ททท.จัด ‘อยุธยา’ มิติใหม่ ชวน Silver age เที่ยววัดใกล้กรุง สะสมแต้มบุญอิ่มใจ

Travel ท่องเที่ยว

ช่วงต้นปีที่ผ่านมาวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนในประเทศไทย การเดินทางท่องเที่ยวเองก็เป็นหนึ่งในส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แม้ว่ากลางปีนี้เมื่อมีการร่วมมือของทุกฝ่ายในการป้องกันอย่างเข้มงวดทำให้สภาวการณ์เริ่มดีขึ้นบ้าง ซึ่งทำให้ภาคการท่องเที่ยวมีการตื่นตัว ประกอบกับนโยบายผลักดันจากภาครัฐทำให้เริ่มมีการเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง และเพื่อเป็นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยกว้างอีกช่องทางหนึ่ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงมีเร่งดำเนินการแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในทุกมิติ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเยียวยาสภาพเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวในเร็ววัน

แผนหนึ่งของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็คือเร่งผลักดันจัดโครงการ “เที่ยววัดใกล้กรุง สะสมแต้มบุญอิ่มใจ” โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเชิญชวนนักท่องเที่ยวคนไทย ออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายให้เกิดขึ้น มุ่งเน้นไปที่วัดโบราณในตำนานและพระพุทธรูปที่มีประวัติความเป็นมาแต่ครั้งอดีต รวมทั้งที่มีความสวยงามและยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวมากนัก

ทั้งยังเน้นถึงการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมในภูมิภาคภาคกลาง ซึ่งเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์

กลิ่นอายของตำนาน มีวัดวาอารามที่สวยงามมากมาย ทั้งของดั้งเดิมมาแต่โบราณ และวัดที่ถูกสร้างใหม่หรือมีขนาดใหญ่โต โดยจะเป็นจุดหมายปลายทางใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่น่าไปเยี่ยมชมอย่างยิ่ง สำหรับการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้จะช่วยส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว รวมทั้งก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ โดยโครงการเที่ยววัดใกล้กรุง สะสมแต้มบุญอิ่มใจนี้ จะมีด้วยกัน 10 เส้นทาง ดังนี้ เส้นทางพระนครศรีอยุธยา, กาญจนบุรี, ลพบุรี, สิงห์บุรี, สระบุรี, ชัยนาท, อ่างทอง, สมุทรสงคราม, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

ศุกร์ที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา เป็นการเริ่มต้นสตาร์ตโครงการ โดยจัดเส้นทางทริปทดลอง “จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ขึ้น ก่อนจะมีการนำเส้นทางนี้ไปขายแก่ลูกค้าจริง โดยมีสื่อมวลชนตลอดจนดาราและเซเลบร่วมเดินทางไปด้วย สร้างความน่าสนใจให้แก่การท่องเที่ยวไม่เบาเลยทีเดียว

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในแง่ของการท่องเที่ยวแล้วไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นอดีตราชธานีเก่าแก่ที่แฝงไปด้วยมนต์เสน่ห์ของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในอิฐแทบทุกก้อน อีกทั้งยังเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้น “อยุธยา” จึงดึงดูดผู้คนให้มาเยี่ยมเยือนได้อย่างไม่ขาดสายในทุกยุคสมัย จนเกิดคำพูดที่ว่า “ไปอยุธยา 100 ครั้งก็ยังไม่ซ้ำแบบเดิมๆ” หมายความว่าหากใครไปเที่ยวอยุธยา 100 ครั้ง คนคนนั้นก็จะได้เรื่องราวใหม่ๆ กลับมาทุกครั้งไม่ซ้ำกันเลย โครงการเที่ยววัดใกล้กรุง สะสมแต้มบุญอิ่มใจจึงเป็น “มิติใหม่” อีกหนึ่งการเดินทางไปเที่ยวพระนครศรีอยุธยา

วัดนิเวศธรรมประวัติงดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบโกธิค

จุดแรกที่กลุ่มทดลองโครงการไปเยือนคือ “วัดนิเวศธรรมประวัติ” วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามของพระราชวังบางปะอิน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดฯให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2419 เพื่อทรงใช้เป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศลเมื่อเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับยังพระราชวังแห่งนี้ จุดเด่นที่สุดของวัดนี้คือพระอุโบสถของวัดที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบโกธิคทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลีชื่อ โยอาคิม กราซี (Joachim Grassi) โดยมีพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้ใช้สถาปัตยกรรมแบบโบสถ์ฝรั่งว่า…

“ซึ่งทรงพระราชดำริให้สร้างโดยแบบอย่างเปนของชาวต่างประเทศ ดังนี้ ใช่จะมีพระราชหฤไทยเลื่อมไสนับถือสาสนาอื่นนอกจากพุทธสาสนั้นหามิได้ พระราชดำริในพระราชประสงค์ จะทรงบูชาพระพุทธสาสนาด้วยของแปลกประหลาดแลเพื่อจะให้อาณาประชาราษฎรทั้งปวงชมเล่นเปนของประหลาด ไม่เคยมีในพระอารามอื่น แลเปนของมั่นคงถาวร ภอสมควร เปนพระอารามในหัวเมือง..”

เมื่อเข้าไปด้านในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระพุทธนฤมลธรรโมภาส” พระพุทธรูปประธานที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการเป็นผู้ออกแบบ ปั้นหุ่น และหล่อขึ้นใน พ.ศ.2420 ถือเป็นผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของพระองค์ท่าน โดยพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปแบบกึ่งสมจริง ที่พระเศียรไม่มีอุษณีษะและจีวรมีริ้วยับย่นอย่างสมจริง

ขนาบสองฝั่งด้วยพระอัครสาวก “พระสารีบุตร” และ “พระโมคคัลลานะ” สำหรับไฮไลต์ของพระอุโบสถหลังนี้ยังมีกระจกสีที่ทำเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ หรือภาพเหมือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ฉลองพระองค์ครุยประทับนั่งบนบัลลังก์ โดยด้านล่างมีจารึกระบุว่า “Chulaloncorn Rex Siamensis” แปลว่า “จุฬาลงกรณ์ กษัตริย์สยาม” หากไปเยือนวัดแห่งนี้ห้ามพลาดความงามของพระอุโบสถอย่างเด็ดขาด

จากพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติเดินทางต่อไปยัง “วัดหน้าพระเมรุราชิการามวรวิหาร” หรือ “วัดหน้าพระเมรุ” ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองสระบัว ทางด้านเหนือของคูเมือง (แม่น้ำลพบุรีเก่า) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวงของอยุธยา หรืออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยานั่นเอง วัดแห่งนี้ถึงแม้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด แต่ก็มีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญถึง 2 ครั้งด้วยกัน หนึ่ง-เป็นสถานที่ตั้งพลับพลาสำหรับเป็นที่เสด็จมาทรงทำสัญญาสงบศึก ระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและพระเจ้าบุเรงนอง ในคราวสงครามช้างเผือก บริเวณระหว่างวัดแห่งนี้กับวัดหัสดาวาส สอง-เป็นจุดตั้งทัพหลวงของกองทัพพระเจ้าอลองพญานั่นเอง ที่สำคัญคือวัดแห่งนี้เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกกองทัพพม่าทำลาย จึงยังคงสภาพที่งดงาม และถือเป็นแหล่งเรียนรู้งานศิลปกรรมสมัยอยุธยาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง

ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ” พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ขนาดใหญ่ที่สุดในศิลปะอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ตามคติความเชื่อในพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าทรงทรมานพญามหาชมพู ซึ่งในเชิงงานช่างแล้วมีการสันนิษฐานว่าคงพัฒนามาจากการทำพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยในสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยมีลักษณะอันโดดเด่นคือการทรงเครื่องต้นอย่างพระจักรพรรดิราช อันประกอบด้วย พระมหามงกุฎ กุณฑล กรองศอ สังวาลขนาดใหญ่ไขว้กันระหว่างพระอุระ ทั้งยังทรงพาหุรัด ทองพระกร และทองพระบาท

ด้านข้างพระอุโบสถยังมี พระวิหารเขียน หรือวิหารน้อย ซึ่งประดิษฐาน “พระคันธารราฐ” พระพุทธรูปศิลาเขียว ศิลปะทวารวดี ประทับนั่งห้อยพระบาท แต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้เคยประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ ในเกาะเมืองอยุธยามาก่อน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯให้ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยาในขณะนั้น เป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ จึงได้ขุดพบพระพุทธรูปองค์นี้ แล้วมีการเคลื่อนย้ายอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุมาจนถึงปัจจุบัน นอกเหนือจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ที่ได้เรียนรู้กันแล้ว สิ่งที่ต้องไปชมให้ได้คือความงดงามของพระทรงเครื่อง พระพุทธนิมิตวิชิตมารฯ และพระคันธารราฐ ศิลปะทวารวดี

วัดหน้าพระเมรุราชิการามวรวิหาร

หลังจากได้รับความรู้ทางประวัติศาสตร์กันแล้ว ก็ได้เวลาล่องเรือชมความงามของสองฝั่งเเม่น้ำน้อย ซึ่งแม่น้ำสายนี้เป็นลำน้ำสาขาแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำสายเล็กๆ ที่เงียบสงบ แต่มากล้นด้วยมนต์เสน่ห์ของวิถีไทย ไหลผ่านอำเภอบางระจัน, อำเภอค่ายบางระจัน และอำเภอท่าช้าง จ.สิงห์บุรี ไหลผ่านอ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา แล้วไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งที่พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นเส้นทางแห่งวิถีชีวิตและการคมนาคมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากในอดีตนั้นการเดินทางด้วยเรือเป็นหัวใจที่สำคัญไม่แพ้การใช้รถใช้ถนนในปัจจุบัน ตลอดสองฝั่งของแม่น้ำน้อยรายล้อมไปด้วยธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชาวบ้าน ที่ต่างยังคงผูกพันกับแม่น้ำสายนี้ทั้งในการอุปโภคและกสิกรรม

แม่น้ำน้อยอันเงียบสงบเปี่ยมด้วยเสน่ห์วิถีไทย
กลุ่มsilver ages ชวนเที่ยวสะสมแต้มบุญ

เรือมาตามเส้นทางแม่น้ำน้อยกระทั่งมาจอดที่ “วัดบางนมโค” เป็นวัดราษฎร์ที่เก่าแก่มีอายุมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในอดีต พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนนฺโท) ที่รู้จักกันในนาม “หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค” พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของเมืองไทย และเป็นที่เคารพนับถือของคนในเขตอำเภอเสนาและใกล้เคียง เพราะท่านได้ช่วยเหลือชาวบ้านในด้านการรักษาอาการป่วยไข้ต่างๆ จนชาวบ้านขนานนามท่านว่า “พระหมอหลวงพ่อปาน” พระเครื่องของท่านยังเป็นต้นตำรับพระเครื่องดินเผาที่ปัจจุบันมีราคาสูงมาก ทั้งยังหายากและเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสม

พระเครื่อง รวมทั้งผ้ายันต์เกราะเพชรและพระคาถาปัจเจกโพธิสัตว์คนทั้งหลายต่างแสวงหามาครอบครอง คณะทั้งหมดร่วมกันทำบุญปิดทองไหว้พระ เพื่อสะสมแต้มบุญอีกครั้งด้วยความอิ่มเอมใจ

พระนครศรีอยุธยาอาจจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวในดวงใจของใครหลายๆ คน ททท.จึงนับเป็น 1 ใน 10 ของเส้นทางในโครงการยลวัดใกล้กรุง สะสมแต้มบุญอิ่มใจ เพื่อสร้างมิติใหม่ทางการท่องเที่ยวโดยใช้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้นๆ สอดคล้องกับนิสัยใจคอของคนไทยที่ใจบุญสุนทานชื่นชอบการทำบุญ การท่องเที่ยวลักษณะนี้จึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของ ททท.เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้

จะอย่างไรก็แล้วแต่ เราท่านทั้งหลายก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พระนครศรีอยุธยา” ไปเที่ยวเมื่อไหร่ก็ไม่เคยเบื่อเลย!!

ที่มา : มติชนออนไลน์