นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญศิลป์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากอำลาเส้นทางการเมืองแล้ว หันเห มาทำหน้าที่ “คุณหมอ” ตามวิชาชีพที่ร่ำเรียนมา โดยมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ Samitivej Parenting Center โรงพยาบาลเด็ก สมิติเวช ถนนศรีนครินทร์ วันเปิดศูนย์เพื่อแนะนำกับบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณหมอได้บรรยายความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก โดยเฉพาลูกหลานที่มีปัญหาทางด้าน EF (Executive Functions) กระบวนการทางความคิดในสมองส่วนหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ เช่น การยั้งใจคิดไตร่ตรอง เรื่องของ IQ EQ รวมทั้ง RQ (Resilience Quotient) ความสามารถของอารมณ์และจิตใจในการปรับตัวและฟื้นตัวหลังเจอกับวิกฤตหรือเหตุการณ์ร้ายๆ ในชีวิต หลังเสร็จสิ้นภารกิจบนเวที คุณหมอหยิบยื่น “คัมภีร์” มอบให้คนที่มาฟัง เพื่อประโยชน์ในการเลี้ยงลูก
คัมภีร์ของคุณหมอ กล่าวว่าปัจจุบันสังคมวุ่นวายขึ้น สาเหตุหนึ่ง คือ ครอบครัวไม่เข้าใจในการเลี้ยงลูก ไม่มีเวลาให้ลูก มีผู้พยายามแนะนำวิธีการเลี้ยงลูก เช่น เลี้ยงลูกให้เป็นอัจฉริยะบ้าง เลี้ยงลูกด้วยเทคนิคสารพัดเพื่อให้ลูกเป็นคนเก่ง คนดี คนมีคุณธรรม สารพัดทฤษฏีที่นำมาใช้ ทั้งที่บางครั้งคนแนะนำอาจไม่เคยมีลูก ไม่เข้าใจการเลี้ยงลูกและว่ากันไปตามทฤษฏีที่ร่ำเรียนมา ปัจจุบันมีการวิจัยเกี่ยวกับเด็กมากมาย
โดยไม่ต้องอาศัยทฤษฎี แต่อาศัยการติดตามเด็กจำนวนมาก ตั้งแต่เล็กจนโต และวิจัยสังเกตดูลักษณะผู้ใหญ่ แล้วย้อนรอยเส้นทางชีวิตในวัยเด็ก ผลที่ได้ คือ องค์ความรู้ที่สำคัญมากในการเลี้ยงลูก ดังนี้
พ่อแม่ที่อยากมีลูกเก่ง
คนที่มีลูกเป็นคนเก่ง พ่อแม่มักมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือพูดคุยและเล่นกับลูกมาก ที่สำคัญคือการปฏิสัมพันธ์แบบสองทาง คือ พูดคุยและฟังลูก ไม่ใช่พูดกับลูกฝ่ายเดียว และพ่อแม่ต้องเล่นกับลูกด้วยใจ ไม่ใช่เล่นแบบขอไปที และเมื่อลูกขยันถาม พ่อแม่ควรขยันตอบ
รู้ใจลูก คืออ่านใจอ่านอาการลูกออก เช่น รู้ว่าลูกเบื่อแล้ว ปัจจุบันพ่อแม่หลายคนไม่รู้ใจลูก แต่ชอบ “เดาใจ” ชอบคิดแทนลูกไปเสียทุกเรื่อง เช่น ถ้าพ่อแม่ชอบหรือคิดเช่นนั้นลูกก็น่าจะชอบและคิดเช่นนั้นด้วย เคล็ดลับของการรู้ใจลูก คือ การฟังให้มาก และหมั่นสังเกตภาษากายและอารมณ์ของลูก อย่าพูดมาก แต่ฟังให้มาก
สนับสนุนลูก หาประสบการณ์ กิจกรรม ของเล่นที่หลากหลาย เหมาะสมกับวัยให้ลูกโดยไม่ต้องรอให้ลูกขอ การพาไปดูสิ่งแปลกใหม่ การเปิดโอกาสให้เด็กได้เพิ่มพูนประสบการณ์ ย่อมทำให้เด็กได้พัฒนาแนวคิดอย่างหลากหลาย ทำให้สติปัญญาดีขึ้น สรุปคือ เห็นมาก สัมผัสมาก ทำมาก ก็ฉลาดขึ้น
สอนตรง หมายถึงอยากให้ลูกเก่งอะไร ก็สอนสิ่งนั้น เช่น อยากให้อ่านหนังสือเก่ง ก็สอนอ่านหนังสือ อยากให้เก่งดนตรีก็สอนดนตรี แต่อย่าลืม “รู้ใจ” ลูกด้วย บางทีการพยายามสอนตรงมาก กลับเป็นผลเสีย กลายเป็นการบังคับยัดเยียด
พ่อแม่ที่อยากมีลูกเป็นคนดี
พ่อแม่ที่มีลูกเป็นคนดี มักมีลักษณะ ดังนี้ เป็นพ่อแม่ที่ลูกเชื่อฟังและเคารพ ถ้าพ่อแม่ควบคุมลูกไม่ได้เมื่อเด็กอายุ 5 ขวบ ทำนายอนาคตได้ว่ามีโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เห็นแก่ตัว สาเหตุที่ลูกไม่เชื่อฟัง มักเกิดจากคำพูดของพ่อแม่ที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ พูดแล้วไม่ทำตามสิ่งที่พูด อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ที่เผด็จการและดุมาก เด็กอาจเชื่อฟังแต่ไม่เคารพก็ได้ พ่อแม่ต้องทำตัวให้น่าเคารพด้วย
สอนสิ่งใดว่าถูกหรือผิด พ่อแมควรปล่อยให้เด็กคิดเองหรือตัดสินใจเอง แต่เราต้องการปลูกฝังสิ่งที่ถูกต้องให้เด็กด้วย ปัจจุบันพบว่าเด็กเราไม่รู้จักเลือกว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ส่วนใหญ่พ่อแม่เองก็ไม่รู้ หรือไม่เอาใจใส่ในการสอนเรื่องคุณค่า ค่านิยม ของการดำเนินชีวิตว่าอะไรถูกอะไรผิด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก พ่อแม่ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นการยัดเยียดทางศีลธรรมหรือทำให้เด็กเก็บกด เพราะเด็กจำเป็นต้องได้รับารปลูกฝังในคุณค่าที่ถูกต้อง เช่น ความรัก ความประพฤติชอบ ความสงบ ความจริง ฯลฯ
สอนให้ลูกมีความรัก ความเมตตา รู้จักให้ รู้จักอภัย รู้จักเห็นใจผู้อื่นเพราะความรักเป็นหัวใจในการเปลี่ยนแปลงลูก นอกจากนี้แล้ว ต้องสอนลูกให้ “คิดก่อนทำ” คนที่ก่อให้เกิดปัญหามักจะเกิดจากการที่มิได้คิดก่อนทำ เช่น โกรธก็แสดงออกทันที อยากได้อะไรต้องเอาให้ได้ทันที เด็กที่รู้จักรอคอย รู้จักคิดก่อนทำจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จและมีความสุข พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกรู้จักรอคอย ไม่ใช่อยากได้อะไรก็รีบหาของให้ พ่อแม่ที่เป็นตัวอย่างที่ดี เด็กจะเรียนจากสิ่งที่พ่อแม่เป็นมากกว่าสิ่งที่พ่อแม่สอน โดยการพูด หากต้องการให้ลูกพูดไพเราะ พ่อแม่ก็ต้องพูดไพเราะ
พ่อแม่ที่ลูกก้าวร้าว
ความก้าวร้าวมีความต่อเนื่องทางพัฒนการ หมายถึงเมื่อเด็กก้าวร้าว พอโตขึ้นความก้าวร้าวก็ยังคงอยู่ต่อไปและมักเพิ่มมากขึ้น ความก้าวร้าวในเด็กใช้ทำนายอนาคตได้ดีมาก ฉะนั้น หากพ่อแม่พบว่าเด็กก้าวร้าว จะต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไข ปัจจุบันเราพอทรบว่าครอบครัวอย่างไรที่ทำให้เด็กก้าวร้าว กล่าวคือเป็นครอบครัวที่ไม่มีกฎเกณฑ์ บ้านที่ไม่มีกฎเกณฑ์ คือบ้านที่ใครจะทำอะไรก็ได้ กินข้าว ดูทีวี เวลาไหนไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครคาดหวังว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร ไม่ดูแลลูก ไม่สนใจดูแลติดตามพฤติกรรมลูก ไม่ว่าลูกไปทำอะไรที่ไหน นึกคิดอย่างไร พ่อแม่จึงไม่ทราบว่าลูกไปทำอะไรผิดมา จะแก้ไขอย่างไร
ลูกก้าวร้าวมาจากบ้านที่ไม่ฝึกวินัย ลูกเวลาทำดีไม่ชม ทำผิดไม่ว่า มักใช้วิธีบ่น ด่าว่าในการฝึกวินัยซึ่งมักเป็นไปตามอารมณ์ของพ่อแม่มากกว่าความผิดของเด็ก อารมณ์ของพ่อแม่ที่ไม่คงเส้นคงวา ทำให้เด็กสับสนว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ วิธีการฝึกวินัยที่ดี คือ บอกเด็กก่อนว่าเราคาดหวังว่าเขาควรมีพฤติกรรมอย่างไร เมื่อทำดีก็ชมให้รางวัล แต่เมื่อทำผิดก็ต้องรับโทษ
อย่าใช้วิธีดุด่าประณามทำให้เขาเจ็บ เราสามารถแสดงสีหน้าท่าทางไม่พอใจเล็กน้อย บวกกับน้ำเสียงที่เปลี่ยนไป เช่น ดังขึ้นเล็กน้อย ถ้าพูดราบเรียบเกินไป เด็กมักจะไม่ฟัง แต่ขอเน้นว่าอย่าใช้อารมณ์ อย่าใช้เสียงดัง และเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์หลังจากเห็นสีหน้าไม่พอใจแล้ว พ่อแม่ต้องหยุดสีหน้า หยุดการดุด่าว่าโดยทันที
ครอบครัวที่แก้ปัญหาไม่เป็น อาจทำให้มีลูกก้าวร้าว เมื่อครอบครัวมีปัญหาก็ไม่จัดการให้เรียบร้อย หรือใช้วิธีจัดการไม่ถูกต้อง เช่น เมื่อลูกตีเพื่อน พ่อแม่ก็จัดการตีลูกพร้อมกับสอนว่าอย่าไปตีคนอื่น เป็นตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง แทนที่จะใช้สติ ใช้ความอดทน ใช้ความรักกับลูก ควรจัดการปัญหาด้วยความสงบ และพ่อแม่ไม่ควรทำให้ลูกเจ็บ หมายถึงเจ็บทั้งทางกายและทางใจ พ่อแม่ที่ทำทารุณกรรมทางร่างกายและจิตใจลูก เมื่อเด็กโตขึ้นจะเป็นเด็กก้าวร้าว มีปัญหา และเมื่อลูกเราเป็นพ่อแม่ก็จะใช้ความรุนแรงกับลูกเขาต่อไป