พาเที่ยวสงขลา ดูเมืองเก่า ย่าน “หับ โห้ หิ้น”

Travel ท่องเที่ยว

เรื่องของเรื่องเกิดจาก “การนัดพบ” เพื่อนฝูงที่เป็นคนสงขลาและมีบ้านอยู่ในจังหวัดสงขลา เผื่อว่าไปแล้วได้เที่ยวด้วย เนื่องเพราะจุดใหญ่ใจความนัดกันเพื่อไป “กินของอร่อย” มากกว่าจะเดินรับลมชมวิวของเมือง ครั้นพอถึงเวลาสรรหาของรับประทานกันเสร็จสิ้นแล้ว เวลาที่เหลืออยู่มากโข เพื่อนจึงเอ่ยปากชักชวนไปเที่ยวเล่นที่ “เมืองเก่าสงขลา”  ฟังเพื่อนว่าจินตนาการเห็นเป็นเมืองเก่าแบบกรุงศรีอยุธยา หรือรัตนโกสินทร์ตอนแม่พลอยกำลังจะแต่งงานกับคุณเปรม ในนิยายสี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เสาหลักประชาธิปไตยผู้ล่วงลับไปหลายสิบปี  แต่ปรากฏว่าเมืองเก่าที่เพื่อนพาไปเป็นย่านที่ได้รับการปรับปรุงให้ดูทันสมัย และเป็นย่านการค้าและการท่องเที่ยวในปัจุุบัน คือ บริเวณโรงสีที่มีชื่อฟังยากมาก “โรงสี หับ โห้ หิ้น” เอกลักษณ์คือทาสีแดงแปร๊ด สดใส เตะตา

เมื่อเดินผ่านประตูเพื่อจะเข้าชมด้านใน กลับเห็นเรือประมงขนาดใหญ่จอดเทียบท่าหลายลำ อีกทั้งตัวอาคารโรงสีก็เป็นแบบเก่าๆ แสดงถึงโครงสร้างภายในที่มีมาแต่ดั้งเดิม ดูตามประวัติความเป้นมาของโรงสีแห่งนี้ นับว่าน่าสนใจทีเดียว คุยกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษา เขาเล่าว่าเมืองสงขลาในอดีตเป็นเมืองค้าขาย โดยกลุ่มคนจีนหลายแซ่ หลายตระกูล  ทำการค้าขายกับเมืองปีนัง  แต่ที่โรงสีแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อรองรับ

ภาพจาก paikondieow.com

ผลผลิตข้าวจากกลุ่มลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยรองอำมาตย์ตรีขุนราชกิจการี (จุ่นเลี่ยง ลิ้มเสาวพฤกษ์) ต้นตระกูลเสาวพฤษ์ ร่วมหุ้นกับตระกูลโคนันทน์ สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2454 แต่ที่ระบุเป็นประวัติติดไว้ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ของโรงสีเอง ระบุว่า ปี พ.ศ.2457 รองอำมาตย์ตรีขุนราชกิจการี (จุ่นเลี่ยง ลิ้มเสาวพฤกษ์) ได้เปิดกิจการโรงสีข้าวขึ้น ณ บ้านเลขที่ 13 ถนนนครนอก ริมทะเลสาบสงขลา  ชื่อ “โรงสี หับ โห้ หิ้น” เป็นภาษาฮกเกี้ยน หมายถึงความสามัคคี ความกลมเกลียว และความเจริญรุ่งเรือง  ชาวบ้านเรียกว่า “โรงสีแดง” เพราะอาคารทั้งหลังทาด้วยสีแดง

ระยะเริ่มแรก กิจการเป็นโรงสีข้าวขนาดเล็ก สั่งเครื่องจักรที่เป็นมอเตอร์ในการสีข้าวมาจากปีนัง มี “สุชาติ รัตนปราการ” ทำหน้าที่ผู้จัดการ ต่อมาเปลี่ยนมาใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ทำให้โรงสีเดินด้วยกำลังไอน้ำ โดยสั่งเครื่องจักรมาจากประเทศอังกฤษ มีคนงานประมาณ 30-50 คน ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เปลี่ยนการทำงานเป็นกะ  นับได้ว่าเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่ที่ทันสมัยในยุคนั้น “โรงสี หับ โห้ หิ้น” รับสีข้าวจากพื้นที่ปลูกข้าวรอบๆ ทะเลสาบสงขลา เช่น ระโนด พัทลุง  สามารถผลิตข้าวสารจำหน่ายแก่ประชาชนในสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งยังเหลือพอที่จะส่งไปขายประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมืองเปรัคและอีโป ในประเทศมาเลเซีย

ต่อมาปี พ.ศ. 2490 พื้นที่รอบนอกจังหวัดสงขลาเกิดการสร้างโรงสีขนาดเล็ก ทำให้มีข้าวเปลือกป้อนโรงสีน้อยลง จึงยุติกิจการโรงสีข้าว หับ โห้ หิ้น มาทำกิจการโรงน้ำแข็งขนาดเล็กจำหน่ายในชุมชน ต่อมาเปลี่ยนเป็นโกดังเก็บยางพารา สำหรับลำเลียงขนถ่ายไปยัง

เรือเดินสมุทร ซึ่งจอดอยู่ที่เกาะหนู เพื่อส่งไปยังต่างประเทศ ต่อมาเมื่อมีท่าเรือน้ำลึกสงขลาการขนส่งยางพาราด้วยเรือลำเลียงจึงยุติกิจการ มาเป็นท่าเทียบเรือประมงขนาดเล็กในปัจจุบัน

รกรากของขุนราชกิจจารี เป็นกลุ่มคนจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ มาตั้งรกรากอยู่ที่สงขลา ราวปี พ.ศ.2250 (สมัยพระเจ้าเสือ แห่งกรุงศรีอยุธยา) สุชาติ รัตนปราการ ซึ่งเป็นผู้จัดการของโรงสีแห่งนี้ เป็นหนุ่มนักเรียนปีนัง ต้นสกุล “รัตนปราการ” เป็นคนจีนฮกเกี้ยน แต่เดิมใช้สกุลว่า “แซ่ก๊วย”  คำว่า “ก๊วย” ในภาษาจีนแปลว่า “กำแพงเมือง”  จาก “แซ่ก๊วย” ปลี่ยนมาเป็นภาษาไทย คือ “รัตนปราการ” ซึ่งแปลว่า “กำแพงแก้ว”  ส่วนชื่อ “หับ-โห้-หิ้น” ก็เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนเช่นเดียวกัน

ย้อนเวลาไปสู่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณเมืองสงขลา สำนักโบราณคดี กรมศิลปากรที่ 11 ได้ขุดค้นบริเวณพื้นที่เมืองสะบ้าย้อย พบว่าพื้นที่ตรงนั้นแต่เดิมเคยมีมนุษย์อาศัยอยู่ ตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์แล้ว ซึ่งก็คือบริเวณ “วัดถ้ำตลอด” ที่มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อายุเกินกว่า 1,000 ปี และหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกว่าสงขลามีอายุเก่าแก่มาก คือบริเวณพื้นที่ห่างจากวัดพะโค๊ะ ไปทางทิศเหนือราว 800 เมตร จะพบศาสนสถานโบราณเก่าแก่ อายุเกือบ 1,000 ปี สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ช่วงอาณาจักรศรีวิชัย และบริเวณศาสนสถานแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นสถานที่โบราณที่สุดในสงขลาก็ว่าได้

ชาวบ้านเรียกศาสนสถานแห่งนี้ ว่า “ถ้ำคูหา” หรือ “เขาคูหา” หลักฐานที่พบบริเวณเนินเขาคูหา เป็นเนินเขาลาดชัน พบถ้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น 2 ถ้ำ ปากถ้ำทั้งสองอยู่ห่างกันประมาณ 10 เมตร ถ้ำสูงจากพื้นดินประมาณ 1-2 เมตร มีลานหน้าถ้ำ ทางเข้าของถ้ำแรกเป็นรูปโค้งสูงประมาณ 2.5 เมตร ขนาดของถ้ำกว้างประมาณ 3.5 เมตร ลึกประมาณ 4.5 เมตร  ภายในถ้ำมีการสกัดหินจนเรียบ  พื้นที่ภายในถ้ำบรรจุคนได้ประมาณ 20 คน และบนลานหน้าถ้ำบรรจุคนได้ไม่น้อยกว่า 50 คน

บริเวณหน้าถ้ำพบแผ่นหินโยนีสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ เคยประดิษฐานศิวลึงค์ แต่ปัจจุบันได้เคลื่อนย้ายไปแล้ว ถ้ำที่สองมีลักษณะและสัดส่วนคล้ายกับถ้ำแรก ชุมชนโบราณได้ใช้ถ้ำคูหาเป็นศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมพุทธศาสนามหายานและศาสนาฮินดู เหมือนกับถ้ำอะชันต้าและเอลโลรา ในประเทศอินเดีย  ซึ่งขุดเจาะภูเขาเข้าไปสลักหินและเขียนภาพเรื่องราวทางศาสนา ซึ่งไม่เคยพบถ้ำลักษณะนี้ในประเทศไทย สันนิษฐานว่าถ้ำคูหามีอายุระหว่างพุทธศตวรรษ ที่ 12-15 เป็นชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์ภาคใต้

เมืองเก่าสงขลาเป็นที่รู้จักกันในนาม “สงขลาบ่อยาง” มีพ่อค้าจากนานาประเทศให้ความสนใจเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐาน ก่อนการก่อตั้งเมืองสงขลาบ่อยาง เมืองสงขลาเดิมตั้งอยู่ในบริเวณ “หัวเขาแดง” และมีชาวมุสลิมเป็นผู้ปกครอง ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการค้าในระดับนานาชาติ จนสามารถผลิตสกุลเงิน    “ซิงกอร่า” ของตนเองได้  ต่อมาภายหลังเมื่อกรุงศรีอยุธยาส่งกองทัพมาปราบปรามเมืองสงขลา ซึ่งขณะนั้นถือเป็นรัฐอิสระ จนกระทั่งเมืองสงขลาแตก ภายหลังชาวสงขลาจึงย้ายถิ่นฐานอีกครั้ง พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองเป็นชาวจีน จึงทำให้สงขลามีความหลากหลายของชาติพันธุ์ ส่งผลต่อลักษณะ

ทางสถาปัตยกรรมในเมืองสงขลา กลายเป็นการผสมผสานระหว่าง 3 วัฒนธรรม ได้แก่ ไทย จีน และอิสลาม

วัฒนธรรมในพื้นที่ย่านเมืองเก่าสงขลา ซึ่งก็คือบริเวณ “ถนนนครใน” และ “ถนนนครนอก” เคยเป็นแหล่งศูนย์กลางทางการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าจากต่างประเทศ โดยมากแล้วประชากรในย่านเมืองเก่าสงขลาปัจจุบัน มาจากครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย เนื่องจากในอดีตกลุ่มคนรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาค้าขายกับชาวต่างชาติเป็นกลุ่มคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งผลจากการค้าขายกับชาวต่างชาตินี่เองได้ส่งอิทธิพลถึงรูปแบบความเชื่อ รูปแบบการดำรงชีวิต และรูปแบบสถาปัตยกรรมในย่านเมืองเก่าสงขลา โดยสถาปัตยกรรมเมืองสงขลา สามารถแบ่งรูปแบบในพื้นที่ย่านเมืองเก่าได้ ดังนี้

ตึกแถวแบบจีนดั้งเดิม สร้างในช่วง พ.ศ. 2379 เป็นช่วงแรกการตั้งเมืองสงขลาเป็นต้นมา รูปแบบสถาปัตยกรรมจะมีส่วนหน้าเพื่อทำการค้าขาย  ด้านบนใช้เก็บของ มีช่องส่งของเล็กๆ และมีความยาวของอาคารตามที่ดินประมาณ 30-40 เมตร เนื่องจากแปลงที่ดินยาว ผู้ออกแบบจึงได้ออกแบบให้มีช่องเปิดโล่งกลาง ส่วนอาคารด้านหลังมักเป็นที่พักอาศัย กรมศิลปากรระบุว่าห้องแถวแบบจีนหลังแรกของสงขลา ตั้งอยู่บน “ถนนเก้าห้อง” หรือ “ถนนนางงาม” ต่อมาเป็น  ตึกแถวแบบจีนพาณิชย์ มีลักษณะเป็นอาคารถัดมาจากแบบจีนดั้งเดิม การออกแบบอายุประมาณ 70 ปีขึ้นไป รูปแบบจะกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม หน้าตาคล้ายตึกแถวจีนดั้งเดิม แต่ประยุกต์ให้ทันสมัยขึ้น มักมีลักษณะเป็นอาคารที่ตอบสนองทางการค้า ไม่มีองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ค่อนข้างเรียบง่าย นอกจากนี้ยังมี ตึกแถวแบบจีนสมัยใหม่ ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก อาคารอยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป มีแผงปกปิดหลังคาและจะมีอักษรแสดงปี พ.ศ. ปรากฏบนแผงดังกล่าว บางหลังมีหลังคาจั่วหรือปั้นหยาซ้อนอยู่ บางหลังเป็นหลังคา คสล. ส่วนใหญ่มักมี 2-4 ชั้น

ส่วนตึกแถวแบบสงขลาดั้งเดิม (ชิโน-ยูโรเปี้ยน) จะมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ประดับตกแต่งด้วยลวดลายแบบจีนและยุโรปผสมกัน คล้ายกับรูปแบบที่เรียกว่า “ชิโน-โปรตุกีส” ซึ่งพบมากที่ภูเก็ต แต่ที่สงขลาจะไม่มีทางเดินใต้อาคารที่เรียกว่า “หงอคากี่” อาคารจะมีช่องเปิดกลางอาคาร และจะเป็นที่ตั้งของบ่อน้ำ ซึ่งในอดีตน้ำดื่มจะมีรสจืด สะอาดจนสามารถดื่มได้

สำหรับถนนนางงามในอดีตรู้จักกันอย่างดีในชื่อ “ถนนเก้าห้อง” มีที่มาจากอาคารชุดเก้าหลังแรกบนถนนสายนี้ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นถนนนางงาม เนื่องจากเป็นการให้เกียรติแก่ นงเยาว์ โพธิ์สาส์น (บุญญาศิวา) ซึ่งชนะเลิศการประกวดได้เป็น “นางสาวสงขลาคนแรก”

และเธอมีบ้านตั้งอยู่บนถนนสายนี้ ดังนั้น ชาวเมืองสงขลาจึงเรียกถนนเก้าห้องว่า “ถนนนางงาม”  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของย่านเมืองเก่า มีความยาวจากเหนือถึงใต้ประมาณ 3 กม. นอกจากนี้ ตลอดสองข้างทางของถนนสายนี้ ยังประกอบด้วยร้านค้าต่างๆ มากมาย ร้านอาหารชื่อดัง ทั้งอาหารไทย จีน และมุสลิม  ส่วนย่านมุสลิมจริงๆ จะอยู่ที่ “ถนนพัทลุง” ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่ย่านเมืองเก่า มีมัสยิดอุสสาสนะ เป็นศูนย์กลางจิตใจของชาวชุมชน  มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2393 โดยมีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและอิสลาม

ฟังเขาเล่าไม่เท่าตาเห็น หากใครมีเวลาหรืออยากเที่ยวพักผ่อน อยากเติมพลังให้ตัวเอง “เมืองสงขลา” เป็นอีกสถานที่ที่น่าสนใจ จัดไว้ในลิสต์ก็จะเป็นการดี เพราะเดี๋ยวนี้การเดินทางนั่งเครื่องบินไปลงหาดใหญ่ต่อรถไปสงขลาไม่กี่ชั่วโมงก็ถึงจุดหมายปลายทาง ที่สำคัญค่าเครื่องบินเดี๋ยวนี้ถูกกว่าราคารถทัวร์เสียอีก…จริงไหม?

 

****************************

อาหารพื้นเมืองสงขลา

ข้าวยํา

นิยมรับประทานในตอนเช้า กลางวัน หรือตอนเย็น มีส่วนประกอบ คือ ข้าวสุกราดนํ้าบูดู (บางท้องถิ่นเรียก นํ้าเคย) ยำด้วยกุ้งแห้งป่น มะพร้าวคั่ว มะม่วงหรือมะขามอ่อนซอย แตงกวา ถั่วงอก เกสรชมพู่แดง ผักสดหลายชนิดหั่นปนกันเรียกว่า “หมวด” ได้แก่ ตะไคร้  ใบพาโหม ใบมะกรูด ใบดีปลี  ดอกดาหลา

ข้าวสตู

เป็นอาหารประเภทอาหารคาว มีรสชาติมันเค็ม กลมกล่อม สามารถหารับประทานได้ตลอดทั้งปี คนสงขลานิยมรับประทานข้าวสตูหมูกับหมูกรอบ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับประทานได้มากขึ้น

ขนมทองเอก

คําว่า “เอก” หมายความถึง “การเป็นที่หนึ่ง” นิยมใช้ขนมทองเอก ประกอบพิธีมงคลสําคัญต่างๆ หรือใช้มอบเป็นของขวัญในงานฉลอง  การเลื่อนยศ เลื่อนตําแหน่ง จึงเปรียบเสมือน “คําอวยพร” ให้เป็น “ที่หนึ่ง”

ขนมค้างคาว

เหมือนขนมไข่หงส์ แต่กรอบนุ่มไม่แข็ง ปั้นเป็นรูปสามเหลี่ยม มีวิธีการทําโดยนําข้าวเหนียวขาวมาล้างให้สะอาดแล้วแช่ให้เมล็ดพองได้ที่ นําไปโม่ให้ละเอียด ใส่ถุงผ้าวางไว้ให้สะเด็ดนํ้า นํามะพร้าวขูดคั้นเอาหัว กะทิผสมเกลือพอมีรสเค็ม ตั้งไฟพอเดือด วางไว้ให้เย็นแล้วนํามานวดกับแป้งให้ได้ที่ เตรียมใส่ไส้ขนมต่อไป

ข้าวฟ่างกวน

เป็นขนมที่รับประทานหลังอาหารคํ่า เป็นของหวานที่หารับประทานยาก และมีราคาแพง เนื่องจากปรุงยากมาก สามารถหาซื้อมารับประทานหรือเป็นของฝากได้ที่ ถนนนางงาม อําเภอเมือง จังหวัดสงขลา

ขนมเทียนสดหรือขนมวุ้นโขย

เป็นขนมที่นิยมรับประทานในตอนคํ่า ตรุษจีน ส่วนประกอบมี แป้งถั่ว ถั่วกวน นํ้าตาล ใบตอง นํ้า มีขายในท้องตลาดทั่วไปในอําเภอเมืองสงขลา และถนนนางงาม อําเภอเมือง จังหวัดสงขลา

ขนมปำจี

เป็นขนมพื้นเมืองของจังหวัดสงขลา แต่ปัจจุบันค่อนข้างหาทานยากแล้ว สําหรับเจ้าอร่อย ที่ขอแนะนํา คือ ขนมปำจี เจ้าอร่อยในถนนวชิรา แถวๆ หน้าร้านยา หรือ อีกหนึ่งที่ ที่จะหาทานขนมปำจีได้ไม่ยาก คือ ถนนคนเดินสงขลา

ขนมสัมปันนี

เป็นขนมไทยโบราณอย่างหนึ่ง บางตํารับใช้แป้งสาลีทําก็มี แต่ส่วนมากใช้แป้งมันทํา ใช้แป้งมันทําจะนุ่มและแทบละลายในปาก ใช้แป้งสาลีจะออกเหนียวนิดหน่อย มีขายในท้องตลาดทั่วไปในอําเภอเมืองสงขลา และถนนนางงาม อําเภอเมือง จังหวัดสงขลา