เล่าความจริงในสังคมญี่ปุ่น
คนญี่ปุ่นพร่ำบ่นกับงานไหม? มีสิครับ เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน มีพอใจและไม่พอใจกับสิ่งต่างๆ ได้เหมือนกัน
เราอาจจะเห็นภาพว่า คนญี่ปุ่นบ้างาน ให้ความสำคัญกับงานมากกว่าทุกๆ เรื่องในชีวิต แต่มันมีหลายประเด็นเหมือนกันครับที่พนักงานบริษัทเองก็ “พร่ำบ่น” ต่อบริษัท และอยากให้เลิกกฎเกณฑ์หรือวัฒนธรรมต่างๆ
ผลการสำรวจจาก Goo Ranking ในเว็บไซต์ญี่ปุ่น มีการจัดอันดับวัฒนธรรมหรือกฎเกณฑ์บริษัทที่พนักงานไม่ชอบตามความอึดอัด หรือจะเรียกว่าซาลารี่แมนขอบ่นก็ได้
1.”โอฟรี” หรือ Service OT
พนักงานหลายคนทำงานเกินชั่วโมงที่มีการบัญญัติตามกฎหมาย ต้องทำงานนอกเวลา แถมเจ้านายยังบอกว่าให้ตอกบัตรตรงตามเวลาเข้า-ออก หรือเป็นการทำ “โอฟรี” ที่นายจ้างกำลังทำผิดกฎหมายนั่นเอง แบบนี้จะไม่ให้บ่นได้อย่างไร
2.ต้องเข้าประชุมรวมที่ไร้ความหมาย
หลายครั้งมีการประชุมรวมที่ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลแม้แต่นิด บางบริษัท โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ใช้เวลาเป็นวันในการประชุม แต่ก็ยังไม่สามารถตัดสินใจหรือสร้างผลลัพธ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ฉะนั้น การประชุมที่ไร้ความหมายจะทำให้ความกระตือรือร้นในการทำงานของเราตกลงไป
3.ไม่สามารถกลับบ้านก่อนรุ่นพี่หรือเจ้านาย
บรรยากาศนี้ผมสัมผัสมากับตัวครับ มันจะมีรังสีอะไรบางอย่างในที่ทำงานที่เข้ามาย้ำเตือนเราว่า “รุ่นน้องหรือพนักงานที่ยังมีประสบการณ์ในบริษัทน้อยต้องขยันขันแข็งมากกว่า” บางทีเคลียร์งานเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่เห็นเจ้านายยังทำงานอยู่ เราก็ต้องหาอะไรมาทำเพื่อฆ่าเวลารอให้เจ้านายกลับก่อน
4.ต้องท่องปรัชญาหรือวิสัยทัศน์ของบริษัท
ปรัชญา วิสัยทัศน์ หรือคำขวัญองค์กรที่บริษัทตั้งไว้เพื่อให้ดูดีในสายตาของคนรอบข้างนั้น มันจะดีมากถ้าพนักงานบริษัททุกคนเห็นด้วยและทำงานให้สอดคล้องต่อปรัชญาหรือวิสัยทัศน์ของบริษัท แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าบรรยากาศที่แท้จริงของบริษัทนั้นมันสวนทางกับปรัชญาหรือวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ พนักงานหลายคนอาจจะรู้สึกอึดอัดใจที่จะต้องพูดหรือท่องคำเหล่านั้นก็ได้
5.ถูกเปลี่ยนสิ่งที่เคยกำหนดไว้แล้วอย่างกะทันหัน
เรื่องนี้ลูกน้องมักจะได้รับปัญหาจากการที่เจ้านายมาสั่งให้เปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่กะทันหันทั้งๆ ที่คำสั่งก่อนหน้านี้คืออีกแบบหนึ่ง
6.ชอบใช้ผู้หญิงทำงานจับฉ่าย
เห็นได้ง่ายในออฟฟิศญี่ปุ่น ผู้หญิงที่ทำงานออฟฟิศส่วนใหญ่ (Office Lady) จะมีหน้าที่ชงชา เตรียมน้ำดื่ม หรือทำความสะอาดทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายการทำงาน
7.โดนบังคับให้ไปกินเลี้ยงสังสรรค์
หลายครั้งการทำงานทั้งวันก็เหนื่อยจะแย่ ยังต้องไปกินเลี้ยงสังสรรค์กับรุ่นพี่หลังเลิกงานทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากไป แถมบางครั้ง รุ่นพี่ก็ไม่เลี้ยง (ตามธรรมเนียมรุ่นพี่มักจะเลี้ยงหรือจ่ายเงินมากกว่า) ทำให้เราต้องออกเงินสะสมของตัวเองอีกด้วย
สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมการทำงานในญี่ปุ่นที่ผมเองก็สัมผัสได้ว่ามันมีอยู่จริงๆ หลายข้อผมเจอมาแล้วกับตัวเอง แต่ไม่ใช่ทุกบริษัทนะที่จะเจอเรื่องเหล่านี้
เชื่อว่าสิ่งที่จะช่วยลดความอึดอัดเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี คือ การสื่อสารสิ่งที่เราคิดออกไปอย่างสมเหตุสมผลและรู้กาลเทศะ ใช้วิธีการพูดที่ประนีประนอม ถนอมน้ำใจกัน เช่น วันไหนผมมีธุระจริงๆ ผมก็จะบอกเจ้านายไว้ล่วงหน้า พร้อมอธิบายเหตุผลและความจำเป็นของเราไว้ก่อนเสมอ ง่ายๆ แค่นี้เองถ้าเหตุผลมันฟังขึ้น ถ้าเขาเป็นเจ้านายที่เป็นผู้ใหญ่พอ เขาจะเข้าใจเรา
ถ้าเราทำได้ เราจะมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น ไม่ต้องมานั่งอึดอัดอีกต่อไปแบบ 7 ข้อข้างต้น
อย่าลืมนะ สื่อสารไปเหอะว่าเราคิดอะไร บอกไปอย่างสมเหตุสมผลในจังหวะเวลาที่เหมาะสมครับ
ที่มา หนังสือ JAPAN DARK SIDE ถึงร้ายก็รัก โดย บูม-ภัทรพล เหลือบุญชู สนพ.มติชน