อาจจะงุนงงสงสัยอะไรกันหว่า…”เจนนีเวอร์” (Genever) หรือที่บางคนออกเสียง “เจนิเอฟร์” ซึ่งก็คือยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง มาจากการที่ ดร.ฟรานซิสกัส เดอ ลา เบอร์ คิดค้นขึ้นในประเทศฮอลแลนด์ เมื่อปี 1650 เป็นความพยายามคิดค้นยารักษาความบกพร่องของระบบไต ด้วยการผสมแอลกอฮอล์เข้ากับธัญพืชพื้นเมืองชนิดต่างๆ ทั้งข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด และ “จูนิเปอร์ เบอร์รี่” ชื่อนี้เป็นภาษาดัตช์ คือลูกเบอรี่ของต้นสนที่เรียกว่า Juniper Berry ไม่เกี่ยวกับประเทศเจนีวาแต่อย่างใด “เจนนีเวอร์” นำไปใช้เป็นยาของทหารฮอลแลนด์ตอนออกรบ และเมื่อครั้งที่ทหารอังกฤษต่อสู้กับทหารสเปน ทหารอังกฤษได้นำเจนนีเวอร์กลับประเทศไปด้วย จนกลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ชาวเมืองฟลานเดอร์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเบลเยียม เรียกเครื่องดื่มชนิดนี้ว่า “jenever” ขณะที่ชาวดัตช์เรียกว่า “จูนิเปอร์” แต่เมื่อชาวดัตช์นำมันเข้าไปในประเทศอังกฤษ ชาวอังกฤษสะกดว่า genever แล้วพัฒนากลายมาเป็น Ginever สุดท้ายย่อเหลือเพียง gin ในที่สุด
เมื่อทหารอังกฤษและชาวดัตช์นำเจนนีเวอร์ หรือ จิน เข้าไปในอังกฤษ ราวช่วงศตวรรษที่ 18 คนอังกฤษเห่อกันมากถึงขั้นเมาทั้งเมืองแทบจะทุกตารางนิ้ว จนเกิดเป็นยุคที่เรียกว่า “Gin Craze” ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคม จนรัฐบาลอังกฤษต้องออกมาควบคุมการผลิตและการขาย แต่ก็ไม่ได้ผล คนยังนิยมไม่ยอมหยุด เพราะทั้งอร่อยและราคาถูก ถูกกว่าวิสกี้และเบียร์หลายเท่าตัว โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นล่างจึงนิยมอย่างมาก
ต่อมาเมื่อกฎหมายการห้ามจำหน่ายและห้ามผลิตเบาบางลงก็เป็นเวลาที่ความนิยมจินลดลงตามไปด้วย แต่แทนที่จะเป็นผลเสียกลับเป็นผลดี เนื่องจากทำให้มีการควบคุมคุณภาพการผลิตให้ดีขึ้น มีการคิดค้นเครื่องกลั่นแบบต่าง ๆ ที่กลั่นได้ต่อเนื่องและได้สปิริตที่ ไร้รส ไร้กลิ่น และยังทำการผลิตได้มากขึ้นด้วย รักษามาตราฐานได้ดีกว่าเดิม เลยยิ่งทำให้จินเติบโตและได้รับความนิยมแพร่หลายเข้าไปในหมู่ชนชั้นสูงแทน พร้อมกับตั้งชื่อใหม่ตามการผลิตเป็น “Dry Gin” กับ “London Dry Gin” ซึ่งเป็นเหตุทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าจินมีกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ
ปัจจุบันความนิยมในการดื่มจินยังนิยมกันอยู่มาก ถึงขนาดมีการตั้งสมาคมจินและวอดก้า (Gin and Vodka Association of Great Britain) ขึ้นมา เพื่อรักษามาตราฐานและโปรโมทจินของประเทศอังกฤษโดยเฉพาะ ซึ่งทุกวันนี้ชาวอังกฤษดื่มจินปีละกว่า 25 ล้านลิตร
อย่างไรก็ตาม จินก็เหมือนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทั่วไป ที่ต้องแสวงหาส่วนผสมเพื่อมาดื่มคู่กันให้เกิดรสชาติแปลกใหม่ มีการทดลองหาเครื่องดื่มคู่กับจินหลายอย่างมากมาย แต่ในที่สุดก็มาลงเอยที่น้ำเมาไร้สี ไร้กลิ่น ไม่มีรสชาติโดดเด่น ในชื่อของ “โทนิก” (Tonic Water) ได้มาจากการนำเปลือกของต้นซิงโคนามาบดละเอียดแล้วผสมน้ำดื่ม ซึ่งทีแรกนั้นใช้ในการรักษาอาการไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรีย เพราะในเปลือกต้นซิงโคนามีสาร “ควินิน” อยู่
ข้อเสียร้ายกาจของควินินคือมีรสขมอย่างมาก ไม่อาจกลืนเข้าไปได้ง่ายๆ จึงเกิดไอเดียคิดค้นได้โดยการนำมาผสมกับน้ำตาล และมะนาว ทำให้ดื่มได้ง่ายขึ้น และเมื่อนำน้ำโทนิกมาอัดแก๊สเข้าไป ทำให้กลายเป็นเครื่องดื่มที่มีกลิ่นและรสเป็นเอกลักษณ์ นำมาผสมกับเครื่องดื่มอื่นๆ ได้อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปกันได้ดีมากกับจิน จึงกลายเป็น “จินโทนิก” และเมื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทำให้สามารถสังเคราะห์ควินินได้ การดื่มโทนิกเพื่อรักษาโรคจึงค่อยๆ หายไปตามกาลเวลา จากโทนิคไม่กี่ยี่ห้อในเบื้องแรกของอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม แต่หลังปี ค.ศ.2000 เครื่องดื่มที่ผสมผ่านมิกเซอร์ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่จินปัจจุบันผลิตกันในหลายประเทศมาก แต่เปลี่ยนแปลงกรรมวิธีการผลิตและส่วนผสม ทำให้มีความแตกต่างกันไปทั้งในรสชาติ และกลิ่น จินที่ผลิตจากประเทศฮอลันดาหรือฮอล์แลนด์รสจะเข้มข้นมาก นิยมดื่มโดยไม่ผสม แต่ควรแช่ให้เย็นจัด ส่วนจินจากอังกฤษและอเมริกา นิยมดื่มเป็นเครื่องดื่มผสม ที่รู้จักกันแพร่หลายก็ จินโทนิก นี่แหละ
เล่ามาเสียยืดยาว ทั้งหมดนี้เพื่อให้รู้ถึงที่มาที่ไปของเครื่องดื่มยอดนิยมของคนชั้นสูง และเพื่อเป็นการไม่เสียเวลา ให้หาจินยี่ห้อถูกใจมาวางไว้ข้างๆ อ่านไปจิบไป เป็นการฆ่าเวลาที่เพลิดเพลินเจริญใจเป็นอย่างดี