เที่ยวไปได้เรื่อยๆ เกียวโต-โอซาก้า : หมู่บ้านมิยาม่า & อามาโนะฮาชิดาเตะ หมู่บ้านชาวนาและมังกรสวรรค์
ใครๆ ก็ว่า เดินทางไกลหนึ่งพันก้าวเท่ากับอ่านหนังสือหมื่นเล่ม คิดๆ ดูแล้วท่าจะจริง เพราะการอ่านหนังสือต้องใช้จินตนาการนึกภาพตามตัวอักษร ไหนเลยจะเทียบได้กับการสัมผัสด้วยมือและตาของเราเอง เช่นครั้งนี้ เสียงลือเสียงเล่าถึงความงามและความสงบของชนบทญี่ปุ่นที่หมู่บ้านชื่อ “มิยาม่า” ทำให้เคลิ้มว่าต้องไปเห็นด้วยตาให้ได้ เพราะว่านอกจากเป็นชนบทแท้ๆ ของเจแปนแล้ว ชาวนาที่นี่ยังร่ำรวยอีกต่างหาก
ดังนั้น เมื่อเสร็จจากอาหารกลางวันที่ร้านราเม็ง “โทอิจิ” ร้านชื่อดังของเมืองเกียวโต ที่รสชาติราเม็งแสนอร่อยและขายดีจนมิชลินต้องมาติดป้ายให้ ก็ออกเดินทางต่อไปที่หมู่บ้านมิยาม่าทันที หนแรกได้ยินชื่ออาจจะ “เห…” แบบคนญี่ปุ่น ฟังชื่อแล้วยังสงสัยไม่คุ้นหูเลยต้อง “เห…” ไว้ก่อน คนญี่ปุ่นนั้นหากสงสัยไม่แน่ใจอะไร เขาจะกล่าวคำว่า “เห..” พร้อมกับเอียงคอข้างใดข้างหนึ่ง ดูคิกขุอาโนเนะตามแบบฉบับคนญี่ปุ่นนั่นแหละ
“หมู่บ้านมิยาม่า” เป็นหมู่บ้านโบราณ คนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นมักจะรู้จักแต่หมู่บ้านชิราคาวาโกะ ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของจังหวัดกิฟุ ซึ่งเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวไปกันเยอะมากจนช้ำไปหมด เผลอๆ ชาวบ้านนึกรำคาญ แต่ด้วยความที่ชิราคาวาโกะเป็นมรดกโลกที่ทุกคนอยากมาดู ในฐานะเจ้าบ้านเลยต้องต้อนรับขับสู้ทำตัวเป็นเจ้าของบ้านที่ดี แต่ถ้าจะให้แปลกใหม่แล้ว “มิยาม่า” เป็นหมู่บ้านชนบทที่นักท่องเที่ยวพลาดไม่ได้ เวลานี้คนยังไม่รู้จักกันมากนัก บรรยากาศจึงสบายๆ สามารถเดินเล่นได้รอบหมู่บ้านเลยทีเดียว นอกจากนั้นที่หมู่บ้านยังมีกิจกรรมธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวได้ทำหลากหลาย ทั้งเดินป่า ตกปลา เป็นต้น
“มิยาม่า” (Miyama) ตั้งอยู่เชิงเขา ห่างจากเมืองเกียวโตไปประมาณ 30 กิโลเมตร ชุมชนแห่งนี้ผู้คนยังใช้ชีวิตแบบญี่ปุ่นโบราณอยู่เต็มเปี่ยม ไม่ว่าบ้านที่อยู่อาศัย ประเพณีต่างๆ จำนวนคนในหมู่บ้านมีราวๆ 200 หลังคาเรือน กระจายกันอยู่ทั่วพื้นที่ ส่วนบ้านโบราณที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมิยาม่า มีประมาณ 40 หลัง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน เรียกว่า “คายาบูกิ โน ซาโตะ” ความหมายก็คือ “การมุงหลังคาแบบคายาบูกิ” นั่นเอง
คายาบูกิ เป็นการมุงหลังคาบ้านสไตล์ญี่ปุ่นโบราณ โดยใช้หญ้าหรือบางแห่งก็ว่าใบจากมามุงหลังคา ความหนาประมาณ 50 ซม. ถือเป็นลักษณะเฉพาะของหมู่บ้านแห่งนี้ เวลาจะมุงหลังคาแต่ละที ต้องใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกัน เหมือนกับการ “ลงแขก” หน้าเกี่ยวข้าวบ้านเรา ที่สำคัญไม่เฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ที่มา แต่ยังมีเด็กๆ และคนหนุ่มสาวมาร่วมด้วย เป็นการเรียนรู้และสืบทอดวิธีมุงหลังคาแบบโบราณไม่ให้สูญหายไป
บรรยากาศภายในบ้านแต่ละหลัง เป็นบ้านที่ใช้อยู่อาศัยจริง หลายหลังเปิดให้บริการเป็นโฮมสเตย์แก่นักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสชนบทญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมจริงๆ ทั้งนอนบนฟูกในห้องเสื่อทาทามิ อาบน้ำในห้องน้ำไม้ไผ่ ได้ลองชิมอาหารท้องถิ่นซึ่งเป็นของขึ้นชื่อของที่นี่ คือ ปลาหวาน Ayu ที่จับในแม่น้ำยูระ ในหมู่บ้านยังเปิดเป็น “พิพิธภัณฑ์คายาบูกิ โน ซาโตะ” ให้เข้าชมด้วย ภายในจัดแสดงเครื่องมือเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม และอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านโบราณเมื่อสี่สิบปีมาแล้ว
ไม่ไกลจากคายาบูกิ โน ซาโตะ ยังมีพิพิธภัณฑ์อีกแห่งชื่อ “อินดิโงะ” จัดแสดงศิลปะและสตูดิโอการย้อมสีผ้าอินดิโงะ ขาดไม่ได้เป็นร้านกาแฟและร้านขายของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งมีของน่าซื้อมากมายทั้งของกิน เสื้อผ้า และขนม ล้วนเป็นของผลิตขึ้นเองในหมู่บ้าน นักท่องเที่ยวที่อยากไปเที่ยวแบบค้างคืนในหมู่บ้านสามารถทำได้โดยสอบถามจากทัวร์ได้ ส่วนใครจะเดินทางด้วยตัวเองคงต้องเปิดกูเกิ้ลศึกษาดูว่าติดต่อได้ที่ไหน อย่างไร เพราะมีหลายคนเขียนไว้บ้างแล้ว
ออกจากมิยาม่าหมู่บ้านชาวนาของญี่ปุ่น ก็มุ่งหน้าสู่ “ประตูมังกรสู่สวรรค์” หรือที่เรียกว่า “อามาโนะฮาชิดาเตะ” แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงามติดอันดับของญี่ปุ่น ที่ได้ชื่อเช่นนี้ เป็นเพราะอามาโนะฮาชิดาเตะ เมื่อมองดูแล้วคล้ายกับเกาะที่มีแนวต้นไม้ทะแยงยาวขึ้นไปบนสวรรค์ คนญี่ปุ่นเขาเห็นเป็นมังกรที่กำลังทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า บนยอดเขาจะมีวิวธรรมชาติสวยสดงดงาม ดังนั้น จึงมีการสร้างจุดชมวิวไว้หลายจุด รวมไปถึงจุดชมวิวที่สูงที่สุดด้วย
อันที่จริงแล้ว ภาพของสันทรายสีขาวตัดกับสีเขียวเข้มของต้นไม้ที่ปกคลุมหนาทึบไปทั้งเกาะที่โผล่พ้นน้ำทะเลขึ้นมากลางอ่าวมิยาสึ ความยาวกว่า 3 กิโลเมตรนั้น ก็คือแนวกั้นของปากอ่าวที่เมืองมิยาสึ วางตัวอยู่ในทิศเหนือใต้ระหว่างอ่าวมิยาซึกับทะเลในของทะเลอาโซโนะ เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็น “วิวที่สวยงามที่สุด” ในญี่ปุ่น มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยเอโดะ ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า ที่นี่สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่เทพเจ้าสร้างญี่ปุ่น บริเวณรอบๆ ขุดพบสุสาน และโบราณวัตถุต่างๆ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก ว่ากันว่าในสมัยยามาโตะโจวเท บริเวณนี้เป็นอาณาจักรที่มีอำนาจ กล่าวคือมีลักษณะภูมิประเทศที่หาพบได้ยาก คือมีต้นสนขนาดเล็กใหญ่ราว 8,000 ต้นขึ้นอยู่ เป็นลักษณะทางธรรมชาติที่ใช้เวลาสร้างหลายพันปี
นอกจากนี้ ยังมีตำนานเล่าอีกว่า อามาโนะฮาชิดาเตะ เป็นเหมือนสะพานที่พาดผ่านไปบนท้องฟ้า เชื่อมระหว่างโลกสวรรค์และโลกมนุษย์ เทพเจ้าจะใช้สะพานนี้เดินทางไปมาระหว่างสองโลก ขณะที่บางตำนานกล่าวว่าเทพมังกรเป็นผู้สร้างทั้งหมดนี้ภายในคืนเดียว ใครจะเดินทางขึ้นไปบนยอดเขาต้องนั่ง “แชร์ลิฟท์” ขึ้นไป ไม่น่ากลัวหรือมีอันตรายอะไร ในแต่ละวันคนจะเดินทางขึ้น-ลงกันเป็นประจำ เมื่อขึ้นไปถึงจุดชมวิวในอามาโนะฮาชิดาเตะ มีจุดดูวิวได้ 2 จุด ระหว่างทิศใต้และทิศเหนือ ขึ้นอยู่กับว่าเราขึ้นไปทางไหน
ส่วนใครที่อยากจะเห็นว่าเป็นตัวมังกรอย่างไร เขามีวิธีดู คือให้ไปยืนประจำจุดหรือตำแหน่งที่กำหนดไว้ที่จุดชมวิว จากนั้นให้โก้งโค้งมองลอดหว่างขา จะเห็นเป็นรูปมังกรกำลังทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจ เมื่อขึ้นไปแล้วเห็นใครต่อใครต่างก้มหัวโก้งโค้งมองลอดขากันเป็นแถว ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนหนุ่มคนสาว เป็นภาพแปลกตาไปอีกแบบ
ทั้งหมู่บ้านชาวนา “มิยาม่า” และประตูมังกรสู่สวรรค์ “อามาโนะฮาชิดาเตะ” ถือเป็นแห่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม แต่อาจอยู่ในคนละบรรยากาศ ที่สำคัญทั้งคู่เป็น “อันซีน” ของเจแปน ที่ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปไม่มากนัก ไม่แออัดเหมือนแหล่งเที่ยวอื่นๆ ที่ต้องเดินหัวไหล่ชนกัน