ชื่อของ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” เจ้าของฉายา “เฒ่าสารพัดพิษ” แล้วยังเป็น “เสาหลักประชาธิปไตย” ของประเทศไทย มากด้วยบทบาททางการเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงด้านสังคม จึงได้สมญานามอีกหนึ่ง ว่า “ปราชญ์แห่งสยาม” ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2538 ซึ่งเป็นปีที่ท่านเสียชีวิต คนสมัยนั้นต่างเคารพยกย่องและนับถือท่านอย่างมาก นับเป็นบุคคลอีกผู้หนึ่งที่ทรงอิทธิพลอย่างสูงในยุคนั้น ส่วนคนรุ่นหลังหรือรุ่นปัจจุบัน โดยทั่วไปอาจจะไม่รู้จักท่านนัก เพราะเวลาผ่านมานานถึง 25 ปี อย่างไรก็ดี คุณงามความดีและคุณูปการหลายๆ อย่างของท่าน ก็ยังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้
ในที่นี้ ขอยกเรื่องอาหารการกินที่เกี่ยวข้องกับคุณชายคึกฤทธิ์มากล่าวถึงบ้าง นอกเหนือจากบทบาททางการเมืองของท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นับเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีฝีมือทางด้านการครัว เป็น “พ่อครัวหัวป่าก์” แท้จริง และอาหารการกินจากสำรับซอยสวนพลู ต้องยกนิ้วให้ว่าไม่เป็นสองรองใคร ตัวคุณชายเองก็ได้เขียนตำราเกี่ยวกับอาหารเอาไว้มากมายหลายเมนู โดยเฉพาะเรื่องของ “น้ำพริก” ที่มีคนกล่าวขานถึงไม่หยุดหย่อน
สำหรับครั้งนี้ขอนำเสนอ “ตำราตำน้ำพริก” ของคุณชายคึกฤทธิ์มาให้ทดลองแสดงฝีมือกัน เป็นน้ำพริกอย่างง่ายๆ ชื่อว่า “สูตรน้ำพริกไม่ใส่กะปิ” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเริ่มแรกในการเข้าครัวก็ต้องรู้ก่อนว่าเครื่องปรุงหรือวัสดุในการทำมีอะไรบ้าง คงไม่ได้เรียบเรียงกันเป็นอย่างตำรากับข้าว แต่ให้นับและสังเกตเอาก็แล้วกัน น้ำพริกที่ไม่ใส่กะปิตามสูตรที่อาจารย์ใหญ่แห่งซอยสวนพลูเคยสอนบรรดาลูกศิษย์ลูกหาคนใกล้ชิดแบบสนิทจริงๆ มีอยู่ 3 ตำรับ หรือ 3 ครก ได้แก่ 1. น้ำพริกเต้าเจี้ยว 2. น้ำพริกเต้าหู้ยี้ 3. น้ำพริกปลากุเรา
เริ่มครกแรก “น้ำพริกเต้าเจี้ยว” นั้น ท่านให้ใช้ “เต้าเจี้ยว” แทนกะปิ โดยเต้าเจี้ยวที่ใช้ตำน้ำพริกครกนี้ควรเป็นเต้าเจี้ยวญี่ปุ่นที่เรียกว่า “มิสโซรุ” ซึ่งรสออกจะดีกว่าเต้าเจี้ยวจีน เลือกเอาอย่างที่มีส่วนค่อนข้างดำและแห้ง ไม่เปียกน้ำ วิธีทำเริ่มด้วยการโขลกกุ้งแห้งกับกระเทียม แล้วเติมเต้าเจี้ยวลงไปโขลกให้เข้ากัน จากนั้นใส่พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู โขลกพอบุบๆ ใส่มะอึกหรือมะดันถ้ามี พอเข้ากันดีแล้วก็ปรุงรสด้วยมะนาว น้ำตาลปึก ส่วนน้ำปลากับเกลืออาจจะไม่จำเป็นเพราะเต้าเจี้ยวเค็มอยู่แล้ว น้ำพริกครกนี้รับประทานกับมะเขือยาวเผา จะมีผักสดเติมอีกนิดหน่อย ก็ได้ เช่น ยอดผักบุ้ง มะเขือเปราะ และขมิ้นขาว ส่วนปลาเครื่องแนมนั้น ใช้ปลาดุกย่างทอด หรือจะเป็นปลาช่อน หรือปลาอื่นๆ ที่มีเนื้อมากๆ ทอดให้ฟูก็ได้เช่นกัน
น้ำพริกอีกครก คือ “น้ำพริกเต้าหู้ยี้” มีเคล็ดลับว่าถ้ามีแต่เต้าหู้ที่ขายในเมืองไทย ก็ขอให้ใช้แต่ “เต้าหู้เมืองสงขลา” เพราะรสดีกลมกล่อม ส่วนวิธีทำก็เช่นเดียวกันกับน้ำพริกเต้าเจี้ยว คือโขลกกุ้งแห้งกับกระเทียมก่อน เสร็จแล้วเอา เต้าหู้ยี้ลงโขลก เติมพริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู และน้ำมะนาว น้ำตาล ลงไป ส่วนน้ำปลากับเกลือดูเหมือนจะไม่จำเป็นเช่นเดียวกัน เพราะเต้าหู้ยี้เป็นของเค็มอยู่แล้ว จากนั้นปรุงรสตามที่ชอบ เป็นอันว่าตักใส่ถ้วยวางในสำรับรับประทานได้ ผักสดกินกับน้ำพริกใช้เหมือนกับน้ำพริกเต้าเจี้ยว
สำหรับน้ำพริกครกสุดท้าย คือ “น้ำพริกปลากุเรา” มีความแตกต่างจากสองครกแรกนิดหน่อย อย่างไรก็ตาม ครกนี้ขาด “กุ้งแห้ง” ไม่ได้ เหตุผลไม่มีอะไรมากแค่ว่าเนื้อปลากุเราไม่ว่าชิ้นโตสักเท่าไหร่ พอโขลกเป็นน้ำพริกเข้าแล้วก็จะเหลือเนื้อแต่น้อย ทำให้เป็นน้ำพริกครกเล็กไปไม่พอรับประทาน ฉะนั้น จึงต้องโขลกกุ้งแห้งกับกระเทียมใส่ในตอนแรกเริ่ม กะให้กุ้งแห้งพอแล้วเอาปลากุเราสักชิ้นหนึ่งปิ้งไฟพอสุก แกะเอาแต่เนื้อใส่ลงไปแล้วโขลกเข้าด้วยกัน นอกจากนั้นใส่มะอึก น้ำตาลปึก มะนาว พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า น้ำพริกครกนี้รับประทานกับ ปลาดุกย่างหรือปลาช่อนทอดก็ได้ ส่วนผักนั้นสามารถรับประทานได้กับผัดสดเหมือนน้ำพริกสองครกแรก แต่สำหรับคุณชายคึกฤทธิ์แล้ว ชอบรับประทานกับมะม่วงขบเผาะ ถึงหน้ากระท้อนก็รับประทานกับเนื้อกระท้อน หรือมิฉะนั้น ก็รับประทานกับชมพู่ที่มีเนื้อกรอบ แต่อย่าเป็นชมพู่สาแหรกหรือมะเหมี่ยว เพราะรับประทานแล้วไม่ได้รส
ทั้งสามตำรับนี้ ลองแสดงฝีมือได้เลย เพราะไม่ยากอะไร ขอแถมอีกนิดว่ามีคนใกล้ชิดคุณชายคึกฤทธิ์ เคยเล่าว่าที่บ้านซอยสวนพลู อาหารการกินในมื้อเย็น มักจะจัดทำเป็นสำรับ แต่ละสำรับจะต้องมีอาหารที่ถูกต้องตามสูตร อาทิ กับข้าวชนิดนี้ต้องกินแบบนี้ น้ำพริกแบบนี้ต้องกินกับผักแบบนี้ ให้ถูกต้อง มิเช่นนั้นรสชาติของอาหารจะไม่อร่อย พร้อมกับยกตัวอย่างให้น้ำลายสอกันเล่นๆ สัก 2 สำรับ
คือ สำรับแรก ประกอบด้วย แกงคั่วปลาดุกใส่มะระ (ปลาดุกหั่นชิ้นเล็กๆ บางๆ ติดหนังปลา กรุบกรอบทุกชิ้น) น้ำพริกกะปิกุ้งสด ผักสด ปลาทูทอดแกะก้าง มะเขือยาวชุบไข่ทอด แกงจืดหน่อไม้กระดูกอ่อนหมู แหนมผัดกระเทียมดอง สันในเนื้อย่างน้ำตก (หั่นสไลด์เป็นแว่นๆ หนาพอสมควร) ส่วนของหวาน มีขนมหม้อแกงถั่ว ผลไม้เป็นส้มเช้งจิ้มน้ำปลา สำรับที่สอง-เป็นแกงหมูเทโพ (ตำรับดั้งเดิมใช้ปลาเทโพสดตรงพื้นท้องที่มีมันมากๆ) น้ำพริกปลาดุกฟู ผักสด ปลาหยอง (เอาปลาช่อนแห้งไปย่างแล้วทุบให้เนื้อนุ่มฟู) แกงจืดลูกรอก ผัดวุ้นเส้นใส่หมูและกระเทียมดอง หมูบดทอด (ปั้นแบนๆ เหมือนแฮมเบอร์เกอร์แต่เล็กกว่า) ของหวานเป็นลิ้นจี่แช่อิ่ม ส่วนผลไม้คือสับปะรดนางแล
เห็นรายการอาหารแต่ละสำรับแล้ว ไม่กลืนน้ำลายเอื๊อกๆ ก็ให้มันรู้ไป!!