หากใครเดินทางไปยัง “วัดระฆังโฆสิตาราม ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ที่ถนนอรุณอัมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร จะพบเห็นสิ่งแปลกใหม่ที่สร้างขึ้นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว นั่นคือรูปปั้น “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือสมเด็จโต หลวงพ่อโต ขรัวโต ก็เรียก เป็นรูปปั้นองค์ใหญ่ยักษ ตั้งตระหง่าน ณ ริมฝั่งเจ้าพระยา เป็นแลนด์มาร์กของย่านนั้นแห่งใหม่ก็ว่าได้
เรื่องราวของสมเด็จโต หาอ่านได้ทั่วไปในเอกสาร สิ่งพิมพ์ หรือแม้แต่กูเกิ้ล เพราะท่านเป็นพระที่ประชาชนเลื่อมใสศรัทธา กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ แม้จนถึงวันนี้ ห่างจากปีที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว แต่ความรักความเลื่อมใสศรัทธานั้นยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย และมีแต่จะเพิ่มพูนเป็นทบเท่าทวี สมเด็จโตเกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ราวๆ หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว 7 ปี เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต หรือตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
บิดา-มารดาเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด แต่มีผู้กล่าวถึงประวัติการถือกำเนิดของสมเด็จโตแตกต่างกันไป
หลายฉบับ เช่น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อนางงุด บุตรของนายผลกับนางลา ชาวนาเมืองกำแพงเพชร หรือฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อเกตุ คนท่าอิฐ อำเภอบางโพ อย่างไรก็ดีมารดาของท่านนั้นเป็นชาวเมืองเหนือ (คำเรียกเมืองที่อยู่เหนือกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปในยุคนั้น) เพราะทุกแหล่งอ้างอิงกล่าวตรงกันว่ามารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือ
ส่วนบิดาของท่านนั้น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่าท่านเป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งทรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี ส่วนฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล และฉบับของตรียัมปวาย กล่าวว่าท่านเป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และแม้ในฉบับของตรียัมปวายจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อยืนยันหลายข้อ แต่อย่างไรก็ดี ประวัติทั้งสองฉบับกล่าวตรงกันเพียงว่า ข้อสันนิษฐานว่าด้วยบิดาของท่านนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่า ซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นกล่าวและเชื่อกันโดยทั่วไป
เล่าสู่กันฟังพอคร่าวๆ เรื่องราวต่อจากนี้สามารถไปหาอ่านจากที่กล่าวมาแล้ว แต่ที่อยากจะนำมาบอกต่อ เป็นเรื่อง “ตัวเลข” ที่เกี่ยวกับสมเด็จโต ดังนี้ ท่านเกิดวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 มรณภาพ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 รวมอายุ 84 ปี บรรพชา พ.ศ. 2343 อุปสมบท พ.ศ. 2351 รวม 64 พรรษา ทั้งหมดเป็นตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จโต ใครนิยมเรื่องหวยอาจจะชอบเป็นพิเศษ แต่กระนั้นมีเรื่องสมเด็จโตกับเรื่องของ “หวย” มาเล่าให้ฟังอีกเรื่อง กล่าวคือสมัยก่อน มีการให้หวยเหมือนกัน โดยเฉพาะเจ้าประคุณสมเด็จฯ นั้น ได้ชื่อว่า ใบ้ให้แม่นมาก เพราะหวยมักออกตรงตามที่ท่านบอกเสมอ นายจ่างกับนายแจ่ม สองพี่น้อง ปกติจะผลัดกันเปล่ยนเวรกันนวดเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในเวลาค่ำเป็นประจำ ท่านมักพูดว่า พรุ่งนี้หวยจะออกตัวนั้นตัวนี้ วันรุ่งขึ้นหวยก็จะออกตามนั้นจริง ทั้งสองพี่น้องจึงเล่าให้ญาติผู้ใหญ่ฟัง
วันหนึ่งญาติสองคนได้บอกนายแจ่ม ซึ่งจะเข้านวดเย็นวันนั้น ว่าคืนนี้เจ้าประคุณสมเด็จฯ บอกว่าพรุ่งนี้หวยจะออกตัวใดให้จดใส่กระดาษแล้วทิ้งลอดร่องไป ตนจะคอยรับอยู่ที่ใต้ถุนกุฏิ แต่น่าประหลาดที่ในคืนนั้น ท่านนิ่งเฉยไม่พูดถึงเรื่องหวยเช่นเคย นายแจ่มจึงกราบเรียนถามว่า “หลวงพ่อ พรุ่งนี้หวยจะออกตัวอะไรครับ” สมเด็จโตท่านก็ตอบกลับไปว่า “วันนี้ ฉันบอกไม่ได้ เพราะฉันกลัวหวยของฉันจะลอดร่องจ้ะ” ญาตินายแจ่มสองคนที่ยืนคอยอยู่ใต้ถุนกุฏิ ได้ยินดังนั้น ต่างพากันหัวเราะดังคิกๆ เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงชี้มือไปที่ร่องพร้อมกับพูดว่า “นั่น อย่างไรละจ๊ะ”
เอวัง ด้วยประการฉะนี้