ในการทำงาน เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอกับความเครียดและความกดดันจากสิ่งต่างๆ รอบตัว ดังนั้น เราก็ควรมีทักษะในการจัดการกับอารมณ์ หรือที่เรียกว่า EQ (Emotional Quotient) ซึ่งกลายเป็นคุณสมบัติสำคัญในการทำงานในยุคปัจจุบันไปแล้ว เพราะจะช่วยให้เราทำงานได้อย่างมืออาชีพ และมั่นคงในการทำงาน
EQ หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถในการจัดการอารมณ์ของตนเอง และยังรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นอีกด้วย เพราะการแสดงออกทางอารมณ์นั้นมีผลต่อผู้อื่นที่ต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งจะให้เราสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข หรือจะเรียกอีกอย่างว่าเป็นความฉลาดทางสังคมในการเข้าหาผู้อื่นก็ได้ จึงจำเป็นต้องมีความสามารถในการแยกแยะความแตกต่างทางอารมณ์ เพื่อจะบริหารจัดการความคิดและการกระทำต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
ดังนั้น EQ จึงมีความสำคัญกับการทำงาน เพราะเป็นตัวช่วยที่จะทำให้เรารับมือและเผชิญหน้ากับปัญหาได้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ภายนอกได้ แต่เราควบคุมตนเองได้ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการเป็นผู้นำหรือพนักงาน พร้อมที่จะเติบโตในหน้าที่การงาน โดย EQ ที่จำเป็นต้องมีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมีทั้งหมด 5 ด้าน ดังนี้
1. การตระหนักรู้ในตัวเอง (Self-Awareness)
เป็นความสามารถในการเข้าใจและรับรู้อารมณ์ของตนเอง ว่าแท้จริงแล้วเราเป็นคนแบบไหน อะไรคือข้อดีของเรา และอะไรเป็นข้อด้อยที่ควรปรับปรุงแก้ไข ต้องรู้ตัวเองว่าหากมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง จะมีการแสดงออกอย่างไร เพราะอารมณ์มีผลต่อพฤติกรรมที่เราจะปฏิบัติต่อผู้อื่น ดังนั้น เราควรฝึกฝนให้ตนเองมีสติ รู้เท่าทันตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อหาทางจัดการกับตัวเองให้ได้
2. การควบคุมตนเอง (Self-Regulation)
สืบเนื่องมาจากการตระหนักรู้ตัวเอง ในเมื่อการแสดงออกของเราจะมีผลกระทบต่อผู้อื่น เราจึงต้องควบคุมตนเองให้ได้ เพื่อที่จะไม่แสดงอาการในทางลบต่อหน้าผู้อื่น ซึ่งคนที่สามารถควบคุมตนเองได้ถือว่าเป็นคนที่ทำงานอย่างมืออาชีพ และสร้างความน่าเชื่อถือได้ ทำให้เรามีความยืดหยุ่น ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ดี และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ การฝึกการควบคุมอารมณ์ตนเองนี้จะต้องพยายามใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์
3. การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy)
“เอาใจเขามาใส่ใจเรา” คือ ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น หากคนที่เราร่วมงานด้วยอยู่ในอารมณ์ที่ไม่ดี สังเกตจากภาษากาย น้ำเสียง แววตา เมื่อเห็นดังนั้นก็ควรใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อช่วยแบ่งเบาหรือแสดงความเห็นอกเห็นใจ พร้อมเปิดใจรับฟังความคิดเห็นเมื่อเกิดปัญหา และเพื่อที่จะได้ปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์นั้นๆ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะทำให้เราเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีให้กับคนอื่นๆ
4. การอยู่ร่วมกับผู้อื่น (Social Skills)
เมื่อเราสามารถเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นได้ ปฏิบัติต่อผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างเราและเพื่อนร่วมงานเป็นไปได้ด้วยดี ทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานดี ลดบรรยากาศกระอักกระอ่วน และยังทำให้ใครๆ ก็อยากที่จะร่วมงานด้วย ทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นเริ่มต้นได้จากการเป็นผู้ฟังที่ดี ให้เกียรติผู้อื่น รู้จักความเกรงใจ รวมถึงกล่าวชื่นชมและให้กำลังใจผู้อื่นบ้างตามโอกาส
5. การมีแรงจูงใจ (Motivation)
การเป็นคนที่มีแรงจูงใจ มีเป้าหมาย มีพลังมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ และพร้อมที่พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา จะแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการทำงาน ทำงานได้อย่างกระตือรือร้น และยังส่งต่อพลังบวกนี้ไปถึงเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ได้ด้วย การสร้างแรงจูงใจในตัวเอง เราต้องหมั่นสร้างกำลังใจและให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ ไม่บั่นทอนตัวเองด้วยความคิดในแง่ลบ แต่ให้คิดบวกอยู่เสมอว่า “ฉันทำได้”
ที่มา : Sanook