เที่ยวไปได้เรื่อยๆ เกียวโต-โอซาก้า : สนามบินคันไซ-วัดนันเซนจิ และศาลเจ้า

Travel ท่องเที่ยว

ว่าจะไม่แล้วเชียว แต่ยังไงก็อดใจไม่ได้ ที่ว่า “ไม่” คือไม่อยากเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนชวนคุยเรื่อง “ญี่ปุ่น” เพราะว่าญี่ปุ่นเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ไปได้ แค่นั่งเครื่องบินไม่กี่ชั่วโมงถึงแดนอาทิตย์อุทัยในพริบตา แต่อย่างว่าแหละ อาจยังมีบางสถานที่หรือบางอย่างที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยไป หรือเคยไปแล้วก็อยากไปอีก ไปกี่ครั้งกี่ครั้งก็ยังไม่เคยหยุดที่อยากจะไป

ครั้งนี้หมุดหมายอยู่ที่ “เกียวโต” และ “โอซาก้า” สองเมืองใหญ่ติดอันดับเมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่ของญี่ปุ่น รวมถึงด้านการท่องเที่ยวด้วย ถึงจะเป็นเมืองใหญ่ใครๆ ก็ไปมาแล้ว แต่ทั้งเกียวโตและโอซาก้า ก็ยังมีสิ่งใหม่ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมอยู่เสมอ ไปมาแต่ละครั้งไม่เคยเหมือนเดิมสักที อย่างการเดินทางครั้งนี้จุดหมายอยู่ที่บรรยากาศนอกเมือง เรียกว่าเป็น “อันซีน” ของเกียวโตและโอซาก้า นั่นเทียว

จากสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย การบินไทย สายการบินแห่งชาติ พาบินตรงไปลงที่สนามบินคันไซ ประเทศญี่ปุ่น สนามบินแห่งนี้เป็นสนามบินนานาชาติลอยน้ำแห่งแรกของโลกที่ลอยอยู่บนเกาะเทียม ยื่นเข้าไปในทะเลเซนชูของอ่าวโอซาก้า สร้างขึ้นในเดือนกันยายน ปี 1994 (พ.ศ.2537) พอมาถึงปี 2006 หรือ พ.ศ.2549 สนามบินคันไซได้พัฒนาเชื่อมโยงกับ 31 ประเทศ 71 เมือง กลายเป็นสนามบินใหญ่อีกแห่งของญี่ปุ่นที่มีผู้คนใช้เดินทางมากถึง 20 ล้านคน

ที่ชอบมาก คืออาคารผู้โดยสารขาเข้า มีสถานีรถไฟเชื่อมตรงอยู่ที่ชั้น 2 และมีรถประจำทางเข้า-ออกสนามบินจอดให้บริการที่ชั้น 4 การเดินทางเข้า-ออกสนามบินจึงสะดวกสบายอย่างยิ่ง อีกทั้งภายในอาคารผู้โดยสารมีทั้งร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และร้านนวดอยู่หลายร้าน

ก่อนมาญี่ปุ่นครั้งนี้ได้ความรู้ใหม่จากหนังสือของคนเขียนที่ชื่อ โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ เขียนถึงการเรียกชื่อประเทศญี่ปุ่นที่เคยเป็นข้อสงสัยของใครหลายคน โดยชาติตะวันตกเรียกว่า “เจแปน” คนญี่ปุ่นเรียกตัวเองว่า “นิปปง” ส่วนคนไทยเรียก “ญี่ปุ่น” คุณโฆษิตเขาเฉลยข้อสงสัยนี้ไว้ว่า ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากจีนแทบทุกเรื่อง รวมทั้งเรื่องภาษา ในภาษาจีนโบราณออกเสียงเรียกประเทศญี่ปุ่นว่า “จิปปง” กลายมาเป็น “นิปปง” ส่วนจีนปัจจุบันซึ่งใช้ภาษาจีนกลางหรือแมนดารินเป็นหลัก ออกเสียงว่า “ยื่อเปิ่น” เสียงคล้ายภาษาไทยที่เรียก “ญี่ปุ่น” ส่วนคนตะวันตกตั้งแต่สมัยนักสำรวจชาวอเมริกัน มาร์ โค โปโล เรียกขานญี่ปุ่นว่า “จิปันงุ” ต่อมาเสียงเรียกเปลี่ยนไปตามหูคนฟังที่พูดต่างภาษา ในที่สุด “จิปันงุ” เลยกลายมาเป็น “เจแปน”

“เกียวโต” เป็นเมืองหลวงเก่า ตั้งอยู่กลางหุบเขาในลุ่มน้ำยะมะชิโระ ทางฝั่งตะวันออกของที่ราบสูงทัมบะ ด้วยความที่เกียวโตล้อมรอบด้วยภูเขาสามด้าน และมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเพียง 1,000 เมตร จึงทำให้เกียวโตมีฤดูร้อนที่อากาศร้อน และฤดูหนาวที่อากาศหนาว

เมื่อเดินทางออกจากเมืองไทยเป็นเวลาเกือบๆ เที่ยงคืน ดังนั้น พอไปถึงเกียวโตจึงยังเช้าอยู่มาก ราวๆ หกหรือเจ็ดโมงเช้า บนถนนแทบไม่มีคน ร้านรวงยังปิดเงียบ จึงไม่มีอะไรดีไปกว่าหาร้านกาแฟอร่อยๆ นั่งละเลียดให้หายง่วง ความจริงแล้วเช้าตรู่ขนาดนี้หาร้านเข้าไปนั่งยากอยู่สักหน่อย ต้องอาศัยร้านขายของชำแบบเฟรชมาร์ทหรือเซเว่นบ้านเรา เข้าไปเดินเตร่ๆ พอให้ถึงสักเก้าโมงออกมาเดินหาอีกที

โชคดีว่ามีร้านชื่อ “คาเฟ่ ร็อกโค” เป็นร้านเปิดให้บริการอาหารเช้า เสิร์ฟชา กาแฟ ขนมปัง แซนด์วิช ซุปร้อนๆ เป็นร้านเดียวในย่านใกล้สนามบินที่เปิดเช้าขนาดนี้ คนญี่ปุ่นที่ต้องไปทำงานแต่เช้าจึงอาศัยร้านนี้นั่งรับประทานและดื่มกาแฟก่อนไปทำงาน นอกจากอาหารเช้าแล้ว ยังขายเมล็ดกาแฟทั้งแบบคั่วบดเป็นผง และแบบเม็ด กลิ่นหอมฟุ้งไปทั้งร้าน รสชาติกาแฟก็กลมกล่อมอร่อยดีทีเดียว ดื่มกาแฟคนละถ้วยกับแซนด์วิชอีกคนละคู่ ก็ได้เวลาออกตระเวนเกียวโตแล้ว

เกียวโตเป็นเมืองที่สร้างตามหลักฮวงจุ้ยของจีน โดยได้รับอิทธิพลจากเมืองฉางอาน เมืองหลวงของราชวงศ์ถังในสมัยนั้น โดยมีพระราชวังหันหน้าไปทางทิศใต้ ทุกวันนี้ พื้นที่ธุรกิจส่วนใหญ่ของเกียวโตตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพระราชวังเก่า แต่ได้รับความนิยมน้อยกว่าฝั่งเหนือของเมือง สิ่งก่อสร้างที่อยู่รอบ ๆ พระราชวังไม่ได้ตั้งตามหลักฮวงจุ้ยแบบโบราณแล้ว แต่ตัวถนนของเกียวโตยังคงความเป็นเอกลักษณ์นี้ไว้อยู่ รวมไปถึงความเขียวชะอุ่มของต้นไม้ใบหญ้าจากธรรมชาติ

ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะ เพราะฉะนั้น จึงระมัดระวังในเรื่องความสะอาดมาก กลัวเชื้อโรคจะแพร่กระจายในเกาะอย่างรวดเร็ว คนญี่ปุ่นบอกว่าถ้าเทียบกับเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นไม่ได้สะอาดแบบทุกวันนี้ และยังไม่พัฒนาก้าวหน้า แต่ด้วยแนวความคิด “ต้องร่วมด้วยช่วยกัน” ดูแลรักษาบ้านเมือง ถึงมีวันเช่นนี้เกิดขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสะอาดเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะเรื่องของการคัดแยกขยะ ถือเป็นอันดับ 1 ของโลกเลยทีเดียว

การจะทิ้งขยะในญี่ปุ่นจะสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ต้องดูให้ดีว่าเป็นถังขยะแบบไหน อย่างขวดน้ำพลาสติกหากจะทิ้งก็ต้องแยกตัวขวด แยกฝา เพราะเป็นพลาสติดคนละชนิดกัน กล่องนม กล่องเบียร์ ก็แยกกันชัดเจน เพราะฉะนั้นตามจุดต่างๆ เช่น จุดพักรถ จะมีถังขยะอย่างน้อย 5 ใบตั้งเรียงกันไว้รอรับขยะจากผู้คน แม้จะยุ่งยาก แต่ก็เป็นเสน่ห์ของญี่ปุ่นที่ทำให้คนอยากมาเที่ยว มาแล้วก็อยากมาอีก มาได้เรื่อยๆ มาได้ทุกฤดูกาล

จุดหมายแรกของวัน คือ “วัดนันเซนจิ” (Nanzenji Temple) เป็นวัดอยู่ชานเมืองในเขตซะเคียว ทางทิศตะวันออกของเมืองเกียวโต ห่างไกลจากเส้นทางของนักท่องเที่ยวทั้งหลาย และถือเป็นเส้นทางแปลกใหม่ของการท่องเที่ยวเมืองเกียวโตด้วย ที่วัดแห่งนี้ผู้คนจะหลั่งไหลมาดูใบไม้แดงที่มีอยู่เต็มไปหมด ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษยามเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงอยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงปลายพฤศจิกายนของทุกปี ใบไม้จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดง แต่ที่วัดแห่งนี้จะมีใบไม้สีแดงเป็นหลักปกคลุมไปทั้งวัด ในวัดเองก็มีจุดที่น่าเที่ยวอยู่หลายแห่ง

 

สำหรับตัววัดจริงๆ แล้ว เป็นวัดศาสนาพุทธนิกายเซน ถือเป็นวัดเซนวัดแรกที่สร้างขึ้นโดยพระบัญชาของจักรพรรดิ คาเมะยะมะโฮโอ ที่มีความเลื่อมใสในพุทธศาสนา โดยแรกเริ่มตั้งใจสร้างเพื่อเป็นที่ปลีกวิเวกของตัวเอง แต่ตอนหลังได้บริจาคที่ดินให้สร้างวัดขึ้น ตัววัดสร้างเสร็จใน ค.ศ. 1291 อาณาบริเวณวัดกว้างขวางมาก เมื่อเข้าไปภายในจะแบ่งออกเป็นโซนๆ มีเวลาเปิด-ปิดแยกแต่ละโซน ไม่เหมือนกัน และมีทั้งส่วนที่ต้องซื้อบัตรเข้าชมและส่วนที่สามารถเข้าไปดูได้ฟรี

 

 

เมื่อเข้าไปในวัด สิ่งแรกที่เห็นเป็นประตูไม้เก่าแก่มาแต่โบราณ เรียกว่า “Sanmon Gate” สูงถึง 22 เมตร สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่ผู้เสียชีวิตในสงครามปราสาทโอซาก้า บนชั้นสองของประตูนี้สามารถขึ้นไปชมวิวเมืองเกียวโตได้ 360 องศา มีระเบียงให้เดินได้รอบ แต่ทั้งนี้ต้องเสียเงินค่าเข้าชมคนละ 500 เยน

จุดน่าดูอีกแห่งภายในวัด นอกจากชมใบไม้เปลี่ยนสีแล้ว ก็คือ “สะพานหรือรางส่งน้ำบีวา” สร้างขึ้นในสมัยเมจิเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยการเจาะภูเขาเพื่อขนส่งน้ำจากทะเลสาบบีวาโกะ (Lake Biwako) ซึ่งอยู่เหนือจากวัดขึ้นไป ส่งเข้าไปใช้ในตัวเมืองเกียวโต ทะเลสาบบีวานี้ เป็นทะเลสาบที่ใหญ่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ส่วนสะพานส่งน้ำนี้สร้างขึ้นจากอิฐ นับเป็นวิศวกรรมโยธายุคใหม่แห่งแรกของญี่ปุ่น เพราะในสมัยนั้นการเจาะภูเขาเป็นเรื่องที่ลำบากมาก ใต้สะพานเป็นช่องโค้งรองรับตัวสะพาน ผู้คนนิยมไปถ่ายรูปกัน ภาพที่ออกมาดูสวยงามดีทีเดียว ปัจจุบันยังมีน้ำส่งในท่อส่งน้ำบนรางนี้อยู่ แต่คนในเมืองเกียวโตไม่ได้ใช้น้ำจากรางส่งน้ำแห่งนี้แล้ว

นอกเหนือจากที่กล่าวมา วัดนันเซนจิยังมีชื่อเรื่อง “สวนหินแบบเซน” และ “สวนญี่ปุ่น” ซึ่งได้รับการยกย่องว่าสวยงามมาก และยังมีความสงบเหมาะแก่การเข้าไปนั่งปฏิบัติธรรม หรือทำสมาธิ สำหรับวัดที่ญี่ปุ่น จะไม่มีความเป็นพุทธพาณิชย์ และของดั้งเดิมเป็นมาอย่างไรก็จะเป็นอย่างนั้นเหมือนเดิม ไม่มีการดัดแปลงแต่งใหม่ แค่มีผู้คนเข้าไปมากขึ้นเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่คนญี่ปุ่นเวลาไปวัดเขาจะนิยมซื้อเครื่องรางของขลังกลับไปด้วย ซึ่งคนญี่ปุ่นเรียกว่า “โอมาโมริ” ใช้เป็นเครื่องรางป้องกันภัยต่างๆ หรือเสริมให้การงานดี เจริญก้าวหน้า ดังนั้น ในวัดญี่ปุ่นทุกที่จะมีจุดขายเครื่องรางของขลังเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่มีพุทธพาณิชย์

ที่น่าสังเกตอีกอย่าง คือในวัดที่ญี่ปุ่นจะไม่ค่อยมีพระอยู่อาศัย เพราะพระในญี่ปุ่นไม่ได้จำพรรษาในวัด และถือว่า “พระ” เป็นอาชีพหนึ่งที่ตื่นเช้า ผูกไทด์ใส่สูทถือกระเป๋าเดินทางมาทำงาน มาถึงวัดก็เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นแบบฟอร์ม เครื่องแต่งกายชุดเจ้าอาวาสหรือชุดลูกวัด ตามแต่หน้าที่ของตน คนญี่ปุ่นถือว่าพระเป็นแค่ผู้ประกอบพิธีทางศาสนาเท่านั้น ไม่ได้เป็นพระที่ต้องบวชในศีลในธรรม กี่เดือนกี่ปี และส่วนใหญ่อาชีพพระ ถ้าพ่อเป็นพระ ลูกก็เป็นพระสืบเชื้อสายกันในตระกูลต่อๆ กันมา เพราะฉะนั้นพระในญี่ปุ่นจะมีไม่ค่อยมากเท่าไหร่นัก ถ้าไปดูตามวัดใหญ่ๆ มีคนมาประกอบพิธีบ่อยๆ เขาจะมีชุดของพระแยกตามสมณะแบ่งกันเป็นสีๆ เช่น สีเหลือง สีเขียว ม่วง ชมพู แต่ละสีจะบ่งบอกสมณะของพระ

“ศาลเจ้า” กับ “วัด” ในญี่ปุ่นจะแตกต่างกัน วัดจะมีพระพุทธรูปอยู่ด้านในให้คนไปกราบไหว้ แต่ถ้าเป็นศาลเจ้าจะไม่มีพระพุทธรูปอยู่เลย ข้างในว่างเปล่า เพราะศาลเจ้าญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเทพเจ้าอยู่ในใจ และอยู่ทั่วไปไม่มีรูปลักษณ์ ไม่มีรูปเคารพ มีแต่จิตวิญญาณ

 

อีกข้อสังเกตหนึ่ง ถ้าเป็นศาลเจ้าจะมี “เสาสีแดง” เรียกว่า “เสาโทริอิ” อยู่ด้านหน้า ศาลเจ้าที่ใหญ่และมีคนไปไหว้กันอย่างเนืองแน่น คือ “ศาลเจ้าเฮอัน” คนญี่ปุ่นเวลาไปศาลเจ้าหรือเข้าไปในศาลเจ้า เมื่อเดินผ่านเสาโทริจะต้องโค้ง 1 ครั้ง แล้วค่อยเดินผ่านเสาเข้าไป เมื่อเดินไปเจอเสาอีกก็ต้องโค้งอีก ทุกครั้งที่เดินผ่านเสาจะต้องโค้งทุกครั้งไป เหมือนคนไทยเดินผ่านวัดแล้วยกมือไหว้พระพุทธรูป ฉันใดก็ฉันนั้น และหากเดินเข้าไปจนถึงด้านในสุดของศาลเจ้า อาคารด้านในอาจจะมีกระจกหรืออะไรก็ตาม คนจะไปยืนยกมือไหว้ แล้วพอตอนออกจากศาลเจ้า เมื่อเดินผ่านเสาโทริอิก็ต้องหันกลับไปโค้งให้อีก 1 ครั้ง

ศาลเจ้าเฮอัน เป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นมาเมื่อ 100 กว่าปีก่อน เพื่อฉลองเมืองเกียวโตครบรอบ 1,100 ปี ทั้งนี้ สมัยก่อนการปกครองบ้านเมืองของญี่ปุ่นจะอิงจากจีนเป็นหลักเพราะมองจีนว่าเป็น “พี่ใหญ่” เช่น เมื่อก่อนเมืองหลวงของญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ที่เกียวโต แต่จะอยู่ที่เฮอันหรือที่เมืองนารา เมื่อจีนมีการย้ายเมืองหลวงเก่าไปแห่งใหม่ที่เมืองฉางอาน ญี่ปุ่นก็ถือโอกาสย้ายเมืองหลวงจากนารามาสร้างที่เกียวโตเช่นกัน ดังนั้น เกียวโตเลยกลายเป็นเมืองหลวงตั้งแต่นั้นมาจนถึงสมัยเอโดะ เกียวโตเป็นเมืองหลวงถึง 1,500 ปี ตลอดระยะเวลาดังกล่าวเกียวโตจึงมีวัดเก่าๆ ที่เป็นวัดสมัยโบราณตั้งแต่ที่เริ่มสร้างเมืองใหม่ๆ ศาลเจ้าเองก็มีอายุเป็นพันๆ ปีเช่นกัน

ศาลเจ้าเฮอัน สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงจักรพรรดิคามมุและจักรพรรดิ์โคเมอิ ทั้งสองพระองค์มีความสำคัญอย่างมากกับเมืองเกียวโต เพราะเป็นจักรพรรดิองค์แรกและองค์สุดท้ายของเกียวโต ตัวอาคารของศาลเจ้าหลักๆ มีต้นแบบมาจากพระราชวังสมัยยุคเฮอัน สวนที่อยู่รอบๆศาลเจ้าเต็มไปด้วยต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ ให้ความร่มรื่นและสงบ การตกแต่งสวนของที่นี่จะเป็นแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม จุดสำคัญคือช่วงฤดูใบไม้ผลิ ศาลเจ้าเฮอันเป็นจุดชมดอกซากุระที่โด่งดังของเกียวโต

นอกจากเสาโทริอิสีแดงขนาดยักษ์ใหญ่ที่สุดกลางถนนก่อนที่จะถึงศาลเจ้าแล้ว ศาลเจ้าเฮอันยังมีสิ่งน่าสนใจ ได้แก่ ตัวอาคารศาลเจ้าที่จำลองมาจากพระราชวังอิมพีเรียลในสมัยเฮอัน เพียงแต่มีขนาดย่อส่วนให้เล็กลงกว่าของจริง

ตั้งแต่วัดนันเซนจิเรื่อยมาจนถึงศาลเจ้าเฮอัน เป็นเสมือนหนังตัวอย่างที่ฉายให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์แห่งญี่ปุ่น เพราะแท้จริงแล้วยังมีที่อื่นๆ อีกมากมาย ให้ค้นหาและสัมผัส เพื่อให้เข้าถึงลมหายใจแห่งแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้