิชาการบางคนตั้งข้อสังเกตว่า บริเวณที่เกิดการระบาดของโควิด-19 หนักๆ และรุนแรงมากๆ นั้น ล้วนเป็นประเทศนอกเขตร้อน ไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มและศูนย์กลางการระบาดอย่าง อู่ฮั่น, หูเป่ย์ ของจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น หรือประเทศในยุโรปอย่างอิตาลี เป็นต้น
ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (ยูเอ็ม) ที่สหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตจากการนำข้อมูลการแพร่ระบาดมาศึกษาวิเคราะห์พบว่าประเทศที่เกิดการระบาดหนักๆ รุนแรงและมีผู้เสียชีวิตสูงมากนั้น ล้วนเรียงรายกันอยู่ในแนวของพิกัดระหว่าง 30 องศาเหนือ ไปจนถึง 50 องศาเหนือ ทั้งสิ้น
ข้อสรุปของยูเอ็มก็คือ ข้อมูลเท่าที่มี แสดงให้เห็นว่าแม้ไม่อาจระบุได้ว่าสภาวะอากาศแบบหนาวเย็น แห้งๆ ช่วยให้ไวรัสโควิด-19 อยู่รอดได้นานๆ แต่ก็บ่งชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์นี้สามารถ “เร่งความเร็ว” ในการระบาดขึ้นมาได้
ปัญหาคืองานวิจัยนี้ไม่ได้ตอบคำถามเรื่องอากาศร้อน และนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เองก็ยืนยันคล้ายๆ กันว่าไม่อาจจะรู้ได้ ได้แต่ “หวัง” ว่า เชื้อโควิด-19 จะมีพฤติกรรมเหมือนไวรัสอื่นๆ ที่มนุษย์รู้จักคุ้นเคย
เดวิด เซนนิโม นักวิชาการด้านโรคติดต่อจากสำนักการแพทย์รัทเกอร์ นิวเจอร์ซีย์ ชี้ว่า ข้อมูลจากประเทศเขตร้อน ทำให้ความ “หวัง” นี้คาดหวังเต็มที่ได้น้อยลงทุกที
ตัวอย่างเช่น ในประเทศเขตร้อน ที่อุณหภูมิสูงกว่าระดับ 23 องศาในฤดูใบไม้ผลิในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือไทย ก็มีการระบาดของโรคอย่างชัดเจน ประเทศละเป็นร้อยๆ คน
หรือในกรณี ทอม แฮงก์ ดาราระดับโลก ก็ได้รับการยืนยันแล้วว่า ติดเชื้อไวรัสนี้ที่โกลด์โคสต์ ประเทศออสเตรเลีย กลางหน้าร้อนของที่นั่นพอดี
เจเรมี รอสแมน นักวิชาการกิตติมศักดิ์อาวุโสสาขาไวรัสวิทยา ที่เป็นประธานโครงข่ายช่วยเหลือการวิจัยของมหาวิทยาลัยเคนท์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ชี้ว่า ไข้หวัดใหญ่ หรือฟลูนั้นระบาดหนักในหน้าหนาว เป็นเพราะมันอยู่รอดได้ดีกว่าในสภาพอากาศเย็นและแห้ง ไม่ค่อยมีแสงแดดให้เห็นตลอดวันก็จริง
แต่ในเวลาเดียวกัน พฤติกรรมของมนุษย์ก็ช่วยเหลือมันด้วยอีกส่วนหนึ่ง นั่นคือ ในหน้าหนาว อากาศภายนอกหนาว คนเรามักเข้ามารวมตัวกันอยู่ภายในอาคารสถานที่ต่างๆ กันมากขึ้น และนานขึ้นกว่าปกติ ทำให้โอกาสที่ไวรัสจะแพร่ระบาดมีมากกว่าปกติ
เช่นกัน หน้าหนาวแทบไม่มีแดด ทำให้ร่างกายขาดวิตามินดี และเมลาโตนิน ซึ่งส่งผลให้ศักยภาพของภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ทำให้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายขึ้น ป่วยมากขึ้นในหน้าหนาว
รอสแมนชี้ให้เห็นว่า ยิ่งหากนำเอา เชื้อโควิด-19 ไปเปรียบเทียบกับไวรัสอื่นๆ ในตระกูลเดียวกัน ที่เคยแพร่ระบาดมาก่อน ก็จะพบได้ทันทีว่าฤดูกาลไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีอิทธิพลต่อเชื้อไวรัสนี้มากมายเท่าใดนัก
รอสแมนระบุว่า ในกรณีการระบาดของซาร์ส ซึ่งเป็นไวรัสตระกูลโคโรนาเช่นเดียวกันในระหว่างปี 2002-2003 นั้น การระบาดก็เริ่มต้นในซีกโลกทางเหนือเช่นเดียวกัน ก่อนที่จะไปยุติลงในเดือนกรกฎาคมปี 2003
แต่โดยข้อเท็จจริงของการระบาดแล้ว ซาร์สระบาดเพิ่มจนถึงจุดสูงสุดในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงกลางของฤดูใบไม้ผลิและอากาศอุ่นขึ้นมากแล้ว
รอสแมนระบุว่า การที่ซาร์สหมดไปในเดือนกรกฎาคมนั้น เป็นผลลัพธ์ของมาตรการควบคุมและกักกันโรคในเวลานั้นมากกว่าที่จะเป็นเพราะอากาศร้อนขึ้น
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ไวรัสก่อโรคเมอร์ส ซึ่งเป็นตระกูลโคโรนาเช่นเดียวกัน ระบาดหนักเป็นหลักอยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีภูมิอากาศร้อนจัดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
เมื่อนำข้อมูลการระบาดของไวรัสอินฟลูเอนซา สายพันธุ์ใหม่ เมื่อปี 2009-2010 มาพิเคราะห์ดูจะเห็นได้ชัดว่า การระบาดนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก และเชื้อไวรัสนี้สามารถระบาดจากคนสู่คนได้สบายๆ ในหน้าร้อนของหลายประเทศ
ดังนั้นจากข้อมูลและองค์ความรู้เท่าที่มีในขณะนี้ การเข้าสู่หน้าร้อนไม่ว่าจะในส่วนไหนของโลก ไม่น่าจะมีส่วนช่วยในการยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ได้แต่อย่างใด
ที่มา : มติชนออนไลน์