เรื่องราวของแผ่นดินอีสานและคนอีสานกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันค่อนข้างแรงในโลกโซเชียล เมื่อมีคนผู้หนึ่งวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับผู้หญิงอีสานที่มีสามีเป็นฝรั่งต่างชาติ แม้เรื่องจะผ่านไปแล้ว แต่ประเด็นความสนใจเกี่ยวกับดินแดนอีสาน ยังไม่ผ่านไปง่ายๆ เพราะดินแดนที่ราบสูงแห่งนี้ แท้จริงแล้วมีเรื่องราวความเป็นมาอย่างลึกซึ้งยาวนาน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน มีการสั่งสมสืบทอดวัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายกลุ่ม จนมีลักษณะทางวัฒนธรรมและสังคมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองปรากฏอยู่ทุกวันนี้
ในตำราประวัติศาสตร์กล่าวขานถึง “อีสาน” ว่าไม่ใช่ชื่อชนชาติหรือเชื้อชาติเฉพาะของอีสาน แต่เป็นชื่อทางวัฒนธรรม มีที่มาจากภูมิศาสตร์บริเวณที่เรียก “อีสาน” หรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่ในยุคโบราณเรียกว่า “สุวรรณภูมิ” ชาวอีสานหรือคนอีสาน มีบรรพชนมาจากคนชนเผ่าหลากหลายชาติพันธุ์ ไม่ต่ำกว่า 5,000 ปีมาแล้ว ซึ่งบรรพชนคนอีสานที่ว่านี้มีอย่างน้อย 2 พวก คือ คนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อยู่ภายในสุวรรณภูมิ กับ คนภายนอกที่เคลื่อนย้ายอพยพจากที่ต่างๆ เข้ามาอยู่ภายหลัง
ซึ่ง “สุจิตต์ วงษ์เทศ” นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ อธิบายคำ “อีสาน” ว่าเป็นชื่อเรียกพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง คำว่า “อีสาน” มีรากมาจากภาษาสันสกฤต สะกดว่า “อีศาน” หมายถึงนามพระศิวะ ผู้เป็นเทพประจำทิศตะวันออกฉียงเหนือ (เคยใช้มาเมื่อราวหลัง พ.ศ. 1000 ในชื่อรัฐว่า อีศานปุระ และชื่อพระราชาว่า อีศานวรมัน) แต่คำบาลีเขียน อีสาน ฝ่ายไทยยืมรูปคำจากบาลีมาใช้ หมายถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มใช้เป็นทางการสมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ. 2442 ในชื่อมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังหมายเฉพาะลุ่มน้ำมูลถึงอุบลราชธานี จำปาสัก ฯลฯ
สุจิตต์ยังอธิบายอีกว่า รวมความแล้ว ใครก็ตามที่มีถิ่นกำเนิดหรือมีหลักแหล่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (จะเคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่เมื่อไรก็ตาม) ถ้าถือตัวว่าเป็นคนอีสานหรือชาวอีสาน อย่างเต็มอกเต็มใจและอย่างองอาจ ก็ถือเป็นคนอีสาน เป็นชาวอีสานทั้งนั้น ฉะนั้น คนอีสานหรือชาวอีสาน จึงไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติเฉพาะ แต่เป็นชื่อสมมุติเรียกคนหลายหลากมากมายในดินแดนอีสาน และเป็นชื่อเรียกอย่างกว้างๆ รวมๆ ตั้งแต่อดีตดึกดำบรรพ์สืบจนปัจจุบัน ด้วยเหตุดังกล่าว ความเป็นมาของคนอีสานหรือชาวอีสาน จึงไม่หยุดนิ่งอยู่โดดเดี่ยว แต่ล้วนเกี่ยวข้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความเป็นมาของผู้คนสุวรรณภูมิหรืออุษาคเนย์ ตั้งแต่ยุคดั้งเดิมเริ่มแรกสืบจนทุกวันนี้
เพื่อความกระจ่างและเข้าใจรอยประวัติศาสตร์อีสาน ตามแบบฉบับเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อก้าวไปข้างหน้า “มติชนอคาเดมี” จัดทริปเดินทาง 3 วัน 2 คืน ในชื่อ “บรรพชนคนริมโขง เยือนศิลป์ 4 วัฒนธรรม 2 แผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม 2563 พาลัดเลาะแผ่นดินริมโขงพร้อมฟังเรื่องราวแห่งอีสาน ที่มีทั้งหวานชื่น ขื่นขม ชื่นชม โศกสลด โดยวิทยากรชื่อดังผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว. ประสานมิตร)
(ซ้าย-กลาง-ขวา) สัตตมหาสถานภายในวัดพระธาตุบังพวน
“ศานติ ภักดีคำ” นำชมและบรรยาย ซึ่งอาจารย์ศานติก่อนออกเดินทาง ได้เชิญชวนทำความรู้จักกับบางเสี้ยวบางส่วนของดินแดนที่ราบสูงแห่งนี้ โดยเริ่มจากแหล่งประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจยิ่ง นั่นคือ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาภูพาน ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ภายในอุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ 3,430 ไร่ เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า “ป่าเขือน้ำ” ปรากฏร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ราว 2,000-3,000 ปีมาแล้ว อีกทั้งยังมีการผูกความเชื่อเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านเรื่องท้าวบารส-นางอุสา
ชื่อ “ภูพระบาท” มาจากรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนเทือกเขาหินทรายแห่งนี้ และภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทยังมีเสาหินและเพิงหินขนาดใหญ่กระจายตัวอยู่ทั่วไป เพิงหินเหล่านี้เป็นหินทรายในหมวดหินภูพาน สมัยครีเทเชียส Cretaceous period) ราว 130 ล้านปีมาแล้ว ถูกกระบวนการทางธรรมชาติกัดเซาะหลายล้านปี ทำให้สภาพภูมิประเทศแปรเปลี่ยนเป็นเสาหินและเพิงหินรูปร่างสวยงามแปลกตา ฟังจากปากของอาจารย์ศานติเล่าว่าการเดินทางไปทริปนี้มีความน่าสนใจ และถือเป็นเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจาก “ภูพระบาท” ถือเป็นไฮไลท์ของภาคอีสาน เป็นพื้นที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยอารยธรรม วัฒนธรรมของผู้คนมาตั้งแต่ยุคโบราณ เห็นถึงการทับทับซ้อนของวัฒนธรรมถึง 4 ยุค
“อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ ที่อย่างน้อยมีร่องรอยทางวัฒนธรรม การอาศัยอยู่ของผู้คนชุมชนโบราณมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่นั่นจะพบร่องรอยของภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์อยู่หลายแห่ง ไม่ว่า รอยฝ่ามือแดง รูปคน รูปวัว ซึ่งเป็นภาพที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรม ความเชื่อ ของผู้คนมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นว่าภูพระบาทเป็นพื้นที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนแถบนั้นมาก่อนประวัติศาสตร์แล้วด้วย คือตั้งแต่เมื่อ 3,000 ปีก่อนเป็นอย่างน้อย…”
(ซ้าย-กลาง-ขวา) วัดเทพพลประดิษฐาราม
อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ กล่าวต่ออีกว่าผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นต่อมาได้รับวัฒนธรรมทวารวดี จากภาคกลางของประเทศไทยที่ขึ้นไปสู่อีสานเหนือ ผ่านทางชัยภูมิ ขอนแก่น แล้วข้ามไปถึงบริเวณภูพระบาท ซึ่งตรงนั้นจะเห็นร่องรอยทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของทวารวดีในภาคอีสาน โดยเฉพาะในเรื่องของการรับอิทธิพลทางพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างใบเสมาสมัยทวารวดีโดยแกะสลักเป็นรูปภาพต่างๆ มีการปักอยู่กับที่ด้วย ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของอีสาน ร่องรอยทางวัฒนธรรมเหล่านี้ยังพบอีกที่รอยพระพุทธบาทบัวบาน พระพุทธบาทบัวบก “…ข้อสังเกตุอีกอย่างคือไม่ได้มีเฉพาะวัฒนธรรมทวารวดีเท่านั้น แต่ยังมีวัฒนธรรมเขมรโบราณตามมาอีก แสดงว่าความเป็นชุมชนในอีสานไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ฉะนั้นในลวดลายของใบเสมาก็ดี หรือพระพุทธรูปที่แกะสลักบนเพิงผาในอุทยานแห่งชาติภูพระบาท ก็แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของศิลปะเขมรโบราณด้วย จุดนี้จึงน่าสนใจมาก…”
อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าอีสานไม่ได้หยุดอยู่แค่เขมร จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งคือการเข้ามาของชุมชนยุคหลัง คือ “กลุ่มวัฒนธรรมลาว” ที่เข้ามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 ร่องรอยที่เห็นคือตำนานเรื่องราวที่เกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านเรื่องอุสา-บารส ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับอนิรุทธ์ หรืออนิรุทธ์คำฉันท์ เรื่องพระกฤษณะอวตารมาปราบกุมภัณฑ์ เรื่องราวเหล่านี้กลายมาเป็นนิทานพื้นบ้านของอีสาน ของลาว เมื่อวัฒนธรรมลาวเข้ามาในพื้นที่ก็นำเอาเรื่องเหล่านี้เข้ามาทับซ้อนในพื้นที่ภูพระบาทด้วย เลยทำให้จุดสำคัญในภูพระบาทได้รับการตั้งชื่อตามนิทานพื้นบ้าน ชื่ออุสา-บารสจะไปเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมลาวในยุคหลัง และภูพระบาทนั้นก็เป็นจุดที่แสดงให้เห็นถึงการส่งต่อวัฒนธรรมทวารวดีข้ามแม่น้ำโขงไปยังพื้นที่แถบลาวเวียงจันทน์ เพราะฉะนั้นจึงน่าสนใจ
เรื่องราวของพื้นที่แห่งนี้จะพลาดไปไม่ได้เป็นเรื่องของ “พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช” กษัตริย์องค์สำคัญของลาว ที่ทรงย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาตั้งที่เวียงจันทน์ ซึ่งทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำโขงแถบจังหวัดหนองคายกลายเป็นเมืองสำคัญขึ้นมา โดยกลายเป็นเมืองบริวารของเวียงจันทน์ ฉะนั้น ที่เคยรับรู้ว่าหนองคายเป็นเมืองของไทยนั้น แต่เดิมในอดีตคือเมืองบริวารของเวียงจันทน์ “ดังนั้น ต้องไปดูกัน…”สรุปความสั้นๆ จากอาจารย์ศานติ
เรื่องยังไม่จบแค่นี้ เพราะเมื่อข้ามโขงไปฝั่งเวียงจันทน์ หมุดหมายสำคัญ คือ “พระธาตุหลวงเวียงจันทน์” แต่ก่อนจะถึงพระธาตุหลวง ขึ้นไปตามเส้นทางผ่านภูพระบาทขึ้นไปจะเห็น “อโรคยศาล” จุดสุดท้ายที่บ้านทรายฟองอยู่ทางใต้ของเวียงจันทน์ติดลำนำโขง แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของวัฒนธรรมเขมรโบราณ และยังมีจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในอโรคยศาลด้วย นอกจากพระธาตุหลวงแล้ว ยังไปที่ “หอพระแก้ว” ที่เวียงจันทน์ เพื่อดูพระพุทธรูปที่แกะมาจากความทรงจำพระรูปเหมือนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ดูจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างล้านช้างและอยุธยา และเรื่องราวการอัญเชิญพระแก้วมรกตจากเชียงใหม่สู่ลาว และจากลาวเข้ามาที่กรุงเทพฯ ไปดูจารึกของเจ้าอนุวงษ์ที่วัดสีสะเกดซึ่งเป็นวัดแห่งเดียวที่ไม่ถูกเผาในช่วงสงครามไทย-ลาวที่มีการเผาเวียงจันทน์
“การเดินทางคราวนี้เราจะเห็นเลย ว่าแท้จริงแล้วเมืองบริวารของลาวนั้นอยู่ฝั่งไทย และครึ่งหนึ่งของเมืองเวียงจันทน์นั้นอยู่ที่ฝั่งไทยในปัจจุบัน เพราะเวียงจันทน์โบราณนั้นเป็นเมืองสองฝั่งแม่น้ำโขง มีแม่น้ำโขงไหลผ่ากลางเมือง ฝั่งหนึ่งคือเวียงจันทน์ในปัจจุบัน ส่วนอีกฝั่งนั้นคืออำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งสมัยโบราณเรียก บ้านพานพร้าว เป็นจุดตั้งของกองทัพไทยในสมัยรัชกาลที่ 1 และสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ บ้านพานพร้าวเป็นเมืองอุปราชหรืออุปฮาด(ในภาษาลาว) ของเวียงจันทน์ ดังนั้น ที่บ้านพานพร้าวหรือศรีเชียงใหม่ จะมีโบราณสถานสำคัญ เช่น เจดีย์ปราบเวียง พระธาตุดำ พระธาตุขาว และโบราณสถานสำคัญอื่นๆ…”
จุดสำคัญอีกแห่ง คือ “พระธาตุบังพวน” เป็นพระธาตุที่พระเจ้าไชยเชษฐาโปรดให้สร้างขึ้น มีการจำลอง “สัตตมหาสถาน” เอาไว้ อาจเป็นที่เดียวในอีสานที่มีสัตตมหาสถาน แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงความคิดบางอย่างที่พระเจ้าไชยเชษฐาได้รับอิทธิพลความเชื่อมาจากเชียงใหม่และกลับกลายมาเป็นอารยธรรมลุ่มน้ำโขง พัฒนามาเป็นอีสานในปัจจุบัน