อย่างที่รู้กันดี ว่าในวันที่ 6 กันยายน 2561 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า พระราชวังดุสิต จะมีงานพิธีใหญ่จัดขึ้นเพื่อขอบคุณผู้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือโค้ชและเด็ก 13 คนทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ติดในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ที่รอดชีวิตออกมาอย่างปลอดภัย
งานนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ได้พระราชทานอาหารจัดเลี้ยงด้วย โดยอาหารที่นำมานั้นมาจากร้านมีชื่อหลายๆ ร้าน ที่เล่าลือถึงความอร่อย งานนี้รูปแบบการจัดงานเน้นโทนสีขาว เขียว ม่วง เป็นหลัก ขณะนี้มีรายชื่อผู้ตอบรับเข้าร่วมงานทั้งหมด 6,100 คน จากที่ลงบัญชีไว้ 12,000 คน ส่วนแขกจากต่างประเทศได้ตอบรับคำเชิญแล้ว 96 คน จากที่ประมาณไว้ 210 คน ประกอบด้วยทูต สื่อมวลชน นักประดาน้ำ และผู้เชี่ยวชาญ คาดว่าหลังจากนี้จะทยอยตอบรับและเดินทางมาร่วมงาน
ขณะที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดเตรียมยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่จะมาร่วมงานด้วย โดยมีจุดรวมพลที่บริเวณสนามหลวง จากนั้นจะมีรถจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ข.ส.ม.ก.) รับส่งไปยังลานพระราชวังดุสิต ตั้งแต่เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป
สำหรับอาหารพระราชทานนั้น มีอาหารไทยโบราณรวมอยู่ด้วย ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นชื่อและรู้จักหน้าตามาแล้ว แต่อีกหลายคนก็อาจจะยังไม่รู้จัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่เป็นขนมหวานโบราณ 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่ บุหลันดั้นเมฆ เสน่ห์จันทร์ จ่ามงกุฎ และ ทองหยิบทองหยอด นอกเหนือจากเครื่องคาว อาทิ ข้าวแกงเขียวหวานพริกขี้หนู ข้าวแกงมัสมั่น เป็ดย่างลูกทุ่ง ขาหมูเยอรมันอบน้ำผึ้ง ส้มตำ-ไก่ทอด ทอดมันปลากราย กุ้งอบเกลือ สเต๊กไก่ เคบัปไก่ ข้าวหมกไก่ ซูชิ ซาชิมิ เป็นต้น
ว่ากันถึงขนมโบราณ “บุหลันดั้นเมฆ” ไม่แค่ชื่อไพเราะ แต่รสชาติก็นุ่มลิ้นอร่อยไม่แพ้ชื่อ ขนมชื่อนี้ “มติชน อคาเดมี” เคยทำและนำไปเสิร์ฟให้กับลูกค้าของทัวร์มติชน อคาเดมี “ตามรอยบุพเพสันนิวาส” เป็นทริปที่เดินทางไป จ.พระนครศรีอยุธยา มาแล้ว ซึ่งได้รับคำชมถ้วนหน้า หากจะแปลความหมายกันตามชื่อแล้ว คำว่า “บุหลัน” หมายถึง “พระจันทร์หรือดวงจันทร์” ส่วน “ดั้นเมฆ” เป็นคำกิริยา หมายถึงการลอยฝ่าไปในเมฆนั่นเอง
คราวนี้มาดูวิธีทำกันบ้าง บอกได้ว่า “ไม่ยากเลย” เริ่มที่ส่วนผสมก่อน จะประกอบด้วยแป้งข้าวเจ้า, แป้งท้าวยายม่อม, น้ำตาลทราย, น้ำดอกอัญชัน, ไข่แดง (ไข่ไก่) และกลิ่นมะลิ เมื่อได้ส่วนประกอบแล้วก็ถึงขั้นตอนลงมือทำ โดยนำแป้งทั้งสองชนิดผสมให้เข้ากันในอ่างผสม แล้วพักไว้ ต่อมานำน้ำตาลทรายละลายกับน้ำดอกอัญชัน คนให้น้ำตาลทรายละลายจนหมด หยดกลิ่นมะลิใส่ลงไปเล็กน้อย นำส่วนผสมน้ำเชื่อมค่อยๆ เทใส่ลงไปในส่วนผสมแป้ง ใช้ตะกร้อมือค่อยๆ คนให้ส่วนผสมเข้ากันดี ไม่เป็นเม็ด จากนั้นตั้งลังถึงใส่น้ำ 3 ใน 4 ของลังถึง ตั้งไฟแรงให้เดือด นำถ้วยตะไลเปล่านึ่งให้ร้อนจัด แล้วจึงค่อยๆ หยอดส่วนผสมแป้งใส่ลงให้จนเกือบเต็มถ้วยตะไล ปิดฝา นึ่งด้วยไฟแรงประมาณ 10 นาที
ต่อจากนั้นนำไข่แดงหยอดลงไปให้เต็มรอยบุ๋มของแป้งที่นึ่งอยู่ แล้วปิดฝานึ่งต่ออีก 5 นาที ยกขนมออกจากเตา พักไว้ให้เย็นสนิท แล้วจึงแคะออกจากถ้วย เท่านี้ก็จะได้ “บุหลันดั้นเมฆ” ที่หอมหวานและอร่อย
ส่วน “เสน่ห์จันทน์” ในที่นี้หมายถึง “ผลจันทน์” ซึ่งเป็นพรรณไม้มีผลสุกสีเหลือง มีกลิ่นหอม คนโบราณนำมาใช้ทํายาและปรุงเครื่องหอม แต่ด้วยความมีเสน่ห์ของผลจันทน์จึงนำมาประยุกต์ทำเป็นขนม โดยนำผลจันทน์ป่นมาเป็นส่วนผสมด้วย ทำให้มีกลิ่นหอมเหมือนผลจันทน์ เป็นขนมไทยโบราณอีกชนิดที่ดูน่ารักสวยงาม ส่วนผสมของ “เสน่ห์จันทน์” ได้แก่ แป้งเค้ก, น้ำตาลทราย, ไข่แดง(ไข่ไก่), กะทิอบควันเทียน, เกลือป่น, ผงจันทน์ป่น, สีผสมอาหารสีเหลือง, ผงโกโก้ และแผ่นทองคำเปลว
วิธีทำ เริ่มต้นจากนำแป้งผสมกับน้ำตาลทราย เกลือป่น ผงจันทน์ป่น ผสมเข้าด้วยกัน แล้วพักไว้ ค่อยๆใส่ไข่แดงลงไปทีละฟองจนหมด แล้วคลายแป้งด้วยน้ำกะทิ กรองเอาเศษแป้งที่เป็นก้อนออก จากนั้นนำขึ้นตั้งไฟกลาง กวนจนเริ่มจับกันเป็นก้อน แล้วลดไฟเป็นไฟอ่อน กวนจนร่อนออกจากกระทะ แล้วจึงยกลงพักไว้ให้เย็น แบ่งส่วนผสมที่กวนเสร็จแล้วออกมาเล็กน้อย นำไปผสมกับผงโกโก้ให้เป็นสีน้ำตาล เตรียมไว้ใช้สำหรับทำก้าน นำส่วนผสมมาปั้นให้เป็นก้อนกลม กดให้แบนเล็กน้อย ส่วนขั้วผลให้ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ติดลงไปที่ขนมตรงกลาง ใช้ไม้กดลงไปให้ติดกัน แล้วจึงติดแผ่นทองคำเปลวที่ก้านผล แค่นี้ก็ได้ “เสน่ห์จันทน์” ที่สวยงามและแสนอร่อยดูมีเสน่ห์สมชื่อจริงๆ
รู้จักขนมไทยโบราณในงานเลี้ยงพระราชทาน “รวมใจเป็นหนึ่งเดียว United as One”แล้ว หากสนใจอยากลงมือทำขนมโบราณเหล่านี้ด้วยตัวเอง สอบถามได้ที่ “มติชน อคาเดมี” สถาบันสอนทำอาหาร ในเครือบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) ได้เลย เพราะที่นั่นสอนจริง ลงมือทำจริง เพื่อให้เป็นมืออาชีพจริงๆ