ปัจจุบันท่านผู้อ่านอาจไม่ได้ยินโรคหิดในชีวิตประจำวันมากเท่าไร เนื่องจากโดยรวม ประชาชนมีการสาธารณสุขที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม โรคนี้ก็ยังไม่ได้หมดไป การติดต่อเกิดจากการสัมผัสคนที่เป็นโรค มักพบได้บ่อยในบริเวณชุมชนที่อยู่กันหนาแน่น เช่น ในเรือนจำ ชุมชนแออัด สถานรับเลี้ยงเด็ก
อาการคันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน เกิดจากการที่ตัวหิดขุดเจาะผิวหนังชั้นบนสุดจนเป็นโพรง ส่งผลถึงระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Immune system) ของร่างกายมีการหลั่งสารเคมี ทำให้เกิดอาการขึ้นมา ซึ่งมักพบตุ่มขึ้นที่ข้อมือ ง่ามนิ้วมือ ข้อศอก ท้อง เอว เมื่อให้การรักษา ควรรักษาผู้เป็นหิดพร้อมผู้ใกล้ชิด หรืออาศัยบ้านเดียวกัน แม้ว่าจะไม่มีอาการ รวมทั้งต้องกำจัดหิดในสภาพแวดล้อม เช่น เสื้อผ้า ผ้าปู และที่นอน
ยาที่ใช้รักษามีทั้งแบบยากินและยาทาใช้ภายนอก โดยจะใช้เวลารักษาประมาณ 4 สัปดาห์ ปัจจุบันได้มีการวิจัยฤทธิ์ของว่านหางจระเข้ ที่นำมาสกัดแล้วทำเป็นเจลทาภายนอก ความเข้มข้น 25 เปอร์เซ็นต์ และ 12.5 เปอร์เซ็นต์ ทดสอบในผู้ใหญ่และเด็กที่เป็นโรคหิด โดยให้ทาเจลว่านหางจระเข้ติดต่อกันนาน 3 วัน ตั้งแต่บริเวณลำคอลงมาถึงเท้า และทาซ้ำอีกครั้งในสัปดาห์ถัดไป
ผลปรากฏว่า อาการคันลดลง ตุ่ม ผื่นลดลง รอยแผลแห้งและจางลง ซึ่งมีประสิทธิภาพดีใกล้เคียง เมื่อเปรียบเทียบกับยาทาแผนปัจจุบัน (benzyl benzoate lotion) โดยไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรง
คาดว่าเป็นผลจากสารกลุ่มแอนทราควิโนนที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ ข้อมูลดังกล่าวสนับสนุนภูมิปัญญานานนับพันปีในตำราสมุนไพรโบราณว่า มีการนำสมุนไพรว่านหางจระเข้มารักษาคันที่ผิวหนัง โรคผิวหนังพอง ผิวด่างดำ ช่วยบำรุงผิวหนังได้
การรักษาโรคหิด อาจจะใช้ระยะเวลานานเกิน 2-3 สัปดาห์ ทำให้คนไข้ใช้ยาไม่ครบกำหนดอยู่บ่อยๆ ส่งผลทำให้เป็นโรคอีกครั้ง ดังนั้น ควรใช้ยาให้ครบตามคำแนะนำของผู้ให้การรักษา ซักทำความสะอาดและตากแดด ที่นอน หมอน เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัวที่อาจมีตัวหิดเกาะอยู่ เพื่อป้องกันการกลับมาของโรคนี้
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ ในคอลัมน์พืชใกล้ตัว อภัยภูเบศรสาร ปีที่ 16 ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน 2561