เปิดเทคนิคการใช้สารพัดบัตรเกี่ยวกับเงินทองในกระเป๋าสตางค์ ที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้

Money เงินทองต้องรู้

ทุกๆ สิ้นเดือนหลายคนเปิดกระเป๋าตังค์แล้วลมจะจับ นั่นเพราะว่าเราไม่เห็นแบงก์สีเทาสักใบ หรือมีเพียงแบงก์สีแดงกับแบงก์สีเขียวซึ่งมีอยู่น้อยนิด แต่เราต้องเก็บอาการแกลบเอาไว้ในใจไม่ให้ใครรู้ เดี๋ยวจะเสียฟอร์ม และนอกจากจะมีแบงก์อยู่ไม่กี่ใบแล้ว ส่วนหนึ่งจะเห็นบัตรแข็งต่างๆ ที่อยู่ในกระเป๋าของเรา ซึ่งแต่ละบัตรก็เป็นเสมือนตัวช่วยของเราได้เป็นอย่างดี และยังต้องมีหากจำเป็น

บัตรเดบิต : รูดง่ายได้ทั่วโลก ผ่านบัญชีเงินออมทรัพย์ของเรา

ส่วนใหญ่ “บัตรเดบิต” ใบนี้ทุกคนมักมีกันอยู่แล้วซึ่งเหมือนบัตรเอทีเอ็มเดิมๆ แต่นอกจากเราสามารถกดเงินสดในบัญชีออกมาใช้ได้แล้วยังรูดซื้อของผ่านบัตรใบนี้ได้โดยไม่มีดอกเบี้ย เพราะเป็นการรูดออกจากบัญชีเงินออมทรัพย์ของเรานั่นเอง แต่อย่ารูดเพลินจนลืมว่าไม่ใช่บัตรเครดิต เพราะเงินในบัญชีก็จะลดลงตามไปด้วย เดี๋ยวรู้ตัวอีกทีเงินในบัญชีหายเกลี้ยง

นอกจากนี้ บัตรเดบิตในประเทศไทยยังสามารถนำไปซื้อสินค้าหรือกดเงินสดในต่างประทเศได้ด้วย ซึ่งเป็นบัตรที่มีตราสัญลักษณ์อยู่มุมขวาล่าง นับว่าเป็นบัตรที่ยอมรับกันทั่วโลกอีกด้วย

เท่านั้นไม่พอ บัตรเดบิตของหลายสถาบันการเงินยังพ่วง “บัตรส่วนลด” รวมอยู่ด้วย พร้อมมีโปรโมชั่นการใช้จ่ายอีกมากมายให้เราเลือก อาทิ ธนาคารกสิกรไทย เน้นความน่ารักของบัตรด้วยลวดลายบนบัตรต่างๆ พร้อมกับโปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ ที่จัดเต็ม

-บัตรเดบิตพลัสของธนาคารไทยพาณิชย์ เราจะได้ทั้งบัตรเดบิตและความคุ้มครองจากอุบัติเหตุ และยังสามารถถอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มทั่วโลกที่มีเครื่องหมาย Cirrus และถอนได้เป็นจำนวน 200,000 บาท/วัน

-บัตรกรุงศรีเดบิตออมทรัพย์ ที่มาพร้อมกับคำว่า จ่ายบิลฟรี! กดเงินทุกตู้ทุกธนาคารฟรี! เป็นต้น

แต่โดยส่วนใหญ่บัตรเดบิตนี้จะเป็นบัญชีธนาคารที่ทางนายจ้างของเราเลือกทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น โอนเงินเดือนให้เรานั่นเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเปิดเพียง 1 บัญชี เราสามารถเปิดบัญชีออมทรัพย์และสมัครบัตรเดบิตได้อีกกับทุกธนาคาร แต่จะต้องมีเงินหมุนเวียนในบัญชี เพราะทุกบัตรก็มีค่าธรรมเนียมรายปีอยุ่เหมือนกันนะ และอย่างน้อยควรติดบัญชีไว้ 500 บาท

บัตรเครดิต : บัตรกดเงินอนาคต ง่ายตรงปลอดหนี้ ชีวีปลอดภัย

สำหรับสาวออฟฟิศอย่างเรา ส่วนใหญ่แล้วก็มี “บัตรเครดิต” ไว้ใช้จ่ายกันทั้งนั้น โดยกลไกของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมี “ข้อดี” ก็คือไม่ต้องพกเงินสด สะดวกต่อการใช้จ่าย และในกรณีที่ต้องใช้จ่ายสิ่งนั้นๆ บ่อยๆ เช่น การเติมน้ำมันรถยนต์ ใช้จ่ายบัตรเครดิตไว้แลกบัตรส่วนลด เป็นต้น แต่ก็ต้องระวังรูดเพลิน เวลาบิลเก็บส่งตรงถึงบ้าน (หรือที่ทำงาน) ก็แทบหงายหลังเพราะเยอะเกินตัวนั่นเอง (อาทิ ใช้เต็มวงเงิน)

ทั้งนี้ ก่อนที่เราจะสมัครบัตรเครดิตกับสถาบันการเงินใด ขอแนะนำว่าควรดูที่ “โปรโมชั่น” ที่ตรงใจใช่เลยกับไลฟ์สไตล์ของเรา จุดนี้สำคัญที่สุด เพราะเงื่อนไขของแต่ละธนาคารที่เราเลือกนั้นย่อมต่างกันออกไป ไลฟ์สไตล์ของนเราก็ไม่เหมือนกัน

คนชอบท่องเที่ยว หรือโดยเฉพาะคนที่มักจะเดินทางด้วย “เครื่องบิน”ก็ควรจะมีบัตรเครดิตที่ให้โปรโมชั่นส่วนลดพิเศษสูงสุดถึง 5% สำหรับการซื้อตั๋วเครื่องบินและทัวร์ในประเทศ พร้อมได้รับการคุ้มครองอุบัติเหตุจากการเดินทาง

2

คนที่ชอบความบันเทิง กิน และช้อปปิ้ง ก็จะสามารถรูดบัตรได้เลย เพราะว่ามีโปรโมชั่นร้านค้า ร้านเสื้อผ้า ร้านอาหารต่างๆ รวมทั้งโรงแรม ที่พัก เพื่อเก็บสะสมบัสแลกของต่างๆ หรือใช้เป็นส่วนลดได้

คนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวมือใหม่ ต้องดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบ้าน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมทั้งสินค้าขนาดใหญ่เข้าบ้าน มักต้องจัดการระบบการเงินด้วยการผ่อนชำระ ซึ่งบางธนาคารก็มีแบบอัตราดอกเบี้ยน้อย ผ่อนนาน หรือดอกเบี้ย 0% 10 เดือน หรือกระทั่งระบุสินค้าที่สามารถเข้าร่วมในการซื้อผ่านบัตรเครดิตเพื่อเป็นส่วนลดได้

เพราะฉะนั้น เวลาจะซื้อของ นอกจากจะดูความชอบส่วนตัว ดูคุณภาพของสินค้าแล้ว อย่าลืมดูว่ารูดบัตรเครดิตธนาคารอะไรแล้วคุ้มด้วยล่ะ ที่สำคัญอย่าลืมอ่านข้อกำหนดและเงื่อนไขที่เป็นดอกจันเล็กๆ ย่อยๆ เยอะๆ ด้านล่างนั้นด้วย เพราะจุดสำคัญมันอยู่ตรงนั้น รวมทั้งค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีที่ต้องอ่านกันให้ขึ้นใจเลยทีเดียว

เทคนิคการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตให้ชีวีมีสุขนั้นก็คือ จ่ายให้ตรงกับระยะปลอดหนี้ ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะมีเงื่อนไขแต่ละบัตรเครดิตไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องของระยะปลอดอกเบี้ย หรือที่บางคนเรียกว่า “ระยะปลอดภัย” ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ 45 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดบัตรและเงื่อนไขแต่ละธนาคารอีกเช่นกัน

ระยะปลอดภัยนี้คือ การที่เราต้องจ่ายให้ครบภายในระยะเวลาที่กำหนด ภายหลังรูดปรื๊ดๆๆ เราจะได้ไม่ต้องมานั่งกุมขมับกับดอกเบี้ยที่มีอัตรามากกว่า 10% ขึ้นไป (ตาโต!)

แนะนำเพิ่มเติมว่า หากกลัวลืมจ่าย หรือเกรงว่าจะหมุนเงินสดไม่ทัน ก็ให้สมัครบัตรเครดิตกับธนาคารที่เป็นบัญชีเงินเดือน ซึ่งสามารถกำหนดได้ว่าให้หักค่าบัตรเครดิตผ่านบัญชีเงินเดือนของเราได้เลย หรือเลือกสมัครบัตรเครดิตที่มีธนาคารอยู่ใกล้บ้าน แม้ไม่ได้หักโดยตรงจากบัญชีแต่ก็ยังสะดวกต่อการชำระอยู่ดี

นอกจากนี้ หากเราใช้จ่ายอย่างถูกต้องและถูกทาง มันจะเป็นหนึ่งในตัวช่วยเรื่องของการจับจ่ายด้วยการหมุนเงินเบาๆ ให้ตัวเราเองได้อีกด้วย เช่น เมื่อเราอยากซื้อของที่มีราคาสูง หากมีบัตรเครดิต (บางธนาคาร) ก็จะได้รับส่วนลดเป็นเปอร์เซ็นต์อีก ไปๆ มาๆ ซื้อผ่านบัตรเครดิตกลับถูกกว่าพกเงินสดเป็นตั้งๆ ไปซื้อเสียอีก ดีไม่ดีได้ของแถมอะไรติดไม้ติดมือกลับมาอีก

โดยเฉพาะเรื่องการผ่อนชำระ บางธนาคารก็มอบโปรโมชั่นดอกเบี้ย 0% นานกี่เดือนก็ว่าไป ซึ่งหากเราชำระตรงงวด และเต็มจำนวนโดยไม่ผ่อนยิบย่อย ซึ่งส่วนใหญ่ธนาคารจะให้ผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% ของยอดเงินรวมได้ เราก็จะสามารถอยู่กับบัตรเครดิตได้อย่างปกติสุข

แต่โปรดอย่าลืมว่าส่วนต่างที่ยังไม่ได้จ่ายของ 10% นี้ก็คือ การคำนวณเป็นดอกเบี้ยเหมือนกันนะ (แล้วเมื่อไหร่จะปลดหนี้สักทีล่ะงานนี้)

 

ท้ายสุดแล้ว การที่เราจะมีบัตรเครดิตสักใบก็จะเป็นประโยชน์หากเรารุ้จักใช้ รู้จักจ่าย ไม่หมกหนี้ ไม่เป็นหนี้ดอกเบี้ย สมัครไว้คนละ 1 ใบไม่ได้แปลว่าเราเป็นหนี้ แต่เราขอเรียกว่าคนมีเครดิตจะดีกว่าค่ะ เพราะหากจ่ายตรง จ่ายเต็ม ก็เป็นการหมุนเงินระบบใช้ก่อนจ่ายทีหลัง ทั้งยังมีเครดิตสำหรับการกูเงินซื้อบ้าน หรือเพื่อทำธุรกิจเล็กๆ ของเราด้วยนะ

แต่ขอแค่เบาๆ ก็พอนะคะ มิเช่นนั้นหากจัดเต็มวงเงินทุกบัตรทุกใบแล้วละก็…ขอบอกไว้เพียงแค่ว่า “ชีวิตพัง!” สถานเดียวค่ะ

บัตรกดเงินสด : ทันใจ ผ่อนจ่ายทีหลัง (จะดีจริงหรือ?)

บัตรกดเงินสด อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการหาตัวช่วยเรื่องต้องการใช้เงิน “ฉุกเฉิน” โดยไม่ต้องไปยืมเพื่อนให้เสียหน้า ไม่ต้องแบกหน้าไปยืมอาบังดอกเบี้ยมหาหิน โดยบัตรกดเงินสดนี้สามารถเบิกเงินสดออกมาจากเครื่องเอทีเอ็มทั่วประเทศได้เลย เป็นการใช้เงินแบบวงเงินสำรองระยะสั้น หรือที่เรียกว่า กู้เงินสดระยะสั้น ระยะเวลาไม่เกิน 4 เดือน อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 28% ต่อปี

บางคนเมื่อเห็นอัตราดอกเบี้ยแบบนี้ก็แทบหงายหลัง อยากจะหันกลับไปซบอกอาบังจริงๆ เหตุที่ดอกเบี้ยสูงนั้นมีเหตุผลอยู่ว่า มันสามารถเบอกถอนได้แบไม่มีกำหนดระยะเวลา แต่มีกำหนดในการผ่อนชำระคืนที่ชัดเจนนั่นเอง ซึ่งสถาบันการเงินที่เราทำบัตรจะคิดดอกเบี้ยจากยอดรวมที่เราเบิกเงินจนถึงวันที่ชำระค้างอย่างน้อย 3-5% ของยอดค้างชำระ

อีกอย่าง สามารถสมัครบัตรนี้ได้เลยแม้รายได้ไม่ถึง 15,000 บาทก็ตาม และวงเงินที่จะได้รับนั้นสูงสุดอยู่ที่ 3 เท่าของรายได้ ส่งผลให้มีคนจำนวนมากพกบัตรนี้อยู่ในกระเป๋ามากกว่าการพกบัตรเครดิตนั่นเอง

แต่อย่าลืมว่าหากเราคิดจะสมัครไปเสียทุกบัตร ก็ควรตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมให้ถี่ถ้วนด้วย ว่าเราสามารถผ่อนจ่ายหนี้สินของเราได้มากน้อยแค่ไหน บัตรแบบไหนที่เหมาะกับเรา มาเป็นตัวช่วยในชีวิตของเราและไม่กลายเป็น “ภาระ” มากจนเกินไป

4

บัตรสมาชิก (สำหรับส่วนลดต่างๆ)

ด้วยความที่เราเป็นหนึ่งในสาวชอบช้อป และมีการใช้จ่ายในที่ซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง จึงเลือกทำบัตรสมาชิกต่างๆ เพื่อใช้เป็นส่วนลดราคาสินค้าได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะสามารถลดราคาสินค้าได้ประมาณ 3-15%

เช่น เราซื้อของ 300 บาท ใช้บัตรส่วนลด 3% ก็จะเหลือเท่ากับ 291 บาท แถมยังมีแต้มไว้เพื่อเป็นส่วนลดเพิ่มในการใช้จ่ายครั้งหน้าอีกด้วย และเพื่อความสะดวกต่อการใช้งาน อาทิ บัตรสมาชิกร้านหนังสือ ร้านเครื่องสำอาง บัตรห้างสรรพสินค้า บัตรสมาชิกร้านกาแฟ เป็นต้น

ส่วนใหญ่ค่าสมัครก็คนละ 50 บาทขึ้นไป คิดเป็นปีต่อปี รวมทั้งยังได้สิทธิประโยชน์พิเศษจากทางร้านนั้นๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ยังมีบัตรอื่นๆ อีก เติมเงินทางด่วน (Easy Pass) บัตรรายเดือนรถไฟฟ้า สำหรับคนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว หรือเลือกใช้บริการจ่ายรายเดือนค่าโทรศัพท์และค่าอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้อยุ่ในกระเป๋าของเราหรอก แต่รวมไว้ในหใดนี้เพราะเป็นลักษณะเหมาจ่าย ซึ่งจะช่วยให้เราบริหารเงินในกระเป๋าของเราได้ดีขึ้น

เมื่อเรารู้ว่ามีรายจ่ายที่ตายตัวเท่าไร โดยคิดจากการที่เราจ่ายแบบเหมาหรือรายเดือน เราก็จะสามารถจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายของเราได้ง่ายขึ้น และไม่งงกับเงินที่ใช้จ่ายในแต่ละวันด้วย


 

ที่มา หนังสือ Knock Down Money ออมเงินให้อยู่หมัด! โดย ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ สนพ.มติชน