เผยผลวิจัยลักษณะของคน Gen Z ของประเทศไทย ต้องการความท้าทาย ให้คุณค่าเรื่องธรรมชาติ เทคโนโลยี รวมถึงความสัมพันธ์กับแบรนด์ต่างๆ พร้อมต่อสู้เพื่อ “ความยั่งยืน” และมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial) มักให้ความสนใจในเรื่องความสำเร็จทางการเงิน หัวรั้นน้อยกว่า และเปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลายมากกว่า Gen Z ของฝั่งตะวันตก คติประจำใจ Gen Z ไทยคือ “เป็นตัวของตัวเอง!”
นางสาวปัทมา จอมศิริวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยประจำ บริษัทสตามิน่า เอเชีย ซึ่งเป็นบริษัททำวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภค เปิดเผยว่าบริษัทสตามิน่า เอเชีย ในกรุงเทพฯ ได้ทำการวิจัยโครงการ “Meet the Zers” ซึ่งเป็นโครงการศึกษาพฤติกรรมของคนเจน Z ที่จะมีผลต่อพฤติกรรมในการบริโภคของคนในยุคปัจจุบัน โดยการวิจัยดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของชุดแบบสำรวจ Exclusive Poll ที่ครอบคลุมผู้บริโภคทั้งในกลุ่มของ Gen X, Gen Y และ Gen Z ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ธุรกิจต่างๆ และผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงผลการวิจัยและรายงานฉบับอื่นๆ ของบริษัทได้หากต้องการ
สำหรับการทำวิจัยโครงการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการเข้าใจกลุ่มคนแต่ละช่วงวัยนั้น ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค และในแต่ละช่วงวัยต่างก็มีความสำคัญในแง่ของการแสดงออกความเป็นตัวตนพอๆ กับการเป็นประชากรของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือการแสดงออกทางเพศสภาพใดๆ นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านของช่วงวัยก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการกำหนดความต้องการ และพฤติกรรมของแต่ละคนด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วจะมีความสำคัญมากกว่าลักษณะทางเศรษฐกิจเสียอีก
“เราสามารถให้คำจำกัดความของ Gen Z คร่าวๆ ได้ว่า เป็นผู้ที่เกิดระหว่างปี 2538 ถึง 2553 เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีลักษณะเหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก
พวกเขาเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่กับคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และโซเชียล มีเดียตั้งแต่วัยเด็ก ถือเป็นคนยุคดิจิทัลแบบแท้จริงรุ่นแรก และเป็นผู้มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ๆ การสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ และการเชื่อมต่อกันแบบทันที นอกจากนี้พวกเขายังไม่เพียงแต่จะสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างไม่มีติดขัดเท่านั้น แต่คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะด้วยความต้องการใหม่ๆ หรือการคิดค้นนวัตกรรม เพื่อทำให้โลกก้าวล้ำขึ้นไปอีกขั้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นความท้าทายต่อธุรกิจต่างๆ ซึ่งเป็นความท้าทายที่จะสามารถเปลี่ยนให้เป็นโอกาสได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจเหล่านั้นมีความเข้าใจถึงคนเหล่านี้มากขึ้น โดยต้องรู้ว่าพวกเขามีวิธีบริโภคและรู้จักแบรนด์ต่างๆ อย่างไร”
นางสาวปัทมากล่าวว่า แม้กระบวนการในการทำความเข้าใจเด็กยุคใหม่อย่าง Zers นั้นจะค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเป็นเรื่องยากเมื่อต้องให้บุคคลหนึ่งมาอธิบายกลุ่มสังคมเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง งานวิจัยระดับโลกที่ให้ความสนใจ Gen Z นั้น จะเริ่มต้นศึกษาด้วยการเปรียบเทียบ Gen Z กับกลุ่ม Millennial หรือ Gen “Me” (Me Generation) ซึ่งเน้นความสำคัญไปที่ตัวเอง โดยปกติแล้วผู้คนจะมอง Gen Z ว่ามีความยึดมั่นในอุดมการณ์มากกว่า กล้าที่จะเผชิญหน้ามากกว่า และมีหลักการมากกว่า Gen Me คน Gen Z คือผู้บริโภคที่มีความใส่ใจในเรื่องของศีลธรรม รวมถึงในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
สำหรับในประเทศไทย สรุปได้ว่าลักษณะส่วนใหญ่ของคน Gen Z ก็เหมือนกับ Gen Z ที่อาศัยอยู่ในซีกโลกตะวันตก กล่าวคือพวกเขามีความต้องการที่จะท้าทายกับสถานะปัจจุบัน ในแง่ของคุณค่า ธรรมชาติ เทคโนโลยี รวมถึงความสัมพันธ์กับแบรนด์ต่างๆ ทั้งนี้ 35% ของผู้เข้าร่วมงานวิจัยชาวไทย ระบุว่า “ความยั่งยืน” เป็นสิ่งที่ควรค่าและพร้อมที่จะสู้เพื่อสิ่งนี้ จากมุมมองดังกล่าวสามารถอธิบาย Gen Z ของไทยได้ว่าเป็น “True Gen” ซึ่งก้าวไปข้างหน้าด้วยการเสาะหาสิ่งที่เป็นแก่นแท้ สาระ อย่างไรก็ตาม ยังมีความแตกต่างที่สังเกตเห็นได้บางประการ คือคน Gen Z ของไทย จะออกไปในแนวของผู้มีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial) มากกว่า และมีความสนใจในเรื่องของความสำเร็จทางการเงินมากกว่า หัวรั้นน้อยกว่า และเปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลายมากกว่า Gen Z ของทางฝั่งตะวันตก นอกจากนี้ Gen Z ของไทยยังมีความเป็นปัจเจกมากกว่า โดย 36% ของ Gen Z ในไทย เลือกคำกล่าวที่ว่า “เป็นตัวของตัวเอง!” ให้เป็นสุดยอดคติประจำใจ
นางสาวปัทมากล่าวด้วยว่าผลการวิจัยของทางบริษัทสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่า ซึ่งเหมาะสำหรับนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อตอบรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่หรือ Gen Z มากยิ่งขึ้น