ถนนราชดำเนิน เป็นหนึ่งในถนนสายสำคัญของประเทศไทย ที่มีเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวข้องกับทั้งประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของผู้คนหลากหลาย มากมาย และด้วยมีผู้คนต่างวัยมากมายที่เคยมาสัมผัสกับถนนสายนี้ เคยมีประสบการณ์ร่วมกับถนนสายนี้ จึงทำให้มีเรื่องเล่าที่ต่างมุมออกไปมากมาย บางเรื่องราวเป็นมุมมองที่ใครหลายคนอาจจะไม่เคยพบเห็น หรือบ้างก็คาดไม่ถึง ในโอกาสที่ถนนสายนี้มีอายุครบ 121 ปี ในปี 2563 มิวเซียมสยาม จัดทำนิทรรศการหมุนเวียนรูปแบบใหม่ ผ่านการมองราชดำเนินจากประสบการณ์ ความเข้าใจ และความทรงจำของผู้คนต่างวัย ใน “ล่อง รอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย” เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์สังคมไทยผ่านถนนราชดำเนิน
ฐานิส สุดโต บรรณาธิการภาพของสำนักข่าวออนไลน์ The Standard เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้สัมผัส “ราชดำเนิน” ผ่านบทบาทการทำงานในฐานะช่างภาพข่าวของเขา ว่าการทำงานทำให้เขามีโอกาสได้สัมผัสและบันทึกเรื่องราวของถนนราชดำเนินไว้หลากหลายแง่มุมในต่างวาระ จนกลายเป็นภาพบันทึกความทรงจำอันมีค่าให้กับตัวเอง และผู้คนอีกมากมายที่เคยมาสัมผัสกับถนนสายนี้ในห้วงเวลาเดียวกัน
“สมัยเรียนผมต้องมาถ่ายภาพไฟที่ถนนราชดำเนินในช่วงวันที่ 5 ธันวา พอมาทำงานเป็นช่างภาพข่าวก็ต้องมาที่นี่เพราะมีเหตุการณ์ทางการเมือง หรือเหตุการณ์งานพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพของในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิ-วัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และงานพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น ซึ่งเราจะได้เห็นโมเม้นต์ของแต่ละช่วงที่ต่างๆ กัน หากเป็นงานพระราชพิธีจะมีความยิ่งใหญ่ในตัวของงานเอง ประกอบด้วยผู้คนที่มาร่วมงานก็จะมีหลากหลายอารมณ์ เช่น ตอนงานพระราชพิธีของรัชกาลที่ 9 ทุกคนก็จะแบบ…โอ้โห! ตากฝนตากแดดกันเป็นเดือนๆ เลย แต่ถ้าเป็นงานการเมืองจะมีความเกรี้ยวกราดในอารมณ์จนมันเกิดความรุนแรงขึ้นมา”
ภาพความทรงจำบนถนนราชดำเนินของฐานิสแม้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากเนื้องานที่ต้องทำ แต่ก็ทำให้เขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ หรือประวัติศาสตร์ที่สำคัญบนถนนราชดำเนิน ณ ช่วงเวลานั้นๆ ไปโดยปริยาย ซึ่งบางเหตุการณ์ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีโอกาสที่จะเห็นกันได้ง่ายดายนัก กรณีการจัดนำรถแข่งฟอร์มูล่าร์ วัน มาโลดแล่นอยู่บนถนนราชดำเนิน นอกจากภาพบรรยากาศความเป็น “ราชดำเนิน” ที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสายตาของช่างภาพมืออาชีพอย่างฐานิสแล้ว “การเดิน” ไปตามถนนสายหลักแล้วแวะเข้าไปตามซอกซอยต่างๆ ของถนนราชดำเนิน ยังจะทำให้ได้เห็นภาพราชดำเนินในอีกมุมหนึ่งที่ซุกซ่อนเรื่องราวและบรรยากาศที่น่าทึ่งของวิถีชีวิตชุมชนไว้มากมาย และสิ่งนี้เองที่จะทำให้เราได้เห็นราชดำเนินในอีกมุมหนึ่งที่เป็นมากกว่าถนน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในท่ามกลางความคุ้นเคยของผู้คนบนถนนราชดำเนิน ที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าบางเรื่องราวก็ไม่ได้เป็นเรื่องประทับใจ หรือเป็นภาพความทรงจำที่งดงามนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกเรื่องราวกลับล้วนช่วยเติมเต็ม “คุณค่า” ให้กับถนนสายนี้ได้ทั้งสิ้น
“ผมมาเดินที่นี่เกือบสามสิบปีแล้วนะ ก็เปลี่ยนไปเยอะ ทั้งสนามหลวง ทั้งตึกอาคารโดยรอบ อาคารบนถนน มันถูกปรับเปลี่ยนไปตามยุค ผมไม่สามารถที่จะบอกได้เลยว่าต่อไปมันจะกลายเป็นอะไร เพราะมันก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามเวลา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ จะยอมรับหรือไม่ยอมรับเท่านั้นเอง แต่สุดท้ายเราก็ต้องอยู่ร่วมกับมัน” ฐานิสกล่าว
ด้านช่างภาพอิสระและศิลปินนักร้องอย่าง “รุจ – ศุภรุจ เตชะตานนท์” ได้เล่าเรื่องราวของราชดำเนินผ่านเลนส์ ด้วยมุมมองและวิธีการนำเสนอที่แตกต่างออกไป โดยนักร้องหนุ่มเล่าถึงราชดำเนินว่าเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของการถ่ายภาพบรรยากาศที่แสดงความเป็นกรุงเทพมหานครอย่างชัดเจน “ราชดำเนิน” จึงไม่ใช่เป็นแค่ถนน แต่ยังเป็นเสมือนสนามของการถ่ายภาพในความทรงจำให้กับบรรดาช่างภาพ ทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพแทบทุกคนด้วย
“สมมุติว่าเราหลับตาแล้วนึกถึงการถ่ายภาพกรุงเทพฯ ผมว่าช่างภาพทุกคนต้องเคยมาถ่ายรูปในโซนของเมืองเก่า เพราะมีสถาปัตยกรรม หรือโครงสร้างของสิ่งก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นวัด พระราชวัง หรือบ้านเก่าๆ ถนนเก่าๆ ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนชอบถ่ายภาพหรือช่างภาพ ยังไงก็พลาดไม่ได้ที่จะมา แต่ปัญหาข้อเดียวที่จะเจอคือ คนเยอะ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเยอะมาก ทำให้มุมที่เราอยากจะถ่ายภาพ ก็ต้องยืนรอ บางทีต้องรอจังหวะแสงสวย ซึ่งต้องใช้เวลา”
การมองถนนราชดำเนินและบอกเล่าเรื่องราวความทรงผ่านเลนส์ของรุจ ในฐานะช่างภาพอิสระที่ชื่นชอบการถ่ายภาพแลนด์สเคปและภาพถ่ายเชิงท่องเที่ยว ทำให้การนำเสนอเรื่องราวและบรรยากาศของราชดำเนินผ่านภาพถ่ายของเขาเป็น
ภาพในเชิงบวก ซึ่งได้กลายมาเป็นภาพที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชม เกิดความรู้สึกต้องการมาสัมผัสและรู้จักกับราชดำเนินในมุมมองเดียวกับเขาบ้าง และการเป็นคนหนุ่มในแบบที่เขานิยามตัวเองว่าเป็นวัยรุ่นตอนปลายที่เชื่อมกลางระหว่างคนสองวัยที่แตกต่างกันในปัจจุบัน ทำให้รุจเชื่อว่าภาพถ่ายของเขาจะสามารถเล่าเรื่องความทรงจำของราชดำเนิน โดยนำเสนอให้คนต่างรุ่นต่างวัยได้ผสานความเข้าใจกันได้ไม่ยากนัก “…การที่เราได้มีโอกาสมาเดินดู หรือมาศึกษาข้อมูลในนิทรรศการครั้งนี้ มันน่าสนุกมาก ยิ่งถ้ามีน้องๆ เจน Z เข้ามาดูเขาอาจจะเข้าใจมากขึ้น และจะได้เห็นว่าจริงๆ แล้วประวัติศาสตร์ของเรานั้นมีเรื่องราวน่าสนุกเยอะ และพอดูนิทรรศการเสร็จ ก็สามารถจะออกไปดูของจริงข้างนอกได้เลย ทำให้รู้สึกอินไปกับราชดำเนินได้มากกว่าการดูนิทรรศการทั่วไป” รุจกล่าวทิ้งท้าย
พบกับเรื่