วันที่ 30 มี.ค. นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชาชนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เสร็จสิ้นแล้ว และได้รับการยืนยันว่าส่งข้อมูลถูกต้อง ให้รอการตรวจสอบข้อมูลและแจ้งผลกลับไปยังเอสเอ็มเอสที่ได้ลงทะเบียนไว้ ไม่ต้องติดต่อกลับมาที่หน่วยงานรัฐ ซึ่งยอมรับว่าเดิมจะใช้เวลาตรวจสอบอย่างเร็วที่สุด 7 วันทำการ เพราะคาดว่าจะมีผู้มาลงทะเบียนประมาณ 10 ล้านคน แต่ล่าสุดตัวเลขไปกว่า 20 ล้านคน ก็อาจจะต้องใช้เวลาตรวจสอบนานกว่าเดิม
ทั้งนี้ การจ่ายเงินช่วยเหลือ ในแต่ละเดือนจะจ่ายเป็นรอบเดียว นั้นหมายความว่าใครที่ได้รับเงินช่วยเหลือ ก็จะได้เหมือนกันหมด ส่วนใครที่ไม่ได้ ก็ไม่ได้เหมือนกัน ในรายที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ หากยืนยันได้ว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจริง ก็จะจ่ายครบนับตั้งแต่เดือนที่ได้ลงทะเบียนไว้
นายลวรณ กล่าวว่า งบประมาณที่เตรียมไว้ในโครงการ 45,000 ล้านบาท เพียงพอที่จะจ่ายให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิ์ 9 ล้านราย ซึ่งหากมีผู้ผ่านคุณสมบัติเกินกว่าที่คาดไว้ 3 ล้านราย กระทรวงการคลังก็เตรียมของบประมาณเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งยอมรับว่าตัวเลขลงทะเบียนจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเดิมไม่ได้รวมในส่วนของลูกจ้างประกันสังคมตามมาตรา 39-40 ไว้ ซึ่งมีอยู่กว่า 6 ล้านราย แต่ในจำนวนนี้ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ทั้งหมด
นายลวรณ กล่าวว่า เกณฑ์การพิจารณาว่าใครจะได้รับสิทธิ์มี 3 เกณฑ์ใหญ่ คือ 1. ต้องเป็นแรงงาน ลูกจ้าง หรือประกอบอาชีพอิสระ เช่น วินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ ร้านก๋วยเตี๋ยว ค้าขาย เป็นต้น แสดงว่าต้องมีงานทำ 2.ต้องไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนสถานประกอบการขนาดเล็ก มีลูกจ้าง 2-3 คน เช่นร้านนวดแผนโบราณ ถ้าร้านถูกปิด แรงงานที่ทำงานในร้านนี้มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา 3.ท่านได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างไร จะต้องเป็นผลกระทบต่อรายได้ที่เป็นตัวเงิน เพราะมาตรการเป็นการชดเชยรายได้ที่หายไปจากโควิด
“ข้อมูลต้องชี้ให้เห็นว่าท่านถูกให้ออก หรือตกงาน รายได้หายไปจากงาน หรือว่าถูกลดวันทำงาน ถูกลดเงินเดือนลง ก็เข้าข่าย หรือสถานประกอบการถูกปิดบางกลุ่มอาชีพที่ชัดเจนว่าได้รับผลกระทบ เช่น แท็กซี่ คนอยู่บ้านมากขึ้นทำให้ลดการเดินทางลง ส่วนคนที่ยังไม่ชัดเจนจะมีการติดต่อสื่อสาร เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล และให้ข้อมูลเพิ่มเติม”นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ เนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ เช่น 1.ผู้ได้รับผลกระทบจนทำให้ต้องทำงานที่บ้าน แต่เงินเดือนยังได้ครบ 2.กลุ่มที่ยังทำงาน แต่ยังได้รับเงินเดือนครบเหมือนเดิม 3.กลุ่มที่ตกงานมาเป็นปี หรือตกงานมานาน ก็จะไม่ได้สิทธิ์ และ 4.กลุ่มที่ทำงานในร้านค้าที่ปิดมาก่อนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด ก็จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ
ที่มา : ข่าวสด