เราอาจดูแลสุขภาพร่างกายเราเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บได้ตลอดรอดฝั่ง เช่น โรคภาวะหัวใจฉุกเฉิน ที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน ปาร์ตี้ปีใหม่อยู่ดีๆ เกิดอาการของโรคหัวใจขึ้นมา ถึงแม้ว่าจะไม่เคยตรวจเจอความผิดปกติใดๆ มาก่อน แต่ถ้าเรามีความเสี่ยงก็อาจเจอกับโรคได้
นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์โรคหัวใจ รพ.หัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า Holiday Heart Syndrome สัมพันธ์โดยตรงกับคนหนุ่มสาวอายุน้อยที่พักผ่อนน้อย อดนอน สังสรรค์ปาร์ตี้หนักติดต่อกันหลายคืน โดยเฉพาะคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในเวลารวดเร็ว หรือติดต่อกันเป็นเวลานานหลายวัน ดังนั้น เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวก่อนที่จะเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ควรที่จะทราบถึงปัจจัยเสี่ยงก่อนว่าเข้าข่ายของกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ อาจจะต้องมีการตรวจร่างกาย และสืบหาความเสี่ยงเหล่านั้นด้วย
กลุ่มเสี่ยงโรคภาวะหัวใจฉุกเฉิน
โรคหัวใจที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน เช่น ภาวะหัวใจฉุกเฉิน แม้จะตรวจไม่เจอความผิดปกติมาก่อน แต่แค่มีความเสี่ยงก็อาจจะมีภาวะนั้นได้ โดยพบว่าแม้ไม่มีอาการอะไรนำมาก่อน แต่มีประวัติเสี่ยงก็อาจเจอกับภาวะของโรคได้ เช่น
- โรคเส้นเลือดหัวใจตีบฉับพลันชนิด (Plaque rupture) ที่มาด้วยภาวะหัวใจขาดเลือดแบบกราฟหัวใจ ST elevation (ST elevation myocardial infarction) พบว่า จะมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ผู้ชายที่อายุมากขึ้น ร่วมกับความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย โรคอ้วน ภาวะเครียดสะสม หรืออาจจะมีประวัติครอบครัวที่เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่แล้ว โดยอาการของโรคนี้อาจเกิดขึ้นแบบฉับพลันทันทีทันใด เช่น มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก จุกลิ้นปี่ ร้าวไปที่กรามหรือที่แขน เหงื่อแตก ใจสั่น และอาจจะพบว่าเป็นขณะกำลังออกแรงหรือออกกำลังกาย
- โรคเส้นเลือดใหญ่ที่ขั้วหัวใจแตกฉุกเฉิน (Dissecting Aortic aneurysm) ซึ่งปัจจัยเสี่ยงจะคล้ายกับโรคเส้นเลือดหัวใจตีบฉับพลัน หรืออาจจะมีประวัติเรื่องของการตรวจพบว่ามีเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพองอยู่ก่อนหน้าแล้ว หรืออาจจะมีปัญหาในเรื่องของเส้นเลือดแดงส่วนอื่นในร่างกายตีบอยู่ก่อนหน้าแล้ว เป็นต้น อาการของโรคนี้คือ เจ็บแน่นกลางหน้าอกขึ้นมาทันทีทันใด และมีอาการแน่นทะลุร้าวไปถึงหลังร่วมด้วย
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบฉับพลัน (Acute Atrial fibrillation or Holiday heart syndrome) คืออาการใจเต้นผิดจังหวะเกิดขึ้นทันทีทันใด อาจจะพบได้ในคนที่พักผ่อนน้อย อดนอน สังสรรค์ปาร์ตี้หนักติดต่อกันหลายคืน ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากนานหลายวัน คนไข้จะมีอาการใจสั่น หมดสติ หน้ามืดเป็นลม และชีพจรไม่ได้จังหวะ
โดยทั่วไป อาการที่เกิดจากโรคหัวใจโดยตรง มักจะเกิดขึ้นแบบรวดเร็วฉับพลัน อาจจะคล้ายกับอาการของคนพักผ่อนน้อย อดหลับอดนอน อาการหน้ามืดเป็นลมธรรมดาที่มักจะเป็นครั้งเดียวแล้วหายไป แต่ถ้าเป็นจากโรคหัวใจมักจะไม่หายเอง และอาจจะมีอาการเป็นซ้ำได้หลังจากที่อาการดีขึ้น อย่างไรก็ตามถ้าเป็นจากโรคหัวใจมักจะมีการตรวจพบลักษณะของร่างกายผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย
ดังนั้น ควรตรวจวินิจฉัยให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นแค่หน้ามืดเป็นลมจากการพักผ่อนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้น และนอกจากนี้ การพักผ่อนน้อย อดนอน และปาร์ตี้เยอะร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากและติดต่อกันนานแบบสุดเหวี่ยง ไม่ได้กระตุ้นให้เป็นแค่โรคหัวใจเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระตุ้นให้มีอาการของโรคในระบบอื่นได้ด้วย
วิธีลดความเสี่ยง ภาวะหัวใจฉุกเฉิน
ชีวิตประจำวันของทุกคนมีเรื่องให้คิดให้วางแผนมากมาย จนบางครั้งเราอาจลืมคิดถึง สุขภาพของตัวเองว่าสำคัญอย่างยิ่ง ผู้ที่มีความเสี่ยงควรใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงปัจจัยหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงให้ได้มากที่สุด เช่น
- รักษาภาวะความดันโลหิตสูง
- ควบคุมน้ำตาลในคนที่มีความเสี่ยงโรคเบาหวาน
- ควบคุมอาหารในคนที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
- ในช่วงหยุดยาว ควรพักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หนัก และดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
- ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือมีอาการที่เข้าข่ายข้อควรระวังที่จะบ่งชี้ว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจฉับพลัน ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทางการแพทย์ฉุกเฉิน
ที่มา : Sanook