วันที่ 11 มิ.ย. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า วันที่ 12 มิ.ย.นี้ จะนำแพ็คเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ หารือในที่ประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ระยะเวลาดำเนินการ 4 เดือน ระหว่างเดือนก.ค.-ต.ค. 2563 ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯเสนอ ดังนี้
1.แพ็คเกจกำลังใจเพื่อตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานแนวหน้าในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ ระบาดของเชื้อโควิด-19 เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 1.2 ล้านคน โดยสนับสนุนงบประมาณสำหรับการศึกษาดูงาน แบบอบรมสัมมนา โดยผ่านบริษัทนำเที่ยวในประเทศ โดยแพ็คเกจกำลังใจ จะใช้เงินประมาณ 2,400 ล้านบาท หรือรัฐบาลจะจ่ายเงินให้ประมาณ 2,000 บาท/คน ส่วนหัวข้ออบรม สัมมนา กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นหน่วยงานที่คิด
2.แพ็คเกจเที่ยวปันสุข เป็นการส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวข้ามจังหวัด จำนวน 4 ล้านคน โดยแจกบัตรกำนัล หรือ วอยเชอร์ ผ่านแอพเป๋าตุงของธนาคารกรุงไทยเมื่อมีการเช็คอินห้องพัก รัฐบาลจะโอนเงินคืนให้กับประชาชน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้จ่ายในโรงแรม เช่น ห้องพัก ห้องอาหาร สปา และ ร้านขายสินค้าที่ระลึกต่อไป โดยแพ็คเกจนี้รัฐบาลจะให้เงินเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวประมาณ 2,000-3,000 บาท/คน
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ซึ่งตัวเลขการชดเชยเงินเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวจะเป็น 2,000 บาท หรือ 3,000 บาท ที่ประชุม ศบค. จะสรุปว่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยเงินเท่าไหร่ ถ้าให้ 2,000 บาทต่อคน ก็จะใช้งบประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่หาก ศบค.สรุปให้เงิน 3,000 บาทต่อคนก็จะใช้เงินประมาณ 12,000 ล้านบาท
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังทำการเปิดท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทางเฉพาะประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ Travel Bubble เข้าที่ประชุม ศบค.พิจารณาด้วย โดยคาดว่าจะสามารถอนุญาตให้ต่างประเทศกลุ่มนี้เข้ามาเมืองไทยได้ตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้ หลังมีการเปิดน่านฟ้า
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เบื้องต้นจะอนุญาตให้กลุ่มนักธุรกิจ ที่มีบริษัทในประเทศไทย หรือจำเป็นต้องเดินทางมาทำงานในประเทศไทย ที่ต้องมีเอกสารรับรองจากสำนักงานใหญ่ หรือหน่วยงานที่เชิญมาทำงาน ให้ทำหนังสือรับรอง เพื่อรับผิดชอบว่านักธุรกิจคนนั้นต้องเดินทาง และต้องทำงานจริง มีหลักแหล่งที่ตรวจสอบได้
รมว.การท่องเที่ยวฯ กล่าวด้วยว่า และอีกกลุ่มคือ คนป่วยที่ต้องเข้ารักษาพยาบาลตามที่หมอนัด กลุ่มนี้ต้องมีประวัติการรักษาพยาบาล ที่ต้องเดินทางเข้าประเทศไทย ตามที่โรงพยาบาลที่รักษานัดหมายไว้ ทั้งนักธุรกิจและผู้ป่วยที่ต้องเข้ามารักษาตัวในเมืองไทย ต้องมีใบรับรองแพทย์โควิด-19 อายุไม่เกิน 72 ชั่วโมงและระหว่างอยู่ในเมืองไทยต้องสามารถติดตามตัวได้
ที่มา : ข่าวสด