“อยากให้คนที่กำลังเบื่องาน แล้วคิดอยากจะทำอะไร ไม่รู้จะเริ่มจากอะไร ให้เริ่มจากสิ่งเหล่านี้ คือ เรียนคอร์สต่างๆ บางคนพอเรียนแล้ว จากที่อยากจะออกจากงานก็ไม่ออกแล้ว เพราะได้ผ่อนคลาย” เป็นคำยืนยันจาก “ศิริมาส พรหมโมปกรณ์” หรือ ทราย ครูปักผ้าที่มีประสบการณ์ตรงมาแล้วจากนักเรียนหลายต่อหลายรุ่น
ในวันที่ครูทรายตอบตกลงเป็นครูสอนปักผ้า กับ “มติชน อคาเดมี” นอกจากการร่วมกันวางรายละเอียดคอร์สเรียน “ดีไซน์ลายผ้าปัก Basic Stitch” ที่จะสอนทุกเบสิกทุกขั้นตอน ในระดับที่เมื่องานจบต้องทึ่งกับฝีมือตัวเองแล้ว เรายังได้พูดคุยกันแบบสบายๆ อีกหลากหลายหัวข้อ
เทรนด์ล่ามาแรง ต่อยอดเพิ่มมูลค่า
“ทำงานปักมันเป็นความรื่นรมย์ในใจนะ ทำเสร็จหนึ่งผืน เราจะรู้สึกว่ามีคุณค่ากับเรา ยิ่งคนมาชื่นชมก็ยิ่งภูมิใจ”
ครูทราย บอกว่า เทรนด์ปักเริ่มเป็นที่นิยมเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ด้วยความที่งานเป็นสากลจึงทำให้เป็นที่นิยมของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา แม่บ้าน คนรุ่นใหม่ หรือ ผู้ที่ต้องการเรียนเพื่อนำไปต่อยอด ทำเป็นอาชีพอิสระ
“เทรนด์ปักที่มาแรง ทำให้บางสายงานเพิ่มมูลค่าจนมีราคาสูงลิบ เช่น เสื้อผ้า สังเกตดูว่าถ้าเสื้อมีงานปักราคาจะสูงขึ้นมาก แม้บางงานจะเป็นงานจักร แต่ก็ถือว่าเพิ่มมูลค่า เพราะงานจักรสมัยนี้มีการเพิ่มลายปักเข้าไป ในตลาดผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีการปักร่วมเยอะขึ้น อย่างนักศึกษาบางคนทำถุงผ้าขาย บางคนขอแค่ปักหมวกขายลายเล็กๆ ได้งานปักเข้าไปก็เพิ่มราคา ยิ่งใครที่วาดรูปวาดลายเองได้ก็จะทำให้ได้งานไม่เหมือนใครสร้างความโดดเด่น หรือ แม้แต่รองเท้าก็มีการปักแล้ว ทำให้เวลานี้คนสนใจอยากเรียนงานปักมากขึ้น”
และไม่เพียงแค่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ แต่งานปักระดับแอดวานซ์นั้นมีคุณค่าสูง โรงแรมหรูนิยมนำไปใส่กรอบรูปแขวนโชว์อย่างภาคภูมิใจ
ปรัชญา “let it go”
นอกจากผลงานที่จะนำความภาคภูมิใจมาให้เจ้าตัวแล้ว งานปักยังซ่อนปรัชญาในการดำเนินชีวิตไว้อย่างแยบยล
ครูทราย บอกว่า งานฝีมืออย่างงานปักบางคนไม่กล้าทำ กลัวปักไม่สวย เรื่องนี้ไม่อยากให้กังวล เพราะเมื่อเราทำเสร็จเป็นผืน ภาพรวมที่ออกมาไม่ต้องกลัวว่าไม่สวย เพราะมันจะมีเอกลักษณ์ เป็นเสน่ห์ของงานแต่ละชิ้น
“แรกๆ ตัวเราเองทำงานนี้ก็ค้นพบว่าเป็นคนไม่ยอมปล่อยผ่าน ทำไม่สวยก็จะเลาะอยู่นั่นเอง จนต้องฝึกตัวเองว่าผืนนี้ต้องไม่เลาะ ซึ่งต้องใช้ความอดทนกว่าที่เราจะไม่เลาะได้(หัวเราะ) แต่รู้รึเปล่าว่าการทำงานที่อาจมีหลุดบ้างนี่เป็นเสน่ห์นะ หลายคนชอบแบบนี้ อาจมีหลุดบ้าง ไม่เนี๊ยบบ้าง แต่ถือว่าเป็นเสน่ห์ของงานฝีมือ มีชิ้นเดียว ซึ่งบางคนถึงขั้นต้องฝึกทำงานหลุดให้ออกมาเป็นธรรมชาติ(ยิ้ม)”
สำหรับครูทรายแล้ว แน่นอนว่าเริ่มแรก ความสมบูรณ์แบบ คือ เป้าหมาย จึงเป็นที่มาของฉายาที่เพื่อนๆ ตั้งให้ว่า “ทรายสร้างโบสถ์สร้างวิหาร” เพราะทำใหญ่ตลอด แต่ทุกวันนี้ด้วยประสบการณ์ตัวเอง และการสอนผู้อื่น พบว่าบางครั้งต้องปล่อยผ่าน ซึ่งตอนนี้ก็ทำได้แล้ว เพราะเวลาสอนเราต้องทำให้ได้ด้วย
“ไม่อย่างนั้นการทำงานฝีมือแทนที่จะได้ความรื่นรมย์กลับต้องมานั่งกลุ้มหน้าเครียดว่างานไม่สวยซักที”
เส้นทางครูสอนปักผ้า
ครูทราย เล่าให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีทำงานเป็นเลขานุการบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง แต่ทำได้ 2 ปี ก็ตัดสินใจลาออกไปรับงานโปรเจ็คต์ขององค์กรเอกชนหนึ่งถึง 10 ปี ซึ่งงานโปรเจ็คต์นี้ทำภายใต้เงินทุนที่อาจไม่มั่นคงนัก แต่ก็มีทั้งความท้าทาย และ สนุก ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ครูทรายตัดสินใจไม่กลับไปทำงานในรูปแบบบริษัทอีกเลย
จากนั้นเริ่มทดลองเรียนคอร์สต่างๆ ที่สนใจ ตั้งแต่ย้อมคราม แต่เมื่อเรียนเสร็จก็พบว่าทำจริงไม่ได้ เพราะการย้อมครามต้องมีการก่อหม้อ เลี้ยงคราม จึงหันไปเรียนย้อมธรรมชาติ ซึ่งพอมีความเป็นไปได้ แต่ไม่ตอบโจทย์ของชีวิตนัก จึงลองหันมาเรียนปักซาจิโกะ ซึ่งแท้จริงแล้วก็ คือ การปักที่เรียกว่า รันนิ่ง สติช นั่นเอง
แม้ปักซาจิโกะจะยังไม่ตอบโจทย์ตรงเป้านัก แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ไปเรียนกับ ครูอ๋าย-นพเก้า เนตรบุตร ศิลปินปักลวดลายผ้าผู้โด่งดัง ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต
“ไปเรียนกับครูอ๋าย แล้วเราทำได้ ก็ชอบมาก ครั้งแรกเราเรียนปักเม็กซิกันเลย ซึ่งเป็นระดับแอดว๊านซ์ แต่ถ้าคนไม่มีพื้นฐานมาจะได้ไม่เท่ากัน เจอน้องคนหนึ่งปักไม่ได้เลย ไปไม่เป็น บังเอิญเขาอยู่ใกล้บ้าน เราเลยไปสอนให้เขาต่อ”
จากวันที่เริ่มต้นจนปัจจุบัน เป็นเวลา 1 ปีเต็มที่ครูทรายได้ค้นพบพรสวรรค์ของตัวเองผ่านการเรียนคอร์สปักผ้า กระทั่งยึดเป็นอาชีพ โดยวันนี้สอนสตูดิโอ 1 ที่ และ รับสอนส่วนตัวด้วย
ครูทราย แนะว่า สำหรับคนไม่มีพื้นเลย การปักผ้าพื้นฐานมีความสำคัญมาก เพราะสเต็ปที่เป็นแอดวานซ์จะยากขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นแบบเม็กซิกัน ที่ต้องใช้ไหมใหญ่ แล้วปักให้ไหมอยู่ในแนว หรือ ปักทึบ รวมถึงปักโรมาเนีย หรือ ปักแอดวานซ์ ที่ต้องใช้พื้นฐานเบสิคอย่างมาก
ในยุคที่ผู้คนแสวงหางานอดิเรกเพื่อชุบชูใจจากการงานอันคร่ำเครียด การหาคอร์สเรียนในวันนี้จึงเป็นการให้โอกาสตัวเองที่จะพบกับสิ่งนั้น เฉกเช่นครูทรายที่สุดท้ายได้ค้นพบว่า “งานปัก” คือ ความรื่นรมย์ของใจ
มากกว่านั้นเป็นงานที่ทำมาหาเลี้ยงชีพได้จริง