“คีโตเจนิค” เป็นเทรนด์ลดน้ำหนักจากการจำกัดอาหารที่กินที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ในเมืองไทยก็มีคนที่ศึกษาวิธีการกินคีโตเจนิคอย่างจริงจังจนกลายเป็นกลุ่มกินคีโตที่นับวันจะยิ่งเพิ่มจำนวนสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะเป็นวิธีกินเพื่อลดน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การกินคีโตเจนิคก็มีข้อจำกัดที่ควรระวังอยู่บ้างเช่นกัน
รศ.พญ. ธนินี สหกิจรุ่งเรือง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายถึงข้อจำกัดที่ควรระวังของอาหารคีโตเอาไว้ ดังนี้
ข้อจำกัดที่ควรระวังของอาหารคีโตเจนิค
1. ในช่วง 1-3 สัปดาห์แรกที่เริ่มต้นกินคีโตเจนิค อาจพบผลข้างเคียงจากการขาดกลูโคสที่ใช้เป็นพลังงานตามปกติ เช่น
- ร่างกายอาจอ่อนล้า อ่อนเพลีย หมดแรงง่าย
- อาจรู้สึกวิงเวียน ปวดศีรษะ หน้ามืด
- ความดันโลหิตลดลง
2. มวลกล้ามเนื้ออาจลดลง ซึ่งเป็นผลจากปริมาณอินซูลินที่ลดลง
3. บางรายอาจพบมวลกระดูกลดลงจากการได้รับแคลเซียม และวิตามินดีลดลง ด้วยข้อจำกัดของอาหารที่กิน
4. บางรายอาจพบอาการท้องผูกจากการได้รับกากใยอาหารจากผัก และผลไม้ไม่เพียงพอ
5. อาจพบอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หัวใจเต้นเร็ว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ หรือที่เรียกว่า “หวัดคีโต” ได้
6. มีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น โพแทสเซียม แมกนีเซียม สังกะสี ทองแดง วิตามินซี และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไตได้ จากความไม่สมดุลของสารอาหารในร่างกาย
7. ผู้มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูง ที่จำเป็นต้องได้รับไขมันอิ่มตัว และไม่อิ่มตัวชนิดต่างๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล
ข้อควรระมัดระวังเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่สนใจกินคีโตเจนิค
อาหารคีโตอาจเป็นประโยชน์กับบางคน โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน และเบาหวานชนิดที่ 2 แต่งานวิจัยเกี่ยวกับอาหารคีโตส่วนใหญ่เป็นระยะสั้น ยังขาดการศึกษาติดตามในระยะยาวถึงผลกระทบต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ จึงควรปรึกษาแพทย์ หรือทีมผู้เชี่ยวชาญทางโภชนาการ ในการให้คำแนะนำ คำปรึกษา และตรวจติดตามสุขภาพในระยะยาว เพื่อป้องกันอันตราย หรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
ที่มา : Sanook.com