สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย
เหตุที่นำความรู้สมุนไพรเพื่อนเบาหวานมาคุยกันในคอลัมน์นี้บ่อยๆ เนื่องจากชาวไทยทั้งที่อยู่เมืองหรืออยู่ในหมู่บ้านห่างไกล กำลังเผชิญกับภัยคุกคามใกล้ตัวจากเบาหวานอย่างไม่น่าเชื่อ ใครที่คุ้นเคยกับโรงพยาบาลชุมชนย่อมคุ้นเคยกับคลีนิคเบาหวาน ที่เปิดอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งมีชาวบ้านรอคิวกันครั้งละหลายร้อยคน ลองหันไปสำรวจคนรอบข้างตัวคุณ เชื่อว่าจะมีอย่างน้อย 1 คนที่คุณรู้จักกำลังเป็นเบาหวาน
การดูแลสุขภาพของผู้เป็นเบาหวานนั้น ในทางวิชาการยอมรับกันแล้วว่า การกินยาลดน้ำตาลอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบสุดท้าย การกินอาหารให้เหมาะสม และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการฝึกฝนด้านจิตใจ เรียนรู้การผ่อนคลายเพื่อให้ห่างไกลความเครียดเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ซึ่งหมายถึงพึ่งยาอย่างเดียวไม่พอ ต้องพึ่งตนเองรู้จักเลือกกินเลือกอยู่ให้สมดุลจึงอยู่กับเบาหวานได้อย่างมี ความสุข
ช้าพลู เป็นผักพื้นบ้าน แต่ก็สามารถนำมาปลูกในบ้านได้ เมื่อเกิดแล้วไม่ต้องกลัวสูญพันธุ์ ตัดทิ้งอย่างไรพอฝนมาหรือรดน้ำก็มีต้นงอกให้ใช้งานได้เสมอ ในแง่อาหารการกิน ช้าพลูเป็นตัวเอกของเมี่ยงคำ ใช้ใบห่อเครื่องปรุงต่างๆ ในแง่ยาสมุนไพร ตำรับยาพื้นบ้านและความรู้แบบปากต่อปาก ซึ่งสืบทอดมานาน ยอมรับว่าใช้ช้าพลูแก้เบาหวาน
วิธีใช้ให้เอาต้นช้าพลูทั้งห้า หมายถึงใช้ทั้งต้นรวมรากด้วย นำมา 1 กำมือ ให้พับเถาช้าพลูเป็น 3 ทบ ให้ตอกไม้ไผ่มัดเป็น 3 เปลาะ นำไปใส่หม้อต้มกับน้ำ 3 ขัน ต้มเคี่ยวให้เหลือน้ำ 1 ขัน ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว ก่อนอาหาร วันละ 3 เวลา วิธีนี้มีผู้ใช้ช่วยแก้อาการเบาหวานได้
ขณะนี้มีการศึกษาในสัตว์ทดลอง โดยต้มน้ำช้าพลูทั้งห้า แล้วป้อนให้กระต่าย 2 กลุ่ม กลุ่มกระต่ายปกติ และกลุ่มที่เป็นเบาหวาน โดยทำการเปรียบเทียบกับยาฝรั่งชื่อ ทอลบูตาไมด์ (Tolbutamide) และน้ำกลั่น พบว่า น้ำช้าพลูช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของกระต่ายที่เป็นเบาหวานได้ แต่ไม่ลดน้ำตาลของกระต่ายปกติ และให้กระต่ายกินยาทั้ง 2 ชนิดต่อไปอีก 4 สัปดาห์ พบว่าน้ำช้าพลูยังมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ ขณะที่ยา ทอลบูตาไมด์ มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีเท่าน้ำช้าพลู
แม้ว่ายังไม่มีการศึกษาทางคลินิกหรือในมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ช้าพลูก็เป็นผักสมุนไพรที่น่าสนใจกินเป็นตัวเสริมในการลดน้ำตาลในเลือด ช้าพลูยังเป็นผักที่มีสารแอนตี้ออกซิแด๊นต์สูง มีวิตามินเอ และซีสูงด้วย และที่สำคัญช้าพลูไม่มีผลลดน้ำตาลในคนปกติ ช้าพลูปลูกง่าย ขยายพันธุ์ง่าย
ถัดจากช้าพลู มะระขี้นก ที่เลื้อยริมรั้วก็เป็นสมุนไพรเพื่อนเบาหวานได้ดี มีการศึกษาพบว่าสารในมะระขี้นกออกฤทธิ์คล้ายอินซูลิน และช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินด้วย และยังยับยั้งการสังเคราะห์กลูโคส และเพิ่มการใช้กลูโคสของตับอ่อน มะระขี้นกจึงมีส่วนช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ วิธีการใช้มีหลายวิธี ที่สะดวกและง่ายในเวลานี้ คือรูปแบบแคปซูล สามารถกินมะระขี้นกบดผง ขนาด 500-1,000 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง
หรือทำเป็นชาชง นำผลมะระขี้นกมาหั่น เอาเฉพาะเนื้อ ตากแดดให้แห้ง ใช้เนื้อมะระขี้นกแห้ง 1-2 ชิ้น ชงกับน้ำร้อน 1 ถ้วย ดื่มครั้งละ 2 ถ้วย วันละ 3 เวลา หรือจะชงจำนวนมากพอแล้วใส่ในกระติกน้ำร้อน แบ่งกินได้ตลอดวันก็ได้
มะระขี้นก เป็นผักพื้นบ้านของไทย แต่ก็พบได้ทั้งในจีน พม่า อินเดีย ศรีลังกา ไปจนถึงแอฟริกาและอเมริกาใต้ ทุกประเทศที่รู้จักมะระขี้นกก็จะนำมาใช้ประโยชน์เกี่ยวกับผู้เป็นเบาหวาน ทั้งสิ้น แม้แต่หมอแผนปัจจุบันในอินเดียยังสั่งยามะระขี้นกให้คนไข้กิน มูลนิธิสุขภาพไทยเคยเดินทางไปดูงานสมุนไพรทั้งที่จีนและพม่า ก็พบว่า หมอสมุนไพรที่นั่นสั่งมะระขี้นกให้ผู้ป่วยเบาหวานกินเป็นประจำ
มะระขี้นกเลื้อยตามริมรั้วแล้ว ตำลึง ผักที่เลื้อยริมรั้วไม่ต้องหาซื้อมาปลูก แต่จะมาพร้อมฝนและพบได้ในที่รกร้าง ก็เป็นสมุนไพรลดน้ำตาลได้ดี นอกจากทำน้ำแกงจืดได้รสอร่อยถูกปากตั้งแต่เด็กไปจนผู้ใหญ่แล้ว นักวิชาการจากหลายประเทศยังช่วยกันศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ โดยยอมรับว่า ตำลึงช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ทั้งในสัตว์ทดลองและในคน ซึ่งส่วนที่ออกฤทธิ์นั้นใช้ได้ทั้ง ใบ ราก ผล ตำรายาอายุเวทเก่าแก่นับพันปี ก็บันทึกไว้ให้ใช้ตำลึงเป็นยาแก้เบาหวาน
วิธีใช้ง่ายๆ ให้สมกับตำลึงขึ้นได้ทั่วไป คือให้กินพร้อมมื้ออาหรให้ได้วันละ 1 กำมือ หรือจะใช้วิธีตามตำรา นำยอดตำลึง 1 กำมือ ปรุงรสด้วยการใส่เกลือหรือน้ำปลาเล็กน้อย เพื่อให้กินอร่อยขึ้น แล้วนำไปห่อด้วยใบตอง เอาไปเผาไฟให้สุก กินให้หมด ให้กินก่อนนอนติดต่อกัน 3 เดือน ผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานก็น่าจะหันมากินตำลึงกันเป็นประจำ เป็นการช่วยป้องกันเบาหวาน และยังได้รับวิตามินโดยเฉพาะวิตามินเอที่มีอยู่สูงมาก มีวิตามินซีสูงกว่ามะนาว มีวิตามิน บี 3 ช่วยบำรุงผิวหนัง มีธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงเลือด และที่สำคัญ กินตำลึงเป็นประจำ ไม่ท้องผูก เพราะมีใยอาหารจำนวนมาก
ผักสวนครัวอีกชนิดหนึ่งซึ่งคนทั่วไปอาจนึกไม่ถึงว่าเป็นยาช่วยลดน้ำตาลใน เลือดได้ เป็นผักคู่อาหารยอดฮิตของคนไทย “กะเพราไก่ไข่ดาว” นั่นเอง กะเพรา มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายชนิด ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านความเครียด แก้หืด ต้านอักเสบ แก้ไข้ แก้ปวด และมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดด้วย ในใบกะเพรามีน้ำมันหอมระเหยและพฤกษเคมีหลายชนิด นักวิจัยพบว่าช่วยทำให้ตับอ่อนผลิตและหลั่งอินซูลลินได้ดีขึ้น
การศึกษาวิจัยให้ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน กินใบกะเพราะบดผงวันละ 2.5 กรัม นาน 4 สัปดาห์ สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ วิธีทำใช้เอง อาจนำใบกะเพราตากแห้ง แล้วบดผง นำมา 1 ช้อนชา ชงกับน้ำร้อน 1 ถ้วย กินวันละ 3 ครั้ง หรือจะบรรจุแคปซูล กินวันละ 2.5 กรัม ก็ได้ นักวิจัยแนะนำว่า กะเพราเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานไม่รุนแรง แบบเป็นเล็กน้อยถึงปานกลาง
เตยหอม เป็นสมุนไพรใกล้ตัวอันดับที่ห้าที่อยากชวนให้ลิ้มลอง เป็นสมุนไพรที่คนไทยรู้จักกันทั่วประเทศ ปรุงเป็นเครื่องดื่มรสอร่อยหอมชื่นใจ ทำเป็นอาหารคาวหวานได้อีกหลายชนิด เช่น ไก่ห่อใบเตย วุ้นใบเตย คนทั่วไปมักรู้จักสรรพคุณทางยาของต้นเตยหอม เป็นชาชงช่วยบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ใช้แก้ไข้ แก้อ่อนเพลีย แต่มีคนไม่มากรู้จักนำเอารากเตยหอม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ลดความดัน และลดเบาหวาน
และดูเหมือนว่าเตยหอมเป็นสมุนไพรที่คนไทยรุ่นเก่ารู้จักใช้เพื่อแก้เบาหวานกันมาก ใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยวๆ และอยู่ในตำรับก็มี
ขณะนี้มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในระดับห้องทดลอง พบว่าเตยหอมมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และขับปัสสาวะ แม้ว่ายังไม่ได้วิจัยถึงขั้นทดลองในคน แต่เตยหอมเป็นตำรับยาที่มีความปลอดภัย และคนทั่วไปหามาใช้ประโยชน์ได้ง่าย ราคาถูก ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือไม่เป็นก็สามารถทำเครื่องดื่มรสอร่อยดื่มกินได้
ถ้าว่ากันตามตำรา ใช้รากเตยหอม 1 ขีด สับเป็นท่อนเล็กๆ ใส่น้ำประมาณ 1 ลิตร ต้มให้เดือดแล้วหรี่ไฟลง เคี่ยวต่อไป 15-20 นาที ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 เวลา เวลาต้มจะปรุงแต่งใส่ใบเตยหอมให้มีสีสันและเพิ่มกลิ่นหอมให้ชวนดื่มก็ได้
สมุนไพรใกล้ตัวคนไทยอีกชนิดหนึ่งคือ ว่านหางจระเข้ แม้ไม่ใช่พืชท้องถิ่นดินแดนสยาม แต่คนไทยรู้จักกันทั่วไป พบเห็นการปลูกไว้ในกระถางหน้าบ้านทั่วทุกภาค ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคกรีก ราวๆ กว่า 3,500 ปีมาแล้ว สมัยนั้นมีบันทึกการใช้ไว้อย่างละเอียด สมัยนี้ก็ยังนิยมใช้ในสรรพคุณไม่แตกต่างกัน ตั้งแต่ใช้รักษาบาดแผลสด แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก รักษาโรคผิวหนังต่างๆ ผื่นคัน ผิวหนังผุผอง ถูกแดดแผดเผา ใช้บำรุงผิว บำรุงเส้นผม แก้โรคริดสีดวง เป็นต้น
ว่านหางจระเข้จึงเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีการศึกษาวิจัยกันมาก และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสำอาง ในการศึกษาทางยาพบสิ่งที่น่าสนใจว่า ว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ในการลดน้ำตาลในเลือดในสัตว์ทดลองและในคนด้วย ยังมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย
วิธีการใช้ว่านหางจระเข้อย่างง่ายๆ ให้ตัดกาบใบว่านหางจระเข้ ที่ปลูกมาอย่างน้อย 1 ปี นำมาล้างน้ำให้สะอาด ปอกเปลือกออก จะได้เนื้อวุ้นใสๆ ให้รับประทานวันละ 15 กรัม ทุกวันติดต่อกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ควรกินเนื้อวุ้นสดๆ เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า เนื้อวุ้นที่เก็บไว้จะมีสรรพคุณลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเคล็ดลับในการเตรียมยา คือ
ถ้าตัดกาบใบมาทั้งกาบ ให้ตัดเป็นท่อนในขนาดที่จะกินในวันนั้น ที่เหลือไม่ควรปอกเปลือก และให้เก็บไว้ในตู้เย็น ควรกินให้หมดภายใน 3-5 วัน ถ้าต้องการกินต่อจึงไปตัดจากต้นสด
สมุนไพรใกล้ตัวอันดับเจ็ด เป็นสมุนไพรอินเทรนด์ตามกระแสการดื่มกาแฟสด ซึ่งสูตรกาแฟชนิดหนึ่งจะมีการปรุงด้วยอบเชยเพื่อเพิ่มรสชาติและกลิ่นหอม คนรุ่นใหม่จึงรู้จักอบเชยมากขึ้น ต้นอบเชยมีหลายชนิด แต่ที่คนไทยรู้จักกันดีและนำมาใช้ปรุงยาหรือใช้ปรุงอาหารมักจะเป็น อบเชยจีน เพราะมีกลิ่นหอม เปลือกมีความบาง แต่ถ้าหาอบเชยจีนไม่ได้ จะใช้อบเชยไทย อบเชยญวน และอบเชยอื่นๆ แทนก็ได้ มูลนิธิสุขภาพไทยเคยเขียนเรื่องราวอบเชยแก้เบาหวานไว้อย่างละเอียดแล้ว ผู้อ่านสามารถสืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์ของมูลนิธิได้ (www.thaihof.org)
ในที่นี้ขอย้ำเตือนว่าอบเชยเป็นสมุนไพรของชาวเอเซียที่คนทางยุโรปและ อเมริกาให้ความสนใจมาก การเผยแพร่สรรพคุณลดน้ำตาลในเลือดนี้ก็มาจากการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการใน วารสาร New Scientist และยังมีผลรายงานการศึกษาในที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง พอสรุปได้ว่า
ในอบเชยมีสารที่ทำให้เซลล์ไขมันตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลินได้มากขึ้น ทำให้อินซูลินทำงานได้ดีขึ้น และสารในอบเชยยังมีฤทธิ์คล้ายอินซูลิน คือช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย
วิธีกินอย่างง่ายๆ ให้กินผงอบเชยจีนครั้งละครึ่งช้อนชา วันละ 2 เวลา เช้าและเย็น โดยอาจผสมผงอบเชยจีนในเครื่องดื่มนม โกโก้ โยเกิร์ต ก็ได้ หรือบรรจุผงอบเชยจีนในแคปซูล ควรรับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 20 วัน จึงจะเห็นผล
สมุนไพรที่นำเสนอไปทั้ง 7 ชนิด ช้าพลู มะระขี้นก ตำลึง กะเพรา เตยหอม ว่านหางจระเข้ และอบเชยจีน เป็นสมุนไพรที่คนทั่วไปรู้จัก แม้แต่เด็กแนวเด็กอินดี้หรือเด็กเรียนก็ยังรู้จักไม่ต้นใดก็ต้นหนึ่ง สมุนไพรเหล่านี้เป็นของใกล้ตัว และมีการศึกษาวิจัยพบว่าช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ จึงเป็นทางเลือกใกล้ตัวให้นำมาใช้ให้เหมาะกับรสนิยมและความชอบส่วนตัว เพื่อเป็นเพื่อนเบาหวานได้ทุกวัน
แต่ไม่ได้หมายความให้ใช้เจ็ดวันเจ็ดอย่าง ให้เลือกใช้ทีละชนิดอย่างต่อเนื่อง
ที่มา นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์