เรื่อง : กมลชนก ครุฑเมือง
เรียกได้ว่าฝีมือคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ที่ไม่ใช่เฉพาะด้านงานหัตถศิลป์ แต่ด้าน “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” ก็โดดเด่นไม่แพ้กันเลยทีเดียว เห็นได้จากงานเปิดศูนย์เมคเกอร์อัจฉริยะ Innogineer ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล เมื่อไม่นานมานี้ ที่ภายในงานมีการโชว์เคส 9 ผลงานนวัตกรรมสุดล้ำฝีมือคนไทยให้ได้รับชม โดยล้วนเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์และสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ให้แก่สังคมได้ ส่วนจะมีอะไรบ้าง ลองไปดูกัน!
1.จับใจ (Jubjai) แชตบอทเฝ้าระวังผู้มีภาวะซึมเศร้าบนโลกออนไลน์
จับใจบอท เป็นแชตบอท ด้านสุขภาพจิตที่จะช่วยประเมินอาการซึมเศร้าของผู้ใช้งานบนโลก ซึ่งเป็นโปรแกรมให้ถามคำถามอัตโนมัติผ่านทางแชตออนไลน์ของเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “Jubjai Bot” โดยคำถามถูกพัฒนาขึ้นจากแบบประเมินสุขภาพจิตคนไทย หรือ TMHQ ให้อยู่ในรูปแบบการพูดคุยที่เป็นมิตร
ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติเสรี เจ้าของนวัตกรรม เผยว่า คำถามนั้นตั้งมาจากนักจิตวิทยา จึงสามารถเข้าถึงได้ทุกคน ผู้รับการประเมินสามารถเลือกตอบคำถามตามความรู้สึกได้ หากพบว่าผู้รับการประเมินนนั้นมีอาการซึมเศร้ามาก ก็จะช่วยในการตัดสินใจให้ผู้ที่ได้รับการประเมินไปพบแพทย์ได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลในรูปแบบประเมินทุกอย่างจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ
2.”ฝึกฝน” นวัตกรรมบำบัดสมองและแขน
“ฝึกฝน” เป็นนวัตกรรมบำบัดสมองและแขน โดยนำเอาวัสดุที่หาง่ายอย่างสเก๊ตบอร์ดมาใช้บำบัดส่วนแขนของผู้ที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ โดยมีการประยุกต์เข้ากับเกมเพื่อความเพลิดเพลิน และสามารถใช้งานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้
ผศ.ดร.เซง เลิสมโนรัตน์ เจ้าของนวัตกรรม เผยว่า เครื่องจะตรวจจับเซนเซอร์จากปลายมือ ซึ่งจะมีเซนเซอร์ตรวจจับสีอยู่บนพื้นโต๊ะ เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนมือไปยังสีต่างๆ จะแทนคำสั่งการควบคุมเกมบนจอคอมพิวเตอร์ ดังนั้นระหว่างการใช้งาน ผู้ป่วยก็จะได้ฝึกสายตา สมอง และการเคลื่อนไหวของแขนไปด้วย จึงเป็นการฟื้นฟูสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.เดินดี (Dearndee) เครื่องกระตุ้นเท้าตกแบบพกพาด้วยไฟฟ้า ตามจังหวะก้าวเดิน
อีกหนึ่งนวัตกรรมของ ผศ.ดร.เซง เลิสมโนรัตน์ เป็นนวัตกรรม เครื่องกระตุ้นเท้าตกแบบพกพาด้วยไฟฟ้าตามจังหวะก้าวเดิน เพื่อใช้สำหรับการทำกายภาพบำบัดผู้ป่วยอัมพฤกษ์ ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุที่ส่วนมากมีอาการปลายเท้าตก โดยที่เครื่อง “เดินดี” นี้มีอุปกรณ์ทั้งหมด 3 ชิ้น คือ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เซ็นเซอร์วางใต้เท้า และขั้วกระตุ้นที่จะติดไว้บริเวณด้านข้างหัวเข่า สำหรับกระตุ้นเส้นประสาท เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ป่วยยกส้นเท้าในจังหวะก้าวเดินได้คล้ายคนปกติ และยังสามารถฝึกสมองและกล้ามเนื้อไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ ยังสามารถกระตุ้นการบำบัดส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้อีด้วย
4.Alertz อุปกรณ์ช่วยเตือนหลับในขณะขับรถด้วยสัญญาณสมอง
ผลงาน “Alertz” เป็นไอเดียจากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นนวัตกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานกับผู้ขับขี่ยานพาหนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ขับขี่รถบรรทุกหรือรถโดยสารที่ต้องขับขี่เป็นระยะเวลานาน
Alertz เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นสำหรับการตรวจจับความเป็นไปได้ก่อนเกิดการหลับใน โดยจะแจ้งเตือนคนขับล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Brain-computer Interface ซึ่งเป็นวิธีการวัดสัญญาณสมองแล้วนำไปควบคุมหรือสั่งงานอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ นอกจากนี้ ตัวเครื่อง Alertz ยังสามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ เพื่อส่งข้อมูลผ่านทางสายยูเอสบีและบลูทูธได้อีกด้วย โดยจะมีแอปพลิเคชั่นรองรับการใช้งานบนมือถือ ซึ่งสามารถระบุตำแหน่งของผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์ได้
5.แม่พิมพ์หล่อซีเมนต์กระดูกแบบปรับเปลี่ยนตามกายภาพของผู้ป่วย
แม่พิมพ์หล่อซีเมนต์กระดูกแบบปรับเปลี่ยนตามกายภาพของผู้ป่วย เป็นนวัตกรรมชีวการแพทย์ที่นำเอาเทคโนโลยีและองค์ความรู้มาบำบัดรักษาผู้ป่วยด้านกระดูก ซึ่งมีภาวะแตกต่างกันได้อย่างลงตัว
ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ เจ้าของนวัตกรรม จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นวัตกรรมชิ้นนี้เป็นแม่พิมพ์สำเร็จรูปซีเมนต์ฆ่าเชื้อภายในกระดูกสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ที่มีการติดเชื้อจากการฝังโลหะในร่างกายเป็นระยะเวลานานๆ โดยสามารถออกแบบปรับเปลี่ยนแม่พิมพ์ได้ตามขนาดของเบ้าสะโพกผู้ป่วยที่แตกต่างกันเฉพาะราย โดยการออกแบบด้วย ระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Aided Design , CAD) และการผลิต (Computer Aided Manufacturing , CAM) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้วิจัยและพัฒนาร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
6.รถเข็นวีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสัญญาณสมอง
ผลงานชิ้นนี้เป็นของ รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ และ ดร.ดิลก ปืนฮวน จากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยให้ผู้ที่มีภาวะแขนและขาเป็นอัมพาต กลับมาเคลื่อนที่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อีกครั้ง โดยเฉพาะการเคลื่อนที่ภายในที่พักอาศัย โดยใช้สัญญาณสมองและการจินตนาการการเคลื่อนที่ (Motor Imagery) ในการควบคุมรถเข็นไปในทิศทางต่างๆ นอกจากนี้ยังควบคุมรถเข็นวีลแชร์ด้วยคางได้ และยังมีระบบการสร้างแผนที่แบบเรียลไทม์ด้วยการเก็บบันทึกจากประวัติการเคลื่อนที่ได้อีกด้วย
7.อุปกรณ์ขนาดพกพาเพื่อการตรวจวัดแร่ธาตุในพลาสมา
อุปกรณ์ขนาดพกพาเพื่อการตรวจวัดแร่ธาตุในพลาสมา เป็นผลงานของนายกฤติน ญาณวิทยากุล และ ดร.ศิระ ศรีนิเวศน์ อาจารย์ที่ปรึกษา จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล
โดยเป็นนวัตกรรมที่ใช้ในการตรวจวัดปริมาณแร่ธาตุในรูปของไอออนโซเดียม ไอออนโพแทสเซียม ไอออนคลอไรด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ ในน้ำเลือดที่ได้ทำการแยกเม็ดเลือดแดงออกแล้ว หรือที่เรียกว่า พลาสมา เพื่อให้ข้อมูลประกอบการวินิจฉัยโรคผู้ป่วยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ หรือสำหรับผู้ป่วยที่ต้องดูแลสุขภาพตัวเอง โดยมีความร่วมมือกับศูนย์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถานเวชศาสตร์ชันสูตร โรงพยาบาลศิริราช คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
8.อุปกรณ์ตรวจวัดสารเบนซีนในอากาศแบบพกพา
“อุปกรณ์ตรวจวัดสารเบนซีนในอากาศแบบพกพา” เป็นผลงานของนายณัฏฐชัย ทรัพย์วิไล นายนิธิวัฒน์ เหมทานนท์ และนายกฤศ มาตรไพจิตร์ จากภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดลโดยมี รศ.ดร.สุวรรณา (กิจผาดี) บุญตานนท์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยเป็นอุปกรณ์พกพาที่สามารถตรวจวัดปริมาณสารเบนซีนในอากาศ ณ แหล่งกำเนิดมลพิษได้อย่างแม่นยำ ซึ่งมีความละเอียดในการตรวจวัดมากกว่าเครื่องมือตรวจวัดเชิงพาณิชย์ทั่วไป
อุปกรณ์ดังกล่าวยังมีความสามารถในการเฉพาะเจาะจงสารมากกว่า เพื่อประเมินระดับความอันตรายในบริเวณนั้นๆ และใช้ในการวางแผนระบบบำบัดอากาศและป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ปัจจุบันการตรวจวัดสารเบนซีน ณ แหล่งกำเนิดยังไม่สามารถดำเนินการได้สะดวก เพราะยังจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนนำไปตรวจวัดด้วยเครื่อง Gas Chromatography ในห้องปฏิบัติการ แต่อุปกรณ์ตรวจวัดสารเบนซีนในอากาศแบบพกพานี้สามารถตรวจวัดปริมาณสารเบนซีนในอากาศ ณ แหล่งกำเนิดมลพิษได้ทันที
9.การแข่งขันยานยนต์ Formula Student
ทางทีมนักศึกษาชมรม Auto-Tech ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมแข่ง Formula ได้เข้าร่วมการแข่งขัน “โครงการ TSAE Auto Challenge หรือ Formula Student” ที่จัดโดยสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย หรือ TSAE (Society of Automotive Engineers Thailand) โดยมีขอบเขตตามกฎการแข่งขันที่กำหนดเป็นมาตรฐานจาก JSAE แห่งญี่ปุ่น โดยทางทีมนักศึกษาชมรม Auto-Tech ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมแข่ง Formula ได้วางแผนวิเคราะห์ปัญหาจากรถที่เข้าร่วมการแข่งขันในปีที่แล้วมา ออกแบบโครงสร้าง ออกแบบระบบช่วงล่าง เพิ่มสมรรถนะของเครื่องยนต์ ออกแบบระบบ Aerodynamic และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ ขึ้นบนตัวรถ รวมทั้งการทดสอบจริง เพื่อที่จะทราบปัญหาที่เกิดขึ้น จุดบกพร่อง และแก้ไขได้ทันท่วงทีเพื่อความพร้อมสำหรับการแข่งขันครั้งต่อไป
นับเป็นนวัตกรรมจากมันสมองของคนไทยที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง!