เป็นเรื่องเศร้าใจทีเดียวในการกลับไปพบเจอกับตลาดน้ำดำเนินสะดวก อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เมื่อบ่ายกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ข่าวไวรัสโคโรน่ายังคาราคาซังอยู่กับประเทศไทย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งได้รับผลกระทบอย่างมาก บรรยากาศที่เคยคึกคักกลับกลายเป็นงียบเหงา รายได้จากวันละเป็นหมื่นหดเหลือเพียงไม่พี่พัน บางเจ้าขายได้ไม่ถึงพันบาทต่อวันก็มี ที่เห็นชัดเจนคือจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะที่ “ตลาดน้ำดำเนินสะดวก” หรือ Floating Market แหล่งท่องเที่ยวของไทยที่คนทั่วโลกรู้จัก
บ่ายวันนั้นเพิ่งจะเลยเที่ยงวันมาไม่นาน ผืนน้ำสีเขียวขุ่นมีคลื่นเป็นระลอก เกิดจากไม้พายของพ่อค้าแม่ค้าที่ยังปักหลักขายอาหารและผลไม้ในเรืออยู่ 3-4 เจ้า มีเรือขายก๋วยเตี๋ยว ข้าวเหนียมมะม่วง ผลไม้ เช่น กล้วยหอม กล้วยไข่ ชมพู่และขนุน ยังมีแม่ค้าขนมครกอีกเจ้า เมื่อแลเห็นนักท่องเที่ยวแม้จะไม่กี่คน แต่เขาเหล่านั้นก็ดูมีความหวังว่าจะขายสินค้าของตนได้ เสียงเรียกและกวักมือจึงพัลวัน มีเรือยนต์หางยาวพานักท่องเที่ยวฝรั่ง เกาหลีบ้าง นั่งเรือชมตลาดน้ำยามบ่าย แต่ไม่มาก เพียง 2-4 คนต่อลำ ผิดกับภาพในอดีตที่เคยเห็นฝรั่งนั่งกันเต็มลำเรือ ถือกล้องถ่ายภาพเตรียมกดชัตเตอร์กับภาพตื่นตาตื่นใจสองฝั่งคลอง
ตลาดน้ำดำเนินสะดวกเป็นตลาดเก่าแก่อายุนับร้อยปี ในอดีตถือเป็นศูนย์กลางในการค้าขายพืชผัก ผลไม้ตามฤดูกาลจากเรือกสวนไร่นาของชาวสวนในย่านนั้น แต่ปัจจุบันตลาดน้ำดำเนินสะดวกเป็นกึ่งตลาดบกตลาดน้ำ มีของขายทั้งบนบกและในเรือ เจ้าของที่ที่เป็นเอกชนได้สร้างทางเดินมีหลังคาตลอดสองฝั่งของตลาด ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้เดินเที่ยวชมตลาดได้อย่างสบาย ทั้งหน้าร้อนและหน้าฝน ส่วนข้อเสียคือภูมิทัศน์ไม่สวยงามเหมือนเคย ยิ่งมีป้ายโฆษณาอาหารแผ่นเบ้อเริ่มของร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกมาปิดบังภาพความมีชีวิตชีวาของคลอง ทั้งยังบดบังแสงสว่างกลายเป็นความอึมครึม ก็ยิ่งทำให้ไม่อยากเข้าไปเดินเที่ยว
การเกิดขึ้นของตลาดน้ำแห่งนี้ซึ่งถือเป็นตลาดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย เกิดขึ้นที่จังหวัดราชบุรี ควบคู่กับการเกิดของคลองดําเนินสะดวก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้ขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2409 เพื่อเชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง เพราะเมื่อครั้งก่อตั้งอําเภอดําเนินสะดวก พ.ศ. 2400 พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่ม ชุมชนและบ้านเรือนราษฎรในขณะนั้นอาศัยอยู่ริมแม่น้ำ เพื่อสะดวกในการเดินทางติดต่อกับตัวจังหวัดราชบุรี พื้นที่ส่วนมากเป็นที่รกร้างว่างเปล่าและมีคลองธรรมชาติที่คดเคี้ยวไปมา ในฤดูแล้งไม่มีน้ำ จึงทำให้ราษฏรเดินทางไม่สะดวก รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดําริ ว่าการไปมาระหว่างกรุงเทพฯ ถึงสมุทรสาครก็มีคลองภาษีเจริญ ไปมาสะดวกดีอยู่ จึงควรมีคลองระหว่างกรุงเทพฯ สมุทรสงครามและราชบุรี ให้สะดวกยิ่งขึ้น โดยมีแม่น้ำแม่กลองเป็นสื่อกลาง ดังนั้น ใน พ.ศ. 2409 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) เป็นผู้อำนวยการขุดคลองนี้ โดยใช้กําลังทหาร ข้าราชการ และประชาชนร่วมกันขุด เป็นการใช้กำลังแรงงานของคนล้วนๆ ส่วนมากเป็นคนจีนที่มาอยู่ในเมืองไทยใหม่ๆ เป็นผู้รับจ้างขุด การขุดคลองเริ่มจากจุดริมแม่น้ำท่าจีน ที่คลองบางยาง อําเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเส้นตรงผ่านตำบลโคกไผ่ (ปัจจุบันคือตำบลดอนไผ่) และขุดผ่านเข้ามาในเขตอําเภอปากคลองแพงพวย (อําเภอดําเนินสะดวกเดิม) จนถึงแม่น้ำแม่กลอง ที่ปากคลองบางนกแขวก ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
คลองที่ขุดนี้กว้าง 6 วา (12 เมตร) ลึก 6 ศอก (3 เมตร) ยาว 895 เส้น หรือ 35 กิโลเมตร ทุกๆ 100 เส้น หรือ 4 กิโลเมตร ปักเสาหินไว้ 1 ต้น ทางฝั่งทิศใต้ของคลอง เริ่มจากตําบลสวนส้ม (เดิมชื่อตําบลดําเนินสะดวก) เป็นหลักที่ 0 ถึงหลักที่ 8 ที่แม่น้ำแม่กลอง เมื่อการขุดคลองนี้สําเร็จ จึงนําแผนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าเป็นคลองที่มีเส้นตรง ได้รับความสะดวกในการสัญจร จึงพระราชทานนามคลองที่ขุดใหม่นี้ว่า “คลองดําเนินสะดวก” และทําพิธีเปิดใช้คลองเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2411 และด้วยขนาดและความยาวของคลองที่ขุดและตัดตรงไปในหลายพื้นที่ ทําให้มีเจ้านายผู้ใหญ่หลายคนมาจับจองที่ดินซึ่งเป็นป่ารก ดงอ้อ ดงแขมแล้วขุดคลองน้อย คลองซอยแยกจากคลองใหญ่เข้าสู่ที่ดินของตน และเมื่อการคมนาคมมีความสะดวกสบายมากขึ้น ชาวบ้านจึงพากันอพยพเข้าไปอยู่ในบริเวณคลองที่ขุดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรือกสวนไร่นาเช่นในปัจจุบัน
ตลาดน้ำดําเนินสะดวกได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างมาก ทำให้บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมคลองพากันเปิดร้านขายของพื้นเมือง ของที่ระลึก และร้านอาหาร ส่วนพืชผลทางเกษตรจะมีบรรดาพ่อค้าแม่ค้าชาวเรือนำกล้วย ฝรั่ง ชมพู่ มะละกอ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน องุ่น กล้วย ละมุด ฯลฯ บรรทุกเรือพายมาขายในตลาดน้ำ ส่วนใหญ่เป็นผลิตผลจากท้องถิ่นแทบทั้งสิ้น ที่ขึ้นชื่อที่สุดเห็นจะเป็น “มะม่วงอกร่องดำเนินสะดวก” ที่มีรสหวานหอมโดยเฉพาะ เมื่อรับประทานกับข้าวเหนียวมูลสูตรของชาวบ้านที่นี่ก็จะยิ่งเข้ากัน ช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 จนถึง พ.ศ. 2525 นับเป็นช่วงที่ตลาดน้ำแห่งนี้เฟื่องฟูมากที่สุด แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ผลไม้ต้นเก่าค่อยๆ ตาย เมื่อปลูกซ่อมแซมใหม่ รสชาติไม่เหมือนเดิม ไม่เพียงต้นมะม่วงเท่านั้น แม้แต่ผลไม้ชนิดอื่น เช่น ฝรั่ง ชมพู่ มะกอก พุทราพันธุ์เดิมของดําเนินสะดวก ก็กําลังจะหายไป
จุดเปลี่ยนสําคัญที่เข้ามามีผลกระทบต่อตลาดน้ำดําเนินสะดวก คือเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบก พ่อค้าแม่ค้าที่ชื้อขายสินค้ากันที่คลองค่อยๆ เสื่อมคลายไป ประกอบกับมีตลาดน้ำแห่งใหม่เกิดขึ้นหลายแห่ง อดีตที่ยาวนานเริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งขุดคลองดําเนินสะดวกเสร็จใหม่ๆ ในปี พ.ศ. 2409 ก็มีอันต้องสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2527 นับรวมอายุได้ 118 ปี