จากคอลัมน์ เคี้ยวตุ้ย…ตะลุยกิน โดย ชม นำพา [email protected] / นสพ.มติชน
เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสไปเที่ยวประเทศฟิลิปปินส์ ออกอาการตื่นเต้นพอควร เพราะที่ผ่านมาแทบไม่รู้ความเป็นอยู่ของผู้คนประเทศนี้เลย อาจได้ดูได้เห็นผ่านข่าวการเมือง และข่าวภัยพิบัติทางธรรมชาติบ้าง แต่ข้อมูลทั่วไปโดยเฉพาะการท่องเที่ยวยังเห็นน้อย ที่ได้ยินบ่อยหน่อย คือ ความงดงามอลังการใต้ท้องทะเลฟิลิปปินส์ ที่นักดำน้ำมักนำมาเล่าสู่กันฟัง
กลับมาเรื่องอาหารการกินยิ่งไปกันใหญ่ ไม่คุ้นเลยสักนิด อาศัยเปิดอ่านตำราบอกไว้ว่า เนื่องจากฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีเกาะกว่า 7,100 เกาะ ทำให้อาหารแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันมาก
ทั้งยังความหลากหลายของคนฟิลิปปินส์ที่มาจากหลายเชื้อชาติตั้งแต่ชาวมลายู ฮินดู อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น รวมถึงชาวตะวันตกอย่างสเปน โปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ ทำให้อาหารฟิลิปปินส์นั้นมีการผสมผสานทั้งตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน กลายเป็นอัตลักษณ์ของคนฟิลิปปินส์ในที่สุด
สำหรับจุดหมายปลายทางของทริปนี้ คือ เลกัซปี้ เมืองหลักของจังหวัดอัลไบ (Albay) ใน ภูมิภาคบิโคล (Bicol) ตั้งอยู่ทางใต้ของ เกาะลูซอน เกาะที่มีผืนแผ่นดินกว้างใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์
การเดินทางไม่ยาก นั่งเครื่องบินจากไทยมาลงสนามบินนานาชาตินินอย อากีโน กรุงมะนิลา ใช้เวลาเดินทางราวๆ 2 ชั่วโมง 50 นาที แล้วต่อเครื่องภายในประเทศไปลงสนามบินเลกัซปี้ จังหวัดอัลไบ ใช้เวลาเดินทาง 40 นาที ก็ถึงที่หมาย
สำหรับชาวบิโคล หรือบิโคลาโน รับประทานข้าวสวยเป็นหลัก ส่วนกับข้าวนั้นหลากหลาย มีพระเอก คือ พริก นางเอก คือ มะพร้าว
ความเผ็ดของพริก และความมันละมุนของมะพร้าว เป็น 2 สิ่งที่คนเมืองนี้ผสมเข้าไปในอาหารเกือบทุกจาน โดยเฉพาะพริกเรียกว่าเครซี่มากๆ แม้กระทั่งของหวานอย่างไอศกรีม หรือเครื่องดื่มอย่างเบียร์ก็ยังมีรสพริก!
ได้โอกาสชิมลิ้มรสชาติโลคัลแท้ๆ ครั้งแรก ที่ ร้านอาหาร Socorro”s Lakeside restaurant and grill ร้านอาหารตกแต่งสไตล์ทรอปิคอล ตั้งอยู่ในสวนเชิงนิเวศชื่อ Sumlang Lake Eco Park
สวนนี้เป็นสวนที่ได้รับความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในการกำจัดวัชพืชในทะเลสาบ จนมีวิวทิวทัศน์ที่สวยสะอาดตา ถือเป็นมุมที่เห็นวิวภูเขาไฟมายอน แลนด์มาร์กสำคัญของเมืองที่สวยมาก
มื้อนี้มี 2 เมนูที่แปลกตา แต่รสชาติกลับคุ้นลิ้นคนไทยอย่างน่าอัศจรรย์ หนึ่ง คือ ปีนังงัด (Pinangat) จานนี้รสชาติคล้ายๆ หมกบ้านเรา แต่หอมละมุนลิ้นกว่า แหลมเค็มเล็กๆ
ส่วนประกอบหลัก คือ ใบเผือกหั่นเป็นชิ้น เนื้อปลาตากแห้ง ซึ่งพี่ร่วมคณะที่เป็นชาวภูเก็ตมั่นใจมากว่าเป็นเนื้อปลาเสียดตากแห้ง น้ำกะทิปรุงด้วยพริก เกลือ ขิง ตะไคร้ กะปิแบบที่กุ้งฝอยยังเป็นตัวๆ กระเทียม พริกไท
วิธีทำ คือ เมื่อได้น้ำกะทิปรุงแล้ว นำใบเผือกปูซ้อนกัน 3 ชั้น เลือกใบที่สมบูรณ์ไม่ให้รั่ว รวบใบเผือกที่หั่นเป็นชิ้นไว้มาวางบนใบเผือกซัก 2 กำมือ ตามด้วยตักน้ำกะทิที่ปรุงเสร็จสรรพมาใส่ในใบเผือก ให้พอประมาณ แล้วเติมพริกที่หั่นไว้ ปลาเสียดแห้ง
เมื่อครบเครื่องแล้วจัดแจงห่อใบเผือกโดยใช้ใบมะพร้าวที่ยังอ่อนมามัดห่อ นำไปเรียงใส่ในหม้อดิน แล้วเทน้ำกะทิที่เหลือใส่ลงในหม้อทั้งหมด ปิดฝานำไปต้ม ตั้งไฟแรงให้น้ำเดือด ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 2 ชั่วโมง ก็จะได้หมกกลิ่นหอม รสชาติมัน ละมุน เค็มนิดๆ รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ คือ ดีมาก
อีกจาน คือ Bicol Express ถือเป็นอาหารยอดนิยม เรียกตามการปรุง คือ หลนหมูสามชั้น จานนี้รสชาติถูกปากคนไทยอย่างแน่นอน เพราะมีความจัดจ้าน ครบรส เปรี้ยว เค็ม หวาน และมีความสไปซี่เล็กๆ ส่วนผสมมี หมูสามชั้น กระดูกหมู พริก กะทิ สับปะรด กะปิ หอม และกระเทียม
วิธีทำ คือ ตั้งกระทะใบใหญ่ เทกะทิลงไปตามด้วยกระเทียม หอม และกะปิ แล้วใส่หมูสามชั้น คนไปเรื่อยๆ จนกะทิเดือด แล้วหลนต่อไป 30 นาที หรือจนกระทั่งหมูนุ่ม แล้วค่อยปรุงรส เหยาะเกลือ พริกไทยดำ และพริกลงไป เสิร์ฟแบบร้อนๆ จานนี้รับประทานกับข้าวสวยชนิดลืมอิ่ม
และยังมีอีก 2 เมนูเด็ดคุ้นตาเราๆ คือ ไก่ทอด หนังกรอบ เนื้อนุ่ม รสชาติปรุงกลมกล่อม เอาจริงๆ ไก่ทอดที่นี่กินร้านไหนอร่อยร้านนั้น อีกจานคือ ปลาอินทรีทอด แสดงถึงความมั่งคั่งของท้องทะเลฟิลิปปินส์ได้อย่างดี
ส่วนของขบเคี้ยวมี ขนมที่ทำจากถั่วพิลี ของขึ้นชื่อของชาวจังหวัดอัลไบ รสชาตินั้นยกเทียบแมคคาเดเมียนัทเลยทีเดียว
จุดเด่นมีเนื้อสัมผัสเบา รสชาติมัน ส่วนใหญ่จะนำมาเคลือบน้ำตาล คลุกเกลือ และเคลือบงา เป็นอีกโปรดักต์ที่ชาวเมืองเลกัซปี้ภูมิใจนำเสนออย่างมาก ตบท้ายไอศกรีมพริก ที่คำแรกอาจจะแปลกๆ กับความเผ็ดที่อยู่ในไอศกรีม แต่กินไปกินมาก็เพลิดเพลินดี
ทุกครั้งที่เดินทางไปต่างแดนมักได้ยินคนไทยพูดถึงอาหารที่ไม่คุ้นลิ้นว่าไม่อร่อย เบือนหน้าหนี แต่ส่วนตัวมองว่าการลองอาหารต่างชาติต่างวัฒนธรรม บางครั้งเป็นเรื่องที่ต้องเปิดใจ เพราะการปรุงอาหารของแต่ละชาติล้วนเชื่อมโยงถึงวิธีคิดและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ หากปิดใจแล้วก็เหมือนการปิดโอกาสตัวเองที่จะเข้าถึงว่าแท้จริงแล้วความแตกต่างนั้นมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง
การรับประทานอาหารไม่คุ้นลิ้นอาจจะไม่ถูกปากเป็นเรื่องธรรมดา